ท่านหญิงวิภาฯ ในความทรงจำของ พล.ต.อ.วสิษฐ ผู้ถวายงานในหลวงและแผ่นดิน จนวาระสุดท้าย

พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตนายตำรวจราชสำนักประจำ และเป็นผู้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไว้วางพระราชหฤทัย จนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ ก่อนที่จะออกมาดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ

เขียนไว้ในหนังสือ “รอยพระยุคลบาท บันทึกความทรงจำของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร” ถึงเรื่องราวของ “หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต” (พระยศในขณะนั้น ต่อมาหลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว ทรงพระกรุณาสถาปนา เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต) ในหนังสือเล่มนี้ พล.ต.อ.วสิษฐ ใช้ถ้อยคำเรียกว่า “ท่านหญิงวิภาฯ” ซึ่งได้มีโอกาสตามเสด็จถวายความปลอดภัยแด่ท่านหญิงวิภาฯ ด้วย

ตอนหนึ่ง พล.ต.อ.วสิษฐ เล่าว่า ในเช้าวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2520 ขณะที่เสด็จไปทรงเยี่ยมประชาชนและเจ้าหน้าที่ดังที่ได้ทรงปฏิบัติมาเป็นเวลาแรมปี และเฮลิคอปเตอร์ของกรมตำรวจที่ประทับกำลังบินอยู่ในเขตอำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่ได้รับรายงานว่า ข้างล่างมีการปะทะต่อสู้กันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ก่อการร้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนสองนายต้องกับระเบิดได้รับบาดเจ็บสาหัส

ขณะนั้นในเครื่องบินนอกจากผู้ตามเสด็จอื่นๆ แล้ว ก็มีพระมหาวีระและครูบาธรรมไชยโดยเสด็จอยู่ด้วย ท่านหญิงจึงรับสั่งให้นักบินนำพระภิกษุทั้งสองรูปไปส่งและให้คอยอยู่ที่วัดบ้านส้อง ส่วนพระองค์เองเสด็จไปกับเฮลิคอปเตอร์เพื่อรับผู้ได้รับบาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาล

ขณะที่กำลังร่อนลงนั้นเอง ผู้ก่อการร้ายได้ระดมยิงเครื่องบินอย่างหนาแน่น กระสุนปืนทะลุเฮลิคอปเตอร์เข้าไป นัดหนึ่งถูกท่านหญิงเป็นแผลฉกรรจ์ เฮลิคอปเตอร์ชำรุด บินต่อไปไม่ได้ นักบินต้องนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินที่สนามหน้าโรงเรียนวัดบ้านส้อง

ระหว่างทางขณะที่เฮลิคอปเตอร์อีกเครื่องหนึ่งกำลังเชิญเสด็จท่านหญิงไปยังโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีนั้นเอง ท่านหญิงก็สิ้นพระชนม์

ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ก่อนสิ้นพระชนม์ ท่านหญิงทรงมีพระสติ ตรัสขอให้พระมหาวีระและครูบาธรรมไชยกราบถวายบังคมลาพระเจ้าอยูาหัวแทน ทรง “ขอพระนิพพาน” และตรัสเป็นประโยคสุดท้ายว่า ทรงเห็นนิพพานแล้ว พระนิพพานที่ท่านหญิงทอดพระเนตรเห็นนั้น สวย งดงาม และ “แจ่มใสเหลือเกิน”

แล้วเมืองไทยก็สิ้นเจ้านายพระราชวงศ์จักรีที่ทรงรักคนไทยและเมืองไทยยิ่งกว่าพระองค์เองไปอีกองค์หนึ่ง

ขณะที่ท่านหญิงต้องกระสุนปืนสิ้นพระชนม์นั้น ผมกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ที่เชียงใหม่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทูลกระหม่อมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จไปทรงรับพระศพของท่านหญิงที่ท่าอากาศยาน ในตอนเย็นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 อันเป็นวันสิ้นพระชนม์นั่นเอง ผมได้ตามเสด็จทูลกระหม่อมไปด้วย

รุ่งขึ้น วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2520 พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ จึงเสด็จนจากเชียงใหม่กลับไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อทรงบำเพ็ญ พระราชกุศลพระราชทานพระศพท่านผู้หญิงที่พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร

วันนั้นผมได้มีโอกาสเห็นท่านหญิงเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเข้าไปถวายน้ำสรงพระศพก่อนหน้านั้นเคยเห็นความตายมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่น้อยครั้งที่ผมเสียน้ำตาให้แก่ผู้ตาย วันนั้นผมกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ และต้องร้องไห้ออกมาทั้งๆที่รู้ว่ากำลังอยู่หน้าที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ

พวงมาลาดอกไม้สดของพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงวางไว้หน้าพระศพของท่านหญิงนั้น มีข้อความตอนหนึ่ง จากเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” จารึกไว้ดังนี้

“จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด
จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง
จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง
จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา”

ส่วนพวงมาลาพระราชทานของสมเด็จฯ มีคำไว้อาลัยปรากฏดังนี้

“ทิวาวารผ่านมาเยือนหล้าโลก
พร้อมความโศกสลดให้ฤทัยหาย
อริราชพิฆาตร่างท่านวางวาย
แสนเสียดายชีพกล้าวิภาวดี”

งานพระราชทานเพลิงพระศพท่านหญิงมีขึ้น ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2520

ในวันนั้นได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาท่านผู้หญิงเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต และ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่1 ประถมาภรณ์ช้างเผือกแก่ท่านหญิงด้วย