ปริศนาโบราณคดี : พระเจ้าเปิดโลก แหวกนรกว่ายสวรรค์

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดีตอนที่ 48 (ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2554)
พระเจ้าเปิดโลก แหวกนรกว่ายสวรรค์

ปริศนาโบราณคดีฉบับนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเขียนเรื่องอะไรที่เปิดๆ บ้าง เพื่อให้เข้ากับเทศกาลออกพรรษาตักบาตรเทโวซึ่ง จึงอยากนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ “พระเจ้าเปิดโลก”ให้เผอิญว่าเหตุการณ์ของพระพุทธเจ้าตอนเปิดโลกนั้น อยู่ตรงกลางระหว่างสองเหตุการณ์สำคัญพอดี คือก่อนเปิดโลกต้องเสด็จไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และหลังจากเปิดโลกก็คือการเสด็จกลับสู่มนุษยภูมิ บทความชิ้นนี้จึงจำเป็นต้องกล่าวถึงทั้งสามเหตุการณ์พ่วงตามไปด้วยชนิดแยกกันไม่ออก
พระพุทธมารดาอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต


เหตุไฉนจึงเสด็จไปโปรดชั้นดาวดึงส์
เป็นธรรมเนียมของพระพุทธมารดาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่ภายหลังจากให้กำเนิดมหาบุรุษแล้ว มักเสด็จสู่สวรรคาลัยภายใน 7 วัน ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะทรงอธิษฐานจิตมาเพื่อทำหน้าที่ฟูมฟักครรโภทรนี้เป็นการเฉพาะ แม้ดูเหมือนจะสิ้นอายุขัยก่อนวัยอันควร ยังมิทันได้ลิ้มพระธรรมรสจากพระราชบุตรเหมือนใครๆ หากแต่บุพกรรมก็หนุนเนื่องให้พระนางสิริมหามายาจุติเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดุสิต เฝ้ารอวันที่ทารกน้อยเติบใหญ่ได้บรรลุสัมโพธิญาณแล้วจักได้ขึ้นมาเทศนาโปรดเสด็จแม่
การณ์ก็เป็นไปตามนั้น เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ธรรมได้ในพรรษาที่ 7 ด้วยพระชนมายุ 42 หลังจากที่ทรงเทศนาโปรดสัตว์โลกมาหลายหมู่เหล่า ทรงรำพึงถึงการทดแทนคุณต่อพุทธมารดาที่พระองค์ทรงทราบโดยญาณว่ากำลังบำเพ็ญเพียรอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต อันเป็นสวรรค์ชั้นที่ 4 ในบรรดาสวรรค์ทั้งหมด 6 ชั้น โดยนับเรียงจากชั้นแรกสุดคือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี
แล้วไยพระพุทธองค์จึงไม่ทรงเสด็จขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นดุสิตโดยตรงเลยเล่า ไฉนจึงต้องอัญเชิญให้สิริมหามายาเทวบุตรเสด็จลงมาพบกันครึ่งทางที่สวรรค์ชั้นที่ 2 คือดาวดึงส์ เรื่องนี้มีมูลเหตุอยู่ว่า
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นเป็นที่ตั้งของเขาพระสุเมรุ ที่ชื่อว่า ดาวดึงส์ หรือ ตาวติงสาภูมิ เพราะเป็นที่อยู่ของเทพผู้ปกครองภพถึง 33 องค์ โดยมีสมเด็จอมรินทราธิราช (พระอินทร์ หรือท้าวสักกเทวราช) เป็นประธาน และที่สำคัญมีพระธาตุเจดีย์จุฬามณีประดิษฐานอยู่ ซึ่งทุกวันเหล่าเทวดานางฟ้าจะมาประชุมกันที่สุธรรมาเทวสภาเพื่อรับฟังโอวาทจากท้าวสักกะ กล่าวให้ง่ายก็คือ สวรรค์ชั้นนี้มีบรรยากาศแห่งการกระหายใฝ่รู้พระธรรมที่ค่อนข้างคึกคักมากเป็นพิเศษ
และหากพระพุทธองค์เสด็จไปเทศนาธรรมบนสวรรค์ชั้นสูงๆ ขึ้นไปกว่านี้ เทวดาในชั้นต้นๆ ก็ไม่สามารถตามขึ้นไปฟังธรรมได้ เนื่องจากสู้แสงจากรัศมีกายและทิพยสมบัติของเทวดาชั้นที่เหนือกว่าไม่ได้ สะท้อนให้เห็นว่าพระพุทธเจ้ามิได้ทรงคำนึงถึงแต่เพียงการโปรดเทศนาแด่พระพุทธมารดาเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น หากแต่ยังทรงมีเมตตาเผื่อแผ่ถึงอินทร์พรหมยมยักษ์นักสิทธิ์ฤๅษีคนธรรพณ์อีกด้วย
เมื่อเสด็จมาถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่โคนต้นปาริฉัตร (บ้างก็ว่าปริชาติ-ปาริกชาติ บ้างว่าหมายถึงต้นทองหลาง) บนแท่นแผ่นหินที่ปูลาดด้วยผ้ากัมพลสีแดง เรียกว่า ‘บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์’ ท้าวสักกเทวราช จึงเสด็จไปตามพระสิริมหามายาเทวบุตร ณ ดุสิตพิภพ เพื่อให้มาฟังธรรมของพระพุทธองค์


เมื่อสมเด็จพระชินสีห์ได้พบพระพุทธมารดา พลางดำริว่า “พระคุณแห่งมารดาที่ทำไว้แก่ตถาคตนี้ยิ่งใหญ่นัก สุดที่จะคณานับได้ว่า กว้างหนาและลึกซึ้งปานไหน มีธรรมอันใดเล่าที่ควรค่าแก่การทดแทนพระคุณได้ พระวินัยปิฎก และพระสุตตันตปิฎกก็ยังน้อยนัก มิเท่าคุณแห่งพระมารดา เห็นควรแต่พระอภิธรรมปิฎกเท่านั้นที่จะพอยกขึ้นชั่งน้ำหนักเท่ากันได้”ดำริดังนี้แล้ว ทรงกระทำการตรัสอภิธรรมปิฎก 7 คัมภีร์ ให้สมควรแก่ปัญญาบารมี มีสังคณี วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก และมหาปัฏฐาน
สรุปแล้วสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาตลอดพรรษากาล เมื่อธรรมเทศนาจบลง องค์พระสิริมหามายาเทวบุตร พลันได้ดวงตาเห็นธรรม ทรงบรรลุโสดาปัตติผลในที่สุด ส่วนเทวดานางฟ้าอีกจำนวนมาก ก็ได้บรรลุมรรคผลตามสมควรแก่อุปนิสัยแห่งตน

พระเจ้าปางเปิดโลก แหวกนรกว่ายสวรรค์
เมื่อครบกำหนด 3 เดือน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาโปรดพุทธมารดา ก็ถึงเวลาออกพรรษา จึงลาพุทธมารดาเพื่อเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เหตุการณ์ตอนนี้พระพุทธองค์ทรงกระทำ “โลกวิวรณปาฏิหาริย์”
ในทางประติมานวิทยา พระเจ้าปางเปิดโลกแสดงออกด้วยพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืนบนดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า บางครั้งพระหัตถ์สองข้างกรีดนิ้วในท่าคล้ายจับจีบจีวร อันเป็นกิริยาของการแหวกนรก-ว่ายสวรรค์
ในงานพุทธศิลป์ยุคโบราณนั้น ไม่พบว่ามีการทำพระพุทธรูปปางนี้ในประเทศอินเดียนับแต่สมัยคันธารราษฎร์จนถึงปาละ หรือแม้แต่ยุคทวารวดี ศรีวิชัย หริภุญไชย ลพบุรี ก็แทบไม่พบ แต่กลับได้รับความนิยมอย่างสูงมากในงานพุทธศิลป์ของประเทศพม่าช่วงปลายอาณาจักรพุกามราวพุทธศตวรรษที่ 17 และต่อมาได้ส่งอิทธิพลให้แก่ศิลปกรรมสมัยสุโขทัย ล้านนา
ผิดกับความนิยมในการทำพระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ที่มีคติการทำมาแล้วตั้งแต่ยุคโบราณของอินเดียรวมทั้งทวารวดี และจัดเป็นปางสำคัญที่สุดหนึ่งในแปดปางสากลของการนำพุทธประวัติไปถ่ายถอดในเชิงประติมานวิทยา


ก่อนเปิดโลกพระศาสดาประทับยืนอยู่บนยอดเขาสิเนรุ ทรงทอดพระเนตรแลดูภพภูมิข้างบนตลอดจนถึงพรหมโลกแล้ว ก็ทรงเพ่งพินิจแลดูภูมิข้างล่างจนถึงก้นบึ้งอเวจี จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีไปทั่วปริมณฑล ๓๖ โยชน์นับแต่ เทวโลก ยมโลก และมนุษยโลก ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์ทรงบันดาลให้สรรพสัตว์มองเห็นซึ่งกันและกัน คือชาวมนุษย์มองเห็นชาวสวรรค์และสัตว์นรก ชาวสวรรค์มองเห็นชาวมนุษย์และสัตว์นรก
แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานที่กำลังแหวกว่ายเพลิงเถ้าอยู่ในกระทะทองแดง หรือคนตาบอด-หากแม้นใจยังไม่มืดบอดสนิทก็ย่อมจักได้รับเห็นแสงแห่งพระพุทธองค์ ส่งผลให้สรรพสัตว์เหล่านั้นต่างก็ปรารถนาพุทธภูมิด้วยกันทั้งสิ้น

หลังโลกวิวรณ์ ก็เสด็จลงจากดาวดึงส์
หลังจากกระทำการเปิดโลกแล้ว เพื่อให้งานประติมานวิทยามีความสมบูรณ์แบบ ช่างโบราณมักทำพระพุทธรูปอีกปางหนึ่ง เรียกปางเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 โดยท้าวโกสีย์แห่งเทวโลกได้เนรมิตซึ่งบันไดทิพย์ทั้ง 3 คือบันไดทองคำ บันไดเงิน และบันไดแก้วมณี เชิงบันไดเหล่านั้นทอดลงไปยังประตูสังกัสสนคร หัวบันไดนั้นตั้งอยู่ที่ยอดเขาสิเนรุ บันไดทองจัดตั้งเบื้องขวาสำหรับเหล่าเทวดา ส่วนบันไดเงินอยู่เบื้องซ้ายเพื่อมหาพรหมทั้งหลาย และบันไดแก้วมณีได้มีในท่ามกลาง สำหรับองค์พระตถาคต
ด้วยเหตุนี้พระเจ้าเปิดโลก ณ วัดพระยืน ต.เวียงยอง อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นการจำลองศิลปะพม่าจากยุคพุกาม เช่น อานันทเจดีย์ มาสร้างนั้น จึงได้ทำบันไดแก้วทอดยาวเชื่อมลานประทักษิณชั้นบนลงมาสู่เบื้องล่าง หมายถึงหลังจากเปิดโลกแล้วพระศาสดาก็เสด็จลงจากดาวดึงส์พร้อมด้วยบริวาร และหยุดประทับอยู่ที่ประตูสังกัสสนคร
การทำพระเจ้าเปิดโลกสี่องค์ในซุ้มจระนำของเจดีย์ทั้งสี่ทิศที่วัดพระยืนนี้ มีการระบุชัดในโคลงนิราศหริภุญไชยว่าหมายถึง การเปิดโลกของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ในภัทรกัปนี้ ได้แก่ กกุสันโธ โคนาคม มหากัสสปะ และโคตมะ ส่วนพระศรีอาริยเมตไตรย์นั้นเป็นพระอนาคตพุทธเจ้าที่ยังไม่มาบังเกิด จึงยังมิอาจสร้างในท่าเปิดโลกได้ ในทางประติมานวิทยาจึงทำสัญลักษณ์เป็นรูปสถูป ณ ยอดบนสุด อันเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่นิยมอย่างมากในพม่าและภาคเหนือของไทย


อนึ่ง ตอนที่เขียนบทความเรื่องพระปิดตาควัมปตินั้น ได้อธิบายเรื่องพระเจ้าทั้งห้าว่า ชาวมอญโบราณในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 นั้นมีความเชื่อตามพุทธศาสนานิกายมูลสรวาสติวาสว่า พระกกุสันโธเกิดจากแม่ไก่ พระโคนาคมเกิดจากแม่โค พระมหากัสสปะเกิดจากแม่เต่า พระโคตมะเกิดจากแม่สิงห์ และพระเมตไตรยะเกิดจากแม่นาคนั้น ได้มีผู้ทักท้วงไถ่ถามดิฉันว่าทำไมจึงไม่เหมือนกันกับตำนานของคนไทย
กล่าวคือของไทยนั้นกกุสันโธ กับมหากัสสปะเกิดจากแม่ไก่และแม่เต่าถูกต้องแล้ว แต่โคนาคมเกิดจากแม่นาค โคตมะเกิดจากแม่โค และเมตไตรยะเกิดจากแม่สิงห์ จึงขอเรียนชี้แจงมา ณ ที่นี้ว่าเรื่องพระเจ้าทั้งห้าในเวอร์ชั่นมอญโบราณนั้นมีความเก่าแก่มาก การผูกเรื่องให้พระเมตไตรยะเกิดจากไข่นาคเหตุเพราะต้องการเชื่อมโยงกับพระควัมปติที่มีร่างอ้วนเป็นรูปไข่นาคเช่นกัน จึงได้มีการสลับสัตว์สามชนิดที่เป็นมารดาของพระโพธิสัตว์เพื่อให้สอดรับกับความเชื่อพื้นถิ่นของชนชาติตน
อ้าว! ฉบับนี้ตั้งใจจะเขียนเรื่อง “เปิด”ๆ ไปๆ มาๆ ก็ต้องมาจบลงด้วยเรื่อง “ปิด”ๆ เข้าอีกจนได้