ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (8)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คราวที่แล้วผมทิ้งท้ายไว้ว่า เรื่อง “เนื้อสัตว์บวงสรวง” ยังไม่จบ เพราะยังมีประเด็นและธรรมเนียมอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้เล่า

ธรรมเนียมที่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ปฏิบัติหรือหลงลืมกันไปหมดแล้ว คือคนฮกเกี้ยนและจีนถิ่นใต้บางกลุ่มจะใช้เส้งเล้หรือเนื้อสัตว์บวงสรวงเพียงชุดเดียว แต่เวียนถวายทั้งเทพเจ้าและบรรพชน

กล่าวคือ เมื่อตั้งเนื้อสัตว์สามอย่างไหว้ที่แท่นบูชาเทพในตอนเช้าแล้ว พอสายก็จะยกเนื้อสัตว์ชุดเดียวกันนั้นไปไหว้ที่หน้าที่บูชาบรรพชนต่อ โดยกลับหัวของปลาและพลิกด้านของหมูตามที่ได้เล่าไว้ รวมทั้งเปลี่ยนขนมอั่งกู๊หรือขนมเต่าแดงและขนมถ้วยฟูที่วางไว้ด้านบนเป็นอันใหม่

ที่ทำเช่นนี้ ท่านว่า ของถวายพวกนี้ “ผู้ใหญ่” สามารถมอบลงมาให้แก่ผู้น้อยเป็นทอดๆ ได้ ด้วยเหตุนั้น เทพเจ้าก็สามารถประทานลงมายังผีบรรพชนเพราะท่านมีศักดิ์สูงกว่า ส่วนบรรพชนก็มอบไว้ให้ลูกหลานกินต่อไปได้ ไม่ถือว่าผิดอะไร คือใช้ชุดเดียวไหว้ได้หมดทั้งบ้าน

 

อีกเหตุผลหนึ่งก็คงเพราะความจำเป็น สมัยก่อนเนื้อสัตว์เป็นของหายากราคาแพง การจะมีของเซ่นไหว้เป็นเส้งเล่หลายๆ ชุดนั้นสิ้นเปลืองเป็นอันมากแก่ชาวบ้าน ผิดกับปัจจุบันที่มีอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่ ทำให้มีราคาถูกลงและหาได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีต

นอกจากนี้ ที่ในปัจจุบันนิยมไหว้กันหลายๆ ชุดนั้นก็อาจมีบางคนเห็นว่า ยิ่งมีของพวกนี้ในพิธีเยอะๆ เป็นการแสดงฐานะของตนว่าร่ำรวย แต่นอกนั้นคนส่วนใหญ่คงคิดว่าเป็นการไม่เคารพ เพราะเหมือนเราเอาของเหลือจากที่หนึ่งไปไหว้อีกที่หนึ่ง แม้จะมีศักดิ์ไม่เท่ากันก็ตาม

อันที่จริงหากเข้าใจเรื่องเส้งเล้ว่าไม่ได้ไหว้ในฐานะ “กับข้าว” หรืออาหารที่ต้องกินในตอนนั้น แต่เป็น “เครื่องบรรณาการ” คือของขวัญที่มอบให้ในฐานะผลผลิตทางการเกษตรที่ล้ำค่า ก็อาจช่วยให้เข้าใจประเพณีการเวียนของไหว้ได้ยิ่งขึ้น

 

ดังที่ผมเล่าไปแล้วว่าในสมัยโบราณ ชาวบ้านก็มักมอบปศุสัตว์ของตนให้กับนายบ้านหรือผู้ใหญ่เพื่อเป็นของขวัญผูกมิตร ครั้นมีพิธีเซ่นไหว้สำคัญก็ยังคงธรรมเนียมนี้ โดยเซ่นไหว้สัตว์ใหญ่ทั้งตัวเป็นบรรณาการแด่ทวยเทพและผี

สิ่งที่ยังคงบ่งบอกถึงความเป็นเครื่องบรรณาการ คือในพิธีเซ่นไหว้ที่หอบรรพชนหรือในงานสำคัญของศาลเจ้าแม้จนทุกวันนี้ ก็ยังคงวางสัตว์ทั้งตัวแบบดิบๆ คือแค่เชือดแล้วเอาเครื่องในออกวางเซ่นไหว้ทั้งๆ แบบนั้น ไม่ได้นำไปปรุงแต่อย่างใด แต่พอเป็นการเซ่นไหว้ที่ย่อลงมาในบ้าน ผมเข้าใจเอาเองว่าการทำให้สุกเป็นเรื่องสุขอนามัยและความสะดวกมากกว่า

ทั้งนี้ พอถือเป็นเครื่องบรรณาการจึงถือเป็นของสำคัญที่สุดบนโต๊ะเซ่นไหว้ ตำแหน่งที่วางจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญไปด้วย เช่น บางบ้านอาจวางถัดจากแท่นบูชาบรรพชนเลยทีเดียว แต่บางบ้านก็วางไว้ด้านหน้าสุดด้วยเหตุผลเดียวกัน โดยไม่ได้วางรวมในกลุ่มถ้วยกับข้าว

อ่อ คนจีนฮกเกี้ยนแต่โบราณไม่ได้เอา “กับข้าว” ไหว้เทพเจ้านะครับ มีแต่ของเซ่นสรวงต่างๆ ส่วนกับข้าวนั้นมีไว้สำหรับไหว้ผีบรรพชน เพราะเชื่อว่าผีกินอย่างคนเป็น มีความคิดและพฤติกรรมเหมือนกัน คืออยู่แบบไหนตายไปก็แบบนั้น บางโอกาส เช่น พิธีไหว้ครบรอบวันตาย เขาก็ให้ทำกับข้าวที่ผู้ตายเคยชอบมาไหว้เลยทีเดียว ไม่ต้องทำอาหารตามแบบประเพณีทั้งหมดก็ได้

การที่มีผู้นำกับข้าวไปถวายเทพกัน อาจเพราะคนไหว้เทพจีนน่าจะได้รับอิทธิพลธรรมเนียม “ถวายข้าวพระ” จากพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เพราะชาวพุทธเขาตั้งข้าวและกับในฐานะเครื่องพุทธบูชา เลยอาจเลียนแบบเอามาตั้งไหว้เทพเจ้าที่ตนนับถือด้วยกระมัง เพราะพิธีพุทธพิธีเทพชองจีนก็ปนๆ กันอยู่

 

ส่วนในบางพิธีเช่นพิธีไหว้ทีก้องแซหรือไหว้วันประสูติฟ้า มีการตั้งถ้วยข้าวถวายแด่เทพเง็กเซียนฮ่องเต้หรือหยกหองส่องเต่ด้วยนั้น อันนี้ก็ไม่ได้เซ่นไหว้ข้าวในฐานะอาหารครับ แต่เซ่นไหว้ในฐานะที่เป็นเครื่องบรรณาการ เพราะข้าวถือเป็นผลผลิตต้นฤดูวสันต์ จึงเรียกข้าวถ้วยนี้ว่า “ชุนปึ่ง” หรือข้าวในฤดูชุน (ใบไม้ผลิ/วสันตฤดู) และมักปักดอกไม้มงคลที่เรียกว่า “ชุนฮั้ว” (ดอกไม้วสันตฤดู) เป็นสัญลักษณ์ลงไปด้วย ไม่ก็ปักตัวหนังสือที่เขียนว่าชุนเอาไว้

ชุนปึ่งนอกจากใช้เพื่อเซ่นไหว้แล้ว ยังถือเป็นเครื่องเสี่ยงทายนิมิตหมายมงคลด้วย คือไหว้เสร็จเขาจะไม่เอาข้าวถ้วยนี้มากิน แต่จะตั้งทิ้งไว้เพราะธรรมเนียมจีนถือว่าเทพศุภมงคลสถิตอยู่สามวัน ดังนั้น หากเป็นเทศกาลมงคลใหญ่ๆ ก็มักจะตั้งของไหว้จำพวกผลไม้หรือของแห้งต่างๆ ไม่ยกออกจากโต๊ะบูชาไม่ต่ำกว่าสามวันนับจากวันเซ่นไหว้

ครั้งบ้านผมทำพิธีตั้งแท่นบูชาเทพเจ้าและบรรพชน ของสดเราก็ยกไปทานกันในเย็นวันนั้น แต่พวกผลไม้และของแห้ง อาจารย์ท่านให้ตั้งทิ้งไว้หน้าแท่นบูชาอีกสามวันตามธรรมเนียม รวมทั้งผ้าไฉหรือผ้าสีแดงปักลายมงคลติดหน้าบ้าน ท่านก็ไม่ให้ปลดออกจนกว่าจะครบสามวันเช่นกัน

ทีนี้หากข้าวชุนปึ่งที่ตั้งทิ้งไว้นั้นขึ้นราฟูฟ่อง โดยเฉพาะได้ราสีแดง ก็ถือว่าเจ้าของบ้านจะ “ฮวด” คือรุ่งเรืองเฟื่องฟู เป็นเครื่องหมายมงคลว่าปีนั้นจะเจริญดี

บางคนถือเรื่องนี้มาก รอคอยแต่ราสีแดงเท่านั้น พอราออกดำก็เสียใจ ที่จริงราจะสีอะไรไม่ใช่เรื่องใหญ่ ขอให้ขึ้นราก็แล้วกัน ผู้ใหญ่ของอาจารย์นนท์พูดเล่นๆ ว่า อยากได้ราสีแดงก็หุงข้าวให้แฉะๆ ไว้ ราแดงจะขึ้นเอง

ข้าวชุนปึ่งเมื่อจบเทศกาลแล้ว เขาก็เอาทิ้งไป ไม่ได้มีประโยขน์หรือทำอะไรต่อได้

 

อาจารย์ณัฐนนท์ยังเล่าธรรมเนียมเกี่ยวกับราในความเชื่อจีนอีกว่า สมัยก่อนคนจีนในภูเก็ต หากมีงานศพของคนอายุเยอะๆ เจ้าภาพจะเลี้ยงแขกด้วยขนม “บี้โก้หมอย” หรือข้าวเหนียวดำต้ม (บี้โก้ – ข้าวเหนียวดำ, หมอย – ข้าวต้ม) ขนมชนิดนี้อร่อยทีเดียวครับ เป็นข้าวเหนียวดำต้มกับน้ำตาลพอเหนียวๆ ข้นๆ แล้วราดด้วยกะทิ

ข้าวเหนียวดำหรือบางคนเรียกข้าวเหนียวแดงนี้ จัดเป็นของมงคลในพิธีหลายอย่าง บ้างว่าเป็นสัญลักษณ์ลูกหลานกลมเกลียว

พอเลี้ยงแขกเสร็จแล้ว หม้อต้มข้าวเหนียวดำกับช้อนที่แขกในงานใช้กินเขาจะยังไม่ล้าง คนงานจะโยนช้อนทิ้งไว้ในหม้อนั่นแหละครับ พอถึงวันออกศพหรือวันฝัง หากมีราขึ้นหม้อขึ้นช้อน คนไปงานก็จะยื้อแย่งกันเก็บช้อนที่ขึ้นรานั้นเอากลับไปบ้าน ถือกันว่าให้คุณเรื่อง “ฮวด” คือเจริญรุ่งเรืองร่ำรวยดีมาก

แต่ธรรมเนียมนี้ผมไม่เคนเห็นด้วยตาตนเอง ฟังจากผู้ใหญ่เล่ามาแล้วก็เล่าต่อพอเป็นเกร็ดธรรมเนียมสนุกๆ ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบด้วย

 

เมื่อตั้งเส้งเล้ก็จะตั้งเหล้าเซ่นไหว้เสมอ จัดเป็นของที่มาด้วยกัน ถือว่าเหล้าเป็นบรรณาการอีกอย่างที่สำคัญ ให้เหล้าจึงไม่เท่ากับแช่ง แต่เป็นสัญลักษณ์ของความรื่นรมย์หรือการเชื่อมสัมพันธ์ หากมีเพียงผลไม้และขนมก็จะไม่ตั้งเหล้า มีเพียงน้ำชาเท่านั้น

เหล้าที่ใช้เซ่นไหว้นิยมเหล้าแดง เพราะสีแดงเป็นสัญลักษณ์มงคลอยู่แล้ว บางท่านนิยมไหว้ด้วยเซี่ยงชุนเพราะมีกลิ่นหอม ผมเคยได้ยินมาว่าอาจใช้เหล้าขาวได้ในบางโอกาส แต่เรื่องนี้ผู้รู้ท่านไม่ได้ยืนยัน

การตั้งเหล้าไหว้เทพจะตั้งสามจอกเช่นเดียวกับชา ส่วนการไหว้บรรพชนจะตั้งตามจำนวนถ้วยข้าว ซึ่งโดยปกติแล้วชาวฮกเกี้ยนนิยมตั้งถ้วยข้าวไหว้บรรพชนจำนวนเจ็ดถ้วยแทนเจ็ดชั่วโคตรวงศ์ แต่บางบ้านก็มีประเพณีตั้งถ้วยข้าวตามจำนวนบรรพชนที่มีอยู่ในบ้านหรือเฉพาะที่ “เชี้ย” หรือเชิญมาเท่านั้น ซึ่งเป็นธรรมเนียมใหม่ในจีนโพ้นทะเล

เมื่อตั้งข้าวเจ็ดถ้วย จอกเหล้าและชาก็จะมีจำนวนเจ็ดไปด้วย บางท่านให้วางจอกเหล้าก่อนแล้วจอกชาออกถัดไป แล้วถึงจะเป็นถ้วยข้าว เพราะเชื่อว่าบรรพชนดื่มเหล้าแล้วก็ดื่มชาตามล้างปากล้างคอ บางบ้านก็วางชาก่อนเพราะถือว่าเป็นของสักการะลำดับแรกถัดจากกระถางธูป บ้างก็วางข้างชามข้าวเหมือนกินจริงๆ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับธรรมเนียมที่แต่ละครอบครัวทำสืบมา

“ชา” นับเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งในการเซ่นไหว้จีน เพราะการดื่มชาเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ถือเป็นรากเหง้าและอัตลักษณ์ของชนชาติ แม้ไม่มีเครื่องเซ่นไหว้อื่นใดก็ควรต้องมีชาเซ่นไหว้

บ้านใครตั้งแท่นบูชาเทพเจ้าและบรรพชน รวมทั้งศาลเจ้าและวัดวาอาราม มีธรรมเนียมการยกน้ำชาถวายหรือ “เค่งเต๋” ทุกเช้าและลาในตอนเย็นเป็นกิจวัตรประจำวันของผู้ดูแลหรือเจ้าของบ้าน

ส่วนชามีความหมายอะไร และเหตุใดต้อง “คารวะสามจอก”

โปรดติดตาม •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง