รู้จัก ชาญวิทย์ ผ่าน “คำนำ” และคำเล่า ของ “ภิญโญ-นิ้วกลม-คำผกา และ ไอดา” โดยพลัน!

ที่บ้านจิม ทอมป์สัน ซอยเกษมศานต์ 2 มีการจัดกิจกรรม เปิดตัวหนังสือ “คำนำ” (“Kamnam: Forewords and Afterwords”) ของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ โดยเป็นการรวมงานเขียน “คำนำ” ให้แก่นักวิชาการจากไทยและอุษาคเนย์ตั้งแต่ ปี 2510-2558

img_0477

กล่าวเปิดงาน โดย ศ.เกียรติคุณ เพชรี สุมิตร ราชบัณฑิต ซึ่งกล่าวถึงงานเขียนของ ดร.ชาญวิทย์ ว่ามีคุณภาพคับแก้ว สไตล์การเขียนหนังสือภาษาไทยของ อ.ชาญวิทย์ สามารถอ่านรู้เรื่องได้โดยไม่ต้องตีลังกาอ่าน นับเป็นผลงานยอดเยี่ยมอีกเล่มหนึ่ง

จากนั้นมีการเสวนา เกี่ยวกับหนังสือ โดยมีวิทยากรได้แก่ คุณคำ ผกา คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา คุณนิ้วกลม คุณไอดา อรุณวงศ์ พิธีกร โดย อาจารย์อัครพงษ์ ค่ำคูณ และ คุณเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี

คุณเจนวิทย์ ได้เชื้อเชิญให้ วิทยากร กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รู้จักกับ อ.ชาญวิทย์ โดยโยนคำถามในวงเสวนา ว่า “ทุกท่านได้ยินชื่อชาญวิทย์ ครั้งแรกเมื่อไหร่”

img_0476

ไอดา – ตอบว่า ได้รู้จักครั้งแรก จากหนังสือเมื่อ 20 ปีมาแล้ว คือเมื่อครั้งเป็นนักศึกษา ได้อ่านงาน เรื่อง โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล

นิ้วกลม – น่าจะสมัยเรียนตอนอ่าน โจนาธาน นิตยสารสารคดี เรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องหกตุลา

คำ ผกา – ครั้งแรก ผ่านงาน วรรณะอำ ผ่านงานไพบูลย์ วงษ์เทศ ใช้ชื่อเรียกว่า ชาญวิทย์ เกษตรกะปิ พอเข้ามหาวิทยาลัย ก็รู้ว่าเป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์ เริ่มต้นอ่านงาน โจนาธาน ก่อน จนถึงวันนี้ยังไม่เข้าใจ (ฮา) และนั่นเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักอาจารย์ชาญวิทย์

ภิญโญ – เวลาจะเอาตัวรอด จากการไปพูดเรื่องหนังสือต้องไปอ่านคำนำ แล้ว ไปอ่านคำตาม พอจะเอาตัวรอดจากการพูดได้ “นวลคำนำ” ของคุณไอดา ที่เขียนในเล่มนี้ ทิ้งทายว่า เราสองคน บังเอิญมีเพื่อนร่วมกัน คือ เบเนดิก แอนเดอร์สัน

จะเห็นว่า ตัวละคร และ ฉากในประเทศนี้มันไม่เปลี่ยนไปเลย อาจารย์สมศักดิ์ เจียมฯ ก็เป็นหนึ่งในตัวละคร ใคร active ในเฟซบุ๊กมากกว่ากัน ต้องไปดู ซึ่งไม่ต่างกัน 40 ปีผ่านไป ตัวละครที่อยู่ในคำนำของบ้านนี้เมืองนี้ก็ยังวนเวียน คำถามคือ อะไรเป็นเนื้อหาที่แท้จริงของประเทศนี้ ตัวละครสามสี่ตัววนเวียนอยู่กับเรามานานแล้ว เนื้อหามันคืออะไร ตัวละครต่อไป บทเปลี่ยนแปลงคืออะไร แล้วผมจะต้องอ่านคำนำของตัวละครแบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่

เราต้องการอ่านหนังสือของเนื้อหา ไม่ใช่แค่คำนำ เราอยากเห็นบทต่อไปของคำนำ ว่าประเทศไทยมันจะเป็นอย่างไร แม้จะเปิดบทต่อไปมันก็ยังมีแรงต้านตามกฎของฟิสิกส์ มันไม่สามารถเดินทางไปสู่บทสรุปต่อไป ทำไมมันยังอยู่กับคำนำเหล่านี้ตั้ง800หน้า เด็กรุ่นใหม่ก็ตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ ทำไมต้องมาพูดเรื่องเดิมๆโดยไม่เปลี่ยนแปลง เราจะไปอย่างไร เรายังมีความหวังอยู่หรือไม่

ภิญโญ กล่าวว่า เวทีเมื่อวาน มธ. – จุฬาฯ รู้สึกมีความหวัง ลมมันพัดมาเบาๆ เหมือนจะได้เห็นโอกาสและความหวังขึ้นมาบ้าง ชีวิตมนุษย์ มีความสำคัญอยู่สองอย่างคือ ตอนเกิด ตอนตาย ผมเห็นว่า อาจารย์ชาญวิทย์เกิดมาบนบรรณพิภพ อย่างไร แล้วจะจาก บรรณพิภพ ไปอย่างไร และมันจะขับเคลื่อนสิ่งที่เรียกว่า “ประเทศไทย” อย่างไร

img_0479

นิ้วกลม – มีประเด็นที่อยากจะชวนกันคิดในประเด็นของหนังสือ เวลาเราเข้าห้องสมุดเราเลือกหนังสือ มันก็จะมาเป็นเล่ม เนื้อหาถูกขมวดเรียงร้อยมารวมกัน รวมทั้งบทเบื้องต้น ที่เรียกว่า คำนำ ปัจจุบัน เนื้อหาในการอ่านในโลกออนไลน์มันกระจัดกระจายมาก

ผมคิดว่า คุณูปการของคำนำ โดยเฉพาะคนเขียนที่มีวิธีการเขียนให้อ่านเนื้อหาข้างในอีกแบบหนึ่ง มีเนื้อหาที่บางครั้งคุณค่าไม่ได้แพ้เนื้อหาในหนังสือ เป็นเสมือนบานหน้าต่างให้พลิกเปิดออกไป ก็คือ อาจารย์ชาญวิทย์ งานของอาจารย์มีการวิพากษ์ วิเคราะห์

ซึ่งผมว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ “คำนำ” ในอนาคตมันจะหายไปไหม มันจะมีพื้นที่อยู่ต่อไปในลักษณะไหน ถ้าไม่ได้เป็นหนังสือการรวบรวมเนื้อหาแล้วคำนำจะเป็นยังไง

สำหรับเล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือรวบรวมคำนำ แต่เป็นหนังสือบันทึกความคิดเเละเรื่องราวต่างๆของอาจารย์ชาญวิทย์ เป็นความมหัศจรรย์มากที่สามารถเขียนคำนำได้มากมายขนาดนี้ และหนังสือเล่มนี้คุณจะไม่สามารถข้ามคำนำได้ เพราะคุณจะเจอคำนำทุกหน้าไป และมันไม่ใช่แค่การเป็นคำนำ อย่างที่บอก มันคือ บันทึกความคิดของชาญวิทย์

คำ ผกา – เมื่อเปิดดูแล้วเลือกมาหนึ่งชิ้น ดิฉันชอบคำนำจากหนังสือ อันล่วงละเมิดมิได้ คำนำชิ้นนี้มีคุณค่ามหาศาล อ.ชาญวิทย์เป็น ผู้ที่จะนำสยาม ไปอยู่ในแผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราเรียนประวัติศาสตร์ไทย โดยไม่รู้ว่าเราสัมพันธ์กับโลกอื่นๆนอกเหนือจากกะลาใบนี้อย่างไร อาจารย์เชื่อมไทยเขาไปในแผนที่โลก ใช้ ค.ศ. คู่ กับ พ.ศ. อยู่ตลอดเวลา เพื่ออธิบายว่ามันตรงกับเหตุการณ์อะไรในสยาม เราอาจจะไม่รู้สึกอะไร ว่ามันสำคัญอย่างไร ด้วยวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา มันทำให้เราเข้าใจความเป็นเรามากขึ้น

ไอดา – ภิญโญ ตั้งข้อสังเกตว่า ดิฉันมีเพื่อนร่วมกันกับอาจารย์ชาญวิทย์เหมือนมีเพื่อนร่วมกัน ในเฟซบุ๊ก ที่ตัดสินใจรับเขียนคำนำ ของเล่มนี้ เพราะมีเพื่อนที่เรามีร่วมกันคือ เบน แอนเดอร์สัน วันนี้ดิฉันใส่เสื้อมางาน ซึ่งเป็นเสื้อตัวสุดท้ายที่ใส่ในวันที่เจอกัน

มันเป็นงานปริทัศน์วรรณกรรมเล่มที่ดีเล่มหนึ่ง งานที่เขียนมันมีความหลากหลายมาก เหมือนเราได้อ่าน book review ดีๆ สักเล่ม หนังสือคำนำ คือ ภาพแทนของความเป็น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อ่านคำนำเหล่านี้เห็นภาพชีวิตของคนๆหนึ่ง นับจากทศวรรษแรกที่กลับมาจากต่างประเทศ เห็นท่าที แวดวง ผ่านสิ่งที่เขาเขียน เห็นน้ำเสียง และแวดวง ที่ผ่านมา

งานวันนี้ เชิญคนรุ่นใหม่มาพูด ในขณะที่เเขกที่มาร่วมงานล้วนเป็นผู้อาวุโสทั้งนั้น งานวันนี้ อาจารย์ทำให้หนังสือเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างสองช่วง เพราะอาจารย์ได้ ทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจ

ลักษณะการเขียนคำนำ เหมือนการ intro ไม่เข้าเรื่องสักที ซึ่งดิฉันเชื่อว่าอาจารย์เลือกที่จะหยุด position มันไว้ที่ตรงนั้น คือเป็นคน introduce โลกระหว่างเรา และเชื่อมคนต่างๆเข้ามา การวางตัวเอง เพื่อแนะนำ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งเราจะเห็นว่าอาจารย์ไม่ได้ไปเถียงเอาเป็นเอาตายกับใคร เป็นคนเปิดประตูบานนั้นให้คนเข้าไปรู้จักสิ่งต่างๆ และนั่นคือ อาจารย์ชาญวิทย์ ที่เป็นดั่งหนังสือ คำนำ เล่มนี้