บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (7)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ
: บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (7)

 

จากเรื่องผลไม้ก็มาถึงของสำคัญอีกอย่างในพิธีกรรม คือเนื้อสัตว์บวงสรวง ซึ่งก็มีรายละเอียดและเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจอีกครับ

เนื้อสัตว์ที่ใช้ในพิธีเซ่นไหว้นั้น คนจีนและคนที่รับวัฒนธรรมจีนย่อมคุ้นเคยกันดี เช่น ไก่ต้ม หัวหมูอะไรต่างๆ

อันที่จริงเมื่อตอนที่ผมทำพิธีตั้งแท่นบูชาเทพเจ้า ผู้ประกอบพิธีได้แจ้งว่าเนื้อสัตว์สำหรับบวงสรวงตามประเพณีจีนไม่จำเป็นต้องใช้ จะใช้เฉพาะในพิธีเซ่นไหว้และตั้งแท่นบรรพชน

แต่หากประสงค์จะเพิ่มเติมเข้ามาสำหรับเทพเจ้าเพื่อเป็นสิริมงคลก็ได้

ในภาษาฮกเกี้ยนเรียกเนื้อสัตว์บวงสรวงว่า “เส้งเล้”

“เส้ง” หมายถึงของคาว

ส่วน “เล้” หมายถึง เครื่องบวงสรวง

ถ้าประกอบด้วยสามอย่างเรียกว่าซาเส้งหรือซำเส้ง “ของคาวทั้งสาม”

ถ้าประกอบด้วยห้าอย่างเรียกว่าหง่อเส้ง “ของคาวทั้งห้า” (ภาษาหมิ่นหนานสำเนียงแต้จิ๋ว ออกเสียงว่า ซาแซและโหงวแซ)

 

การเซ่นไหว้ด้วยเนื้อสัตว์หรือของคาวทั้งห้านี้ เป็นเรื่องเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ของชาวบ้าน มีมาก่อนธรรมเนียมและคติ “หยู” หรือขงจื่อ

อาจารย์ณัฐนนท์ ปานคง อธิบายให้ผมฟังว่า คนจีนโบราณมักมอบของกำนัลแก่ผู้ใหญ่ด้วยปศุสัตว์ที่ตนเลี้ยงไว้ เช่น หมู วัว แพะ แกะ ไก่ ฯลฯ ถือเป็นผลผลิตจากหยาดเหงื่อแรงกาย เพื่อแสดงความนอบน้อมและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

เช่น ชาวบ้านมอบให้นายบ้าน นายบ้านก็มอบให้นายอำเภอหรือเจ้าเมือง หากมีมากก็แบ่งมาให้ขุนนางและลูกน้องในระดับต่างๆ พอมีพิธีเซ่นไหว้ก็นำมาถวายจัดเป็นของสูงค่าในพิธีเซ่นไหว้บรรพชนหรือเทพเจ้าด้วย

ที่จริงการเซ่นไหว้ตามธรรมเนียมจีนล้วนเป็นการนำผลผลิตทางการเกษตรในฤดูกาลนั้นๆ ไม่ว่าพืชหรือสัตว์มาเซ่นไหว้ทั้งหมด

แต่ปศุสัตว์ในยุคโบราณมิใช่ของที่จะเชือดมาถวายหรือมอบให้กันได้บ่อยๆ ผิดกับเราสมัยนี้ที่เพียงแค่มีเงินจะเอาอะไรมาเซ่นไหว้ตอนไหนยังไงก็ได้

ดังนั้น ก่อนจะมีการเซ่นไหว้ด้วยเส้งเล้ตามบ้านในปัจจุบัน การใช้สัตว์บวงสรวงมีเฉพาะในพิธีใหญ่ๆ ตั้งแต่ราชสำนักไปจนถึงระดับชุมชนเท่านั้น เพราะใช้ทรัพยากรมากเนื่องจากสัตว์ที่ใช้ต้องเป็นสัตว์ใหญ่ทั้งตัว ได้แก่ วัว แพะ และหมู ท่านเรียกสัตว์เหล่านี้ว่า “ตั่วเล้” คือเครื่องบวงสรวงใหญ่ และยังมีเรื่องของ “ฐานันดรศักดิ์” แห่งเครื่องบูชาเข้ามาเกี่ยวข้องอีก

ในปัจจุบัน เรายังพอจะเห็นธรรมเนียมเหล่านี้อยู่บ้างตามพิธีเซ่นไหว้ประจำปีของศาลบรรพชนในสมาคมแซ่ต่างๆ รวมทั้งพิธีเซ่นไหว้ใหญ่ประจำปีของบางศาลเจ้าที่ยังรักษาขนบประเพณีดั้งเดิมเอาไว้

 

อาจารย์นนท์เล่าให้ผมฟังต่อว่า พิธีเซ่นไหว้บรรพชนของสมาคมที่รู้ธรรมเนียมเก่า จะวางวัวทั้งตัวไว้ทางซ้าย ส่วนหมูจะวางไว้ทางขวา (ของแท่นบูชาเมื่อหันหน้าออก)

คนจีนถือว่าซ้ายใหญ่กว่าขวา ดังนั้น วิญญาณของบรรพชนยุคต้นกำเนิดแซ่คือราชนิกูลระดับ “อ๋อง” หรือท้าวสามนราช – เจ้าประเทศราชจะสถิตอยู่ทางซ้าย ก็จะรับถวายวัวที่วางตรงหน้าซึ่งศักดิ์สูงกว่าหมูที่วางอยู่ด้านขวา อันเป็นที่สถิตวิญญาณบรรพชนระดับขุนนางในชั้นรองลงไป

ต่อมาชาวบ้านก็ปรับเอาธรรมเนียมเหล่านี้มาสู่ครอบครัวของตน แต่ย่อซำเส้งหรือสัตว์บวงสรวงทั้งสามเป็นเพียงเนื้อสัตว์ที่หาได้ง่ายๆ ในครัวเรือนซึ่งไม่เป็นภาระนัก เช่น ไก่ ปลาและเนื้อหมูหรือสัตว์อื่นๆ รวมสามอย่าง ยังไม่มีธรรมเนียมการใช้หง่อเส้งหรือเนื้อสัตว์ห้าอย่างซึ่งมาเพิ่มมาให้อลังการยิ่งขึ้นในภายหลัง

เนื้อสัตว์สามอย่างจึงเป็นของที่ใช้เซ่นไหว้ทั้งหมดได้ไม่ว่าเทพเจ้าหรือบรรพชน ไม่ว่าผีเก่าหรือผีใหม่เพราะสืบเนื่องมาจากคติโบราณนั่นเอง และใช้ได้ในทุกโอกาส

ส่วนหง่อเส้งมักใช้ในโอกาสพิเศษมากๆ เท่านั้น เช่นพิธีที่ศาลเจ้าหรือไหว้ในเทศกาลทีก้องแซ และอาจไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นในเทศกาลทั่วๆ ไปตามบ้านเรือน

 

ธรรมเนียมจีนฮกเกี้ยนมิได้ใช้เป็ดในการเซ่นไหว้ เว้นแต่พิธีแต่งงานดังที่ได้เคยเล่าไปแล้ว แต่ใช้ไก่ เนื้อหมูสามชั้น และปลาเป็นหลัก

เหตุใดต้องใช้สามอย่างนี้ มีการตีความว่าไก่นั้นแทนหงส์อันเป็นสัตว์สูงอยู่บนฟ้า หมูแทนกิเลนอันเป็นสัตว์สูงบนแผ่นพื้นดิน ทั้งยังเป็นตัวแทนของบ้านและมนุษย์ ความอุดมสมบูรณ์และลูกหลาน ส่วนปลานั้นแทนมังกรผู้อยู่ในน้ำ เพราะอ้างอิงไปถึงตำนานปลาไนว่ายทวนน้ำข้ามประตูมังกรแล้วกลายเป็นมังกรได้

การตีความเช่นนี้ก็เพื่อยกระดับให้เครื่องบวงสรวงมีคุณค่ายิ่งขึ้น สมเป็นบรรณาการที่จะใช้ในพิธีสำคัญ ผมเคยเห็นบางบ้านเมื่อมีการถวายหง่อเส้งในพิธีป่ายทีก้องหรือไหว้ฟ้า เขานำขนหางของนกไก่ฟ้ามาปักไว้ที่ตูดไก่ต้ม เพื่อให้งามสมเป็นหงส์จริงๆ

เรื่อง “ฟ้า ดิน น้ำ” นี้ จัดเป็นเรื่องใหญ่ในคติความเชื่อแบบชาวบ้าน เป็นสามองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอย่างร่มเย็นเป็นสุข ดังมีการกราบไหว้ “ซำก๊วนไต่เต่” หรือ สามเสนาบรมราชาธิราช อันปกครองฟ้า ดิน และน้ำในประเพณีต่างๆ เครื่องบวงสรวงอันสะท้อนความบริบูรณ์ของสามสิ่งนี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง

บางครั้งมีการใช้ปลาหมึกแห้งแทนปลา เพราะนอกจากจะเป็นสัตว์น้ำเหมือนกัน ปลาหมึกยังออกเสียงในภาษาฮกเกี้ยนว่า ยู่หูว์ หรือ ยู่หีว์ อันไปพ้องกับคำว่า “ยู่อี่” ซึ่งหมายถึงสมปรารถนา แถมปลาหมึกยังมีรูปร่างเป็นแท่งยาวๆ คล้ายคฑายู่อี่ด้วย

นอกจากนี้ ปลาหมึกแห้งยังถือเป็นหนึ่งใน “ชิดบี๋” หรือเครื่องปรุงประจำบ้านเจ็ดประการที่สำคัญของคนจีน แสดงถึงความรุ่มรวยในบ้านเรือนนั้นๆ

ส่วนหง่อเส้งหรือเครื่องคาวบวงสรวงห้า นอกจากไก่ หมู ปลาและปลาหมึกแห้งแล้ว ก็จะเพิ่มกุ้งเข้ามาอีกอย่างโดยเฉพาะกุ้งตัวใหญ่หรือกุ้งมังกร เพราะมีลักษณะคล้ายมังกรและมีชื่อในภาษาจีนที่พ้องกัน (ก่าวแฮ่) บางบ้านก็นิยมปูต้มแทนปลาหมึก เพราะถือเป็นของมีค่าในท้องทะเล

เนื้อสัตว์ไม่ว่าซำเส้งหรืองหง่อเส้งจะไม่จัดแยกกันเป็นอย่างๆ แต่จัดรวมกันในถาดเดียวไม่ว่าจะไหว้เจ้าหรือไหว้บรรพชน เพราะแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์พรั่งพร้อม

 

เอกลักษณ์ประการหนึ่งในการจัดเส้งเล้ของวัฒนธรรมฮกเกี้ยนซึ่งไม่มีในวัฒนธรรมจีนกลุ่มอื่นๆ คือชาวฮกเกี้ยนจะนิยมวางหมี่เหลืองดิบหรือบะหมี่ดิบเป็นก้อนรวมอยู่ในถาดใส่เส้งเล้ด้วย

เนื่องจากบรรดาเนื้อสัตว์ที่รวมๆ นั้นต่างสื่อถึง “ฮก” หรือ “วาสนา” แต่ยังขาด “สิ่ว” หรือความมีอายุยืน จึงเพิ่มเส้นหมี่ลงไป เพราะเส้นหมี่เป็นของยาวๆ แสดงถึงความมีอายุยืน เพื่อให้ “ฮกสิ่วซานจ๋วน” หมายถึง “บริบูรณ์ด้วยวาสนาและฑีรฆมายุ”

ผมถามอาจารย์นนท์ว่า มี “สิ่ว” (อายุยืน) แล้ว มี “ฮก” (วาสนา) แล้ว ไม่ต้องมี “ลก” (ยศศักดิ์) ด้วยหรือ ดังที่เราชอบพูดติดปากว่าฮกลกสิ่ว อาจารย์ตอบว่า มิใช่ทุกบ้านจะชอบลกหรือยศศักดิ์ เพราะมิใช่ทุกบ้านจะปรารถนาให้บุตรเข้ารับราชการ แต่วาสนาและอายุยืนนั้น เป็นสิ่งที่ใครๆ ล้วนปรารถนา

อีกสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ในการจัดวางเส้งเล้ในวัฒนธรรมฮกเกี้ยน คือนิยมวางขนมอั่งกู๊หรือขนมเต่าแดงที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวกดพิมพ์เป็นรูปเต่ามีไส้เป็นถั่วกวน กับขนมถ้วยฟูสีชมพูหรือฮวดโก้ยอย่างละชิ้นไว้ด้านบนของเนื้อสัตว์

ท่านว่า มีของคาวถวายก็ต้องมีของหวานด้วย จะมา “เขียม” (เค็ม) อย่างเดียวไม่เหมาะ ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงเพิ่มขนมหวานที่เป็นมงคล (คือขนมเต่าหมายถึงอายุยืน และฮวดโก้ยคือเฟื่องฟูร่ำรวย) ลงในถาดเส้งเล้ หากตั้งแบบนี้แล้วก็ไม่ต้องตั้งจานถวายขนมแยกออกมาอีก

บางบ้านก็ใส่ผักบางอย่างทั้งต้นทั้งรากลงในถาดเส้งเล้ บ้างก็ว่ามีความหมายที่ดีเพราะพ้องคำมงคล เช่น ไชเท้า ขึ้นฉ่าย

แต่อาจารย์นนท์ท่านว่านี่น่าจะเป็นคตินิยมใหม่ เพราะอย่างผักไซซิ้มหรือผักกาดเขียวที่มักนิยมใส่ไว้ด้วยนั้น ไม่ได้มีชื่อที่สื่อนัยอะไรอันเป็นมงคล แต่คนไหว้คงเห็นเป็นของสำหรับผัดหมี่จึงใส่ถวายไปพร้อมกัน

แถมบางท่านยังติว่า มีธรรมเนียมอวมงคลที่นิยมวางผักไซซิ้มลวกทั้งต้นทั้งรากลงบนถ้วยข้าวให้ศพ จึงไม่น่าจะใช่สิ่งที่เหมาะสมสำหรับมงคลพิธี

 

การเรียงเนื้อสัตว์ในถาดก็มีลำดับและข้อปลีกย่อยอีก คือเมื่อหันหน้าเข้าแท่นบูชา ไก่จะอยู่ทางขวามือในถาด หมูอยู่ตรงกลาง และปลาหรือปลาหมึกอยู่ซ้าย เพราะหมูสื่อถึงบ้านเรือนและคนซึ่งพึงอยู่ตรงกลางระหว่างฟ้าและน้ำ ทั้งยังเป็นเครื่องบวงสรวงที่มีศักดิ์สูงสุดในสามอย่างนั้น แต่ในปัจจุบันนิยมวางไก่ไว้ตรงกลางด้วยเหตุผลด้านความสวยงาม

ยังมีธรรมเนียมอีกว่า เวลาไหว้เทพเจ้าให้หันด้านหัวของสัตว์บวงสรวงไปสู่แท่นบูชาเทพเจ้าทั้งหมด เป็นการให้เกียรติ และให้ยกด้านเนื้อแดงของหมูขึ้นมาด้านบน เอาด้านหนังลงล่าง เพราะสีแดงแสดงถึงความเป็นมงคลและเป็นส่วนที่ดีที่สุดของเนื้อชิ้นนั้น

แต่หากไหว้บรรพชนให้กลับด้านหมูลงเอาหนังขึ้น และให้หันหางของปลาไปทางแท่นบูชา เพื่อให้บรรพชนรับแต่หางเหลือเนื้อเหลือหัวมาถึงลูกหลาน ไม่เอาไปจนหมด

แต่ใครไคร่ไหว้ หรือไหว้มาอย่างไร ผมคงมิอาจไปก้าวล่วง ดังที่เคยกล่าวว่า ร้อยบ้านก็มีร้อยธรรมเนียม เพียงแต่ประสงค์จะเล่าขนบประเพณีของตนสู่กันฟังเท่านั้นเอง ที่จริงยังมีธรรมเนียมเกี่ยวกับสัตว์บวงสรวงที่ยังเล่าไม่ครบอีก

และยิ่งไปกว่านั้น ผมพึ่งได้ความรู้ใหม่ที่สำคัญมากๆ ว่า การเซ่นไหว้ด้วยเนื้อสัตว์บวงสรวงมิใช่เพื่อเป็น “อาหาร” สำหรับให้เทพเสวยหรือบรรพชนท่านกินในตอนนั้น แต่เพื่อเป็น “เครื่องบรรณาการ” มากกว่า

โปรดติดตาม •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง