ปัญหาชนชาติและศาสนา อินโดนิเซียรุนแรง ซูการ์โน ดำเนินนโยบายปฏิปักษ์ต่อคนจีน

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 ส.ค. – 30 ส.ค. 2550 บทความพิเศษ โดย ภูมิ พิทยา ในเรื่อง ปัญหาชนชาติและศาสนา (6)

อินโดนีเซียเป็นอีกประเทศที่มีปัญหาชนชาติและศาสนารุนแรง ปัญหาที่อินโดนีเซียประสบมีทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนพื้นเมืองกับคนจีน ความขัดแย้งของกลุ่มชนต่างๆ อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนา และปัญหาการแบ่งแยกดินแดนของชนกลุ่มน้อยต่างๆ

ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายมลายู ชาวมลายูแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มหลายพวก ชนกลุ่มใหญ่ที่ถือเป็นประชากรหลักของประเทศคือชาวชวา ซุนดาและมาดูรา ซึ่งมีจำนวนรวมประมาณ 68% ของพลเมืองทั้งประเทศ แต่ถ้ารวมชาวมลายูทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน จะมีถึง 95% ส่วนชนกลุ่มน้อยที่สำคัญได้แก่คนจีนที่มีสัดส่วนประมาณ 3% กับชาวพื้นเมืองบนเกาะนิวกีนี เกาะติมอร์และหมู่เกาะโมลุกกะ

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีศาสนาค่อนข้างหลากหลาย ชาวอินโดนีเซียประมาณ 87% นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีผลให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก ศาสนาสำคัญรองลงมาคือศาสนาคริสต์ มีผู้นับถือประมาณ 9% ส่วนใหญ่อยู่ในหมู่เกาะโมลุกกะ เกาะสุลาเวสี เกาะติมอร์ เกาะฟลอเรสและหมู่เกาะรอบนอกอื่นๆ กับในหมู่คนจีน นอกจากนี้ ยังมีศาสนาฮินดูที่ชาวเกาะบาหลีนับถือกับศาสนาพุทธและศาสนาเต๋าที่ชาวจีนนับถือ

อินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ตกเป็นอาณานิคมของชาวยุโรปเป็นเวลานาน และเป็นดินแดนที่ถูกนักล่าอาณานิคมกดขี่ขูดรีดสาหัสที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในดินแดนนี้ โดยการเข้ามาผูกขาดการค้าเครื่องเทศในหมู่เกาะโมลุกกะ ต่อมาสเปนได้เข้ามาแย่งชิงผลประโยชน์ทางการค้ากับโปรตุเกส จากนั้นเนเธอร์แลนด์ก็เข้ามาเบียดขับโปรตุเกสกับสเปนและชาวยุโรปชาติอื่นออกไป แล้วค่อยๆ ยึดครองดินแดนส่วนต่างๆ ในหมู่เกาะอินโดนีเซียจนเกือบหมด

และสถาปนาการปกครองที่ต่อเนื่องยาวนานเกือบ 350 ปีขึ้นบนหมู่เกาะแห่งนี้

ชาวเนเธอร์แลนด์เดินเรือมาถึงหมู่เกาะอินโดนีเซียครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1596 จากนั้นในปี 1602 ก็ได้จัดตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกขึ้นมา เพื่อทำการค้าผูกขาดในหมู่เกาะแถบนี้ เนเธอร์แลนด์ยึดจาการ์ตาได้เมื่อปี 1619 แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นปัตตาเวียและใช้เป็นศูนย์กลางปกครองดินแดนแถบนี้ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ คืบคลานขยายดินแดนไปเรื่อยๆ

กระบวนการขยายดินแดนครอบครองหมู่เกาะอินโดนีเซียของเนเธอร์แลนด์กินเวลานานถึง 300 ปี จนถึงปี 1913 เมื่ออาณาจักรเรียอูบนเกาะสุมาตราถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคม จึงถือว่าสิ้นสุดการล่าอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ดินแดนหมู่เกาะอินโดนีเซียจึงตกอยู่ใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์หมด

ยกเว้นภาคเหนือของเกาะบอร์เนียวที่อยู่ใต้อำนาจอังกฤษและภาคตะวันออกของเกาะติมอร์ที่เป็นของโปรตุเกสเท่านั้น

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศเล็กที่อาศัยการค้าต่างประเทศเป็นกิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจ การเข้ายึดครองหมู่เกาะอินโดนีเซียของเนเธอร์แลนด์มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อผูกขาดการค้าเครื่องเทศและพืชผลเขตร้อนจากหมู่เกาะนี้ เนเธอร์แลนด์พยายามหากำไรสูงสุดจากการค้า โดยการกดราคารับซื้อสินค้าจากชาวพื้นเมืองให้ต่ำที่สุด และเมื่อเนเธอร์แลนด์มีอำนาจปกครองเหนือดินแดนส่วนใด ก็จะผูกขาดการค้า ห้ามชาวพื้นเมืองขายสินค้าแก่ชาวยุโรปชาติอื่น

ถ้าสินค้าที่ต้องการเกิดขาดแคลน จะบังคับชาวพื้นเมืองเปลี่ยนที่ดินปลูกข้าวมาปลูกพืชผลที่ต้องการ แต่ถ้าผลผลิตมีมากเกินไป ก็จะบังคับชาวพื้นเมืองโค่นถางพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลผลิตนี้ เพื่อลดปริมาณสินค้ารักษาระดับราคา เนเธอร์แลนด์ยังส่งเสริมให้ชาวพื้นเมืองบางกลุ่มลักพาตัวชาวพื้นเมืองกลุ่มอื่นมาขายเป็นทาส เพื่อนำมาใช้งานในไร่ของชาวเนเธอร์แลนด์ จะได้ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มกำไรให้สูงยิ่งขึ้น

นอกจากการขูดรีดกำไรจากพืชผลเกษตรอย่างโหดเหี้ยมแล้ว เนเธอร์แลนด์ยังบังคับเก็บภาษีอย่างหนักและเกณฑ์แรงงานบ่อยมาก

การกดขี่ขูดรีดของเนเธอร์แลนด์ทำให้ชาวพื้นเมืองในอาณานิคมแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก บางปีเมื่อเกิดภัยธรรมชาติยังมีคนอดตายจำนวนมาก เพราะพื้นที่ปลูกข้าวถูกลดลงเนื่องจากกันไปปลูกพืชเศรษฐกิจ ส่วนการเก็บภาษีสารพัดอย่างและการเกณฑ์แรงงานก็สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวพื้นเมืองแสนสาหัส ชาวพื้นเมืองจึงมีความรู้สึกเกลียดชังและเป็นปฏิปักษ์ต่อเนเธอร์แลนด์ พวกเขาได้ก่อกบฏต่อต้านเนเธอร์แลนด์หลายครั้ง แต่ก็ถูกปราบลงไปทุกครั้ง

ในระหว่างที่เนเธอร์แลนด์เข้ามาปกครองหมู่เกาะอินโดนีเซีย มีชาวจีนอพยพเข้ามาเรื่อยๆ ชาวจีนได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวจีนในหมู่เกาะอินโดนีเซียแตกต่างกับชาวจีนในมาลายาตรงที่พวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ามาเป็นกรรมกรเหมืองแร่เหมือนในมาลายา แต่เป็นพ่อค้าเร่ ช่างฝีมือและกรรมกรรับจ้างทั่วไป ต่อมามีคนจีนจำนวนมากกลายเป็นพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อพืชผลเกษตรจากชาวพื้นเมืองเพื่อส่งต่อให้พ่อค้าเนเธอร์แลนด์ และขายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันให้คนพื้นเมือง บางคนยังได้เป็นผู้รับเหมาเก็บภาษี

คนจีนเหล่านี้จึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบอบเศรษฐกิจอาณานิคม ที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างเนเธอร์แลนด์กับชาวพื้นเมือง

ชาวพื้นเมืองในหมู่เกาะอินโดนีเซียแทบไม่มีโอกาสติดต่อโดยตรงกับคนเนเธอร์แลนด์ ตัวแทนระบอบเศรษฐกิจอาณานิคมที่กดราคาพืชผลเกษตรและขายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพงที่พวกเขาสัมผัสได้ก็คือคนจีน ชาวพื้นเมืองจึงคิดว่าคนจีนเป็นผู้ที่ขูดรีดพวกเขา เป็นต้นเหตุแห่งความยากจนของพวกเขา โดยมองไม่เห็นเจ้าอาณานิคมเนเธอร์แลนด์ที่อยู่เบื้องหลัง ชาวพื้นเมืองจึงแปลงความเกลียดชังที่มีต่อระบอบอาณานิคมเป็นความเกลียดชังต่อคนจีน ความรู้สึกนี้ได้รับการขยายและตอกย้ำเรื่อยๆ จากนักการเมืองและผู้นำชุมชนที่มีอคติต่อคนจีน จนกลายเป็นความคิดที่ยากจะเปลี่ยนแปลง

นี่คือต้นเหตุสำคัญที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกของคนจีนในอินโดนีเซีย

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้เข้ายึดหมู่เกาะอินโดนีเซียในปี 1942-1945 ในช่วงท้ายของสงคราม เมื่อญี่ปุ่นเห็นลางแพ้ชัดเจน จึงได้เร่งกระบวนการให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคมของชาติตะวันตกในเอเชียอาคเนย์ ชาวอินโดนีเซียภายใต้การนำของ ซูการ์โน ได้ดำเนินการเตรียมนำประเทศสู่เอกราช ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในวันที่ 15 สิงหาคม 1945 อีกสองวันต่อมา ซูการ์โน ก็ได้ประกาศเอกราชและจัดตั้งสาธารณรัฐอินโดนีเซียขึ้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม แต่เนเธอร์แลนด์และประเทศสัมพันธมิตรไม่ยอมรับการประกาศเอกราชนี้ เนเธอร์แลนด์ได้หวนกลับมาและใช้กำลังเข้าปราบปราม สงครามระหว่างเนเธอร์แลนด์กับอินโดนีเซียยืดเยื้อไปหลายปี

ในที่สุดเนเธอร์แลนด์ก็ยอมเจรจายุติสงครามและให้เอกราชแก่อินโดนีเซีย อินโดนีเซียได้รับเอกราชสมบูรณ์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1950

รัฐบาลอินโดนีเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีซูการ์โน ได้ดำเนินนโยบายชนชาติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคนจีน รัฐบาลเริ่มด้วยการห้ามและจำกัดคนจีนดำเนินกิจการบางอย่าง เช่น การนำเข้าส่งออก การขนส่งและการสีข้าว ต่อมาก็ได้ประกาศห้ามคนจีนทำกิจการค้าในเมืองระดับอำเภอลงไปตั้งแต่ปี 1960 ประกาศนี้มีผลให้ร้านค้าคนจีนประมาณ 80,000 ร้านต้องเลิกกิจการ คนจีนประมาณ 500,000 คนกลายเป็นคนว่างงาน

ประกาศนี้ยังก่อให้เกิดกระแสการปล้นร้านค้า ทำลายทรัพย์สินและโจมตีชาวจีนทั่วอินโดนีเซีย ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวจีน

การปกครองของซูการ์โน มาถึงจุดวิกฤตเมื่อกำลังสองฝ่ายที่ค้ำจุนบัลลังก์ของเขาคือ พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียและกองทัพบกเกิดความขัดแย้งรุนแรง พรรคคอมมิวนิสต์ได้ก่อรัฐประหารและสังหารนายพลกองทัพบก 6 คนเมื่อวันที่ 30 กันยายน 1965 กองทัพบกภายใต้การนำของนายพลซูฮาร์โต ได้รวบรวมกำลังโต้กลับอย่างรวดเร็ว จากนั้นได้ทำการกวาดล้างเข่นฆ่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศ

พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียที่เป็นพรรคคอมมิวนิสต์เก่าแก่ที่สุดของเอเชียอาคเนย์และถือเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ใหญ่อันดับสามของโลกรองจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตจึงถึงกาลอวสาน ถูกกวาดล้างแทบหมดไปจากแผ่นดินอินโดนีเซีย

เหตุการณ์รัฐประหารครั้งนี้เป็นฝันร้ายของชาวจีนด้วย ชาวอินโดนีเซียต่างเข้าใจว่า การก่อรัฐประหารของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน จึงพุ่งเป้าไปที่คนจีนด้วยการเข้าปล้นร้านค้า ทำลายข้าวของและทำร้ายคนจีนควบคู่กับการไล่ล่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์

เหตุการณ์ครั้งนี้กินเวลานานเกือบสองปี กว่าจะจบลงได้ก็ได้สร้างความสูญเสียแสนสาหัสแก่ชาวจีน