ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (6)

เอาล่ะครับ เมื่อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในการตั้งแท่นบูชาพร้อมแล้ว คราวนี้จะเป็นการตระเตรียมข้าวของเครื่องเซ่นไหว้ในพิธี “อั่นตั๋ว” หรือการเปิดแท่นบูชาและ “เตี่ยมหง้านคายก๊อง” หรือเบิกพระรัศมีเทวรูปกันเสียที

อ่อ ลืมเล่าเรื่องวันประกอบพิธีนั้น ผู้ทำพิธีที่มีความละเอียดจะต้องเอาดวงของเจ้าบ้านไปตรวจดูเพื่อไม่ให้เกิดผลร้าย พร้อมกับกำหนดฤกษ์ยามที่เหมาะสมให้

ในกรณีของผม ผู้ประกอบพิธีคืออาจารย์ณัฐนนท์ ปานคง ได้กรุณากำหนดวันให้ในช่วงที่มาทำธุระที่กรุงเทพฯ ซึ่งตรงกับวันฉลองเทวสมภพของท่านเทพหมอฮูโต๋หรือหมอฮัวท้อเซียนซือพอดี นับเป็นมหามงคล

อาจารย์นนท์บอกว่าของที่ในพิธีอั่นตั๋วที่จริงไม่ได้มีมากมายอะไร แต่เนื่องจากผมไม่เพียงแต่ตั้งตั๋วหรือแท่นบูชาของเทพเจ้าเท่านั้น ยังตั้งแท่นบูชาบรรพชนด้วย

อันนี้ครับทำให้ข้าวของที่ใช้เพิ่มไปอีกมาก

 

เครื่องเซ่นไหว้ที่สำคัญอย่างแรกคือผลไม้ห้าอย่าง ที่ขาดไม่ได้มีส้ม แอปเปิลและสับปะรด ส่วนผลไม้อื่นๆ ตามแต่จะหามา โดยมากก็นิยมให้มีกล้วยหรือสาลี่

ที่จริงแค่เรื่องผลไม้นี่ก็สนุกเหลือหลายครับ เพราะคนจีนใช้ผลไม้ไหว้เทพเจ้าเป็นหลักในทุกงานทุกเทศกาล จึงมีคติความเชื่อเกี่ยวกับผลไม้หลายประการ เช่น มีผลไม้ชนิดใดห้ามไหว้เทพบ้าง อาจารย์ท่านว่าถ้าเป็นความเชื่อแบบชาวบ้าน ส่วนมากก็ไม่ค่อยมีข้อห้าม ผลไม้อะไรมีอยู่ในฤดูกาลนั้นที่ชาวบ้านหาได้ก็เอามาไหว้หมด

แต่บางที่บางคนถือเรื่องชื่อของผลไม้ เป็นต้นว่า ไม่ไหว้ด้วยมะม่วง เพราะมะม่วงมีชื่อในภาษาฮกเกี้ยนว่า “ส่วยอ่า” ไปพ้องกับคำว่า “ซวย” นั่นแหละครับ

ส่วนที่ไต้หวันก็ไม่นิยมไหว้พระด้วยน้อยหน่า เพราะน้อยหน่าออกเสียงว่า “เซ็กเกีย” พ้องกับ “เซ็กเกีย” ซึ่งจีนถอดมาจากคำสันสกฤต “ศากยะ” ในพระนามพระพุทธะศากยมุนีนั่นเอง เท่ากับว่าไม่เคารพ

ส่วนคนจีนโพ้นทะเลในบ้านเรา บางครั้งก็เอาคติพื้นบ้านไทยๆ เข้าไปปะปน เช่น ไม่นิยมไหว้พระด้วยผลไม้มีหนาม แต่ผมเห็นเองว่าหลายศาลเจ้าและวัดจีนชอบถวายทุเรียน

คิดขำๆ ว่าทุเรียนคงไม่ได้เป็นที่นิยมแต่กับคน เทพเจ้าจีนก็คงโปรดด้วยกระมัง

หรือผลไม้ชื่อไม่เป็นมงคลอย่างไทยๆ ละมุด มังคุด ฯลฯ ก็ไม่ค่อยนำไปไหว้ แต่อันนี้ไม่ได้เป็นข้อห้ามของทางจีนเขาครับ ก็มันคนละภาษา

ส่วนผลไม้ที่จัดว่าเป็นมงคลก็ด้วยชื่อของมันเช่นกัน เช่น สับปะรดที่จีนฮกเกี้ยนเรียก “อ่องหลาย” หมายถึงโชคลาภมาถึง ส้ม คือเกี๊ยด (หรือก๊าม) หมายถึงสิริมงคล ส่วนแอปเปิลก็เรียกว่า “เป่งโก๊” พ้องกับ “เป่งอ๊าน” คือสงบสุขปลอดภัย เป็นต้น

 

จํานวนชนิดของผลไม้ก็เป็นสิ่งที่มีคติความเชื่ออยู่ คนจีนมักไหว้ผลไม้สามชนิดเป็นอย่างน้อย (แต่ถ้าไม่มีจริงๆ ไหว้เพียงส้มจานเดียวก็ได้) แต่ในเทพยพิธีหรือเทศกาลสำคัญต้องไหว้ด้วยผลไม้ห้าชนิด หากมีเนื้อสัตว์บวงสรวง (เส่งเล้) ก็จัดตามจำนวนของผลไม้ ผลไม้สามเนื้อสัตว์ก็สาม (ซำเส่ง) ผลไม้ห้าเนื้อสัตว์ก็ห้า (หง่อเส่ง)

บางท่านว่า ในกรณีบรรพบุรุษจะไหว้ผลไม้และเนื้อสัตว์สามหรือห้าขึ้นอยู่กับผู้ตายมีสถานะอย่างไร คือถ้าเป็น “ผีใหม่” ตายยังไม่ครบสามปี สถานะยังไม่ได้เลื่อนขึ้นเป็น “เทพบิดร” หรือเทพบรรพชน จึงไม่สามารถไหว้ด้วยผลไม้ห้าอย่างได้ เพราะศักดิ์ยังไม่ถึง ต้องให้เป็นเทพเสียก่อนจึงจะไหว้ห้าอย่างได้ อันนี้ก็เป็นความเชื่ออีกแบบหนึ่ง

ส่วนวัดฝ่ายมหายานหลายแห่งนิยมตั้งผลไม้สี่อย่างบูชาพระ เพราะผลไม้สี่อย่าง (ซู่โก้) ไปพ้องกับคำว่า “อริยสัจสี่” พอดี เป็นคตินิยมเฉพาะทางพุทธศาสนา

จำนวนผลที่ใช้ตั้งไหว้ก็มีนัยสำคัญเช่นกัน พิธีกรรมตามปกติจะตั้งไหว้ด้วยจำนวนคี่ซึ่งนิยมห้าผลเป็นหลัก แต่หากเป็นงานมงคลก็นิยมเป็นตั้งเป็นจำนวนคู่ เพราะคนฮกเกี้ยนมีคติว่า “มงคลดีไม่มาเดี่ยว ให้มาเป็นคู่ๆ” (ฮกโบ๋ตั๋วหลาย เซียงเซี้ยงตุยตุ่ย)

งานมงคลหมายถึงวาระโอกาสที่เป็นการเฉลิมฉลองด้วยความชื่นชมยินดี เช่น งานแซยิดหรือวันเกิดของเทพเจ้า วันเกิดของเจ้าของบ้าน ทีก้องแซหรือวันประสูติของฟ้า ตรุษจีน แต่งงาน ฯลฯ

จำนวนคู่ในที่นี้ก็มีข้อกำหนดลงไปอีก คือจะเริ่มด้วยสองผล แต่จะเว้นจำนวนสี่ผลแล้วข้ามไปหกผลเลย เหตุที่ไม่นิยมตั้งไหว้ “สี่” (ซู่, สี่) ผลเพราะมันฟังคล้ายคำ “ซี้” ที่แปลว่าตาย

 

กระนั้น อาจารย์ของผมท่านก็ว่า เรื่องนี้มีข้อยกเว้นเฉพาะในพิธีแต่งงาน ซึ่งนิยมใช้ผลไม้และของไหว้จำนวนสี่ เพราะคำว่าสี่มันก็ไปพ้องกับคำว่า “ฮี่” (สี่หรือฮี้) ที่แปลว่าวาสนาหรือความยินดีด้วยเช่นกัน และเป็นคำที่นิยมในงานแต่งงานโดยเฉพาะ

ดังเราจะเห็นอักษรมงคลที่ติดในงานแต่งงานคือคำว่า “ซวงสี่” หรือ “ซังฮี่” (อันเดียวกับชื่อสะพานซังฮี้นั่นแหละครับ) หมายถึงวาสนาคู่ มงคลคู่ ความยินดีทบทวี แม้แต่เนื้อสัตว์บวงสรวงก็ใช้สี่อย่าง และต้องมีไก่กับเป็ดคู่กัน (ซึ่งโดยปกติทางบ้านผมไม่นิยมใช้เป็ดไหว้เจ้า) นัยว่าเป็นตัวแทนของบ่าวสาว แต่บางท่านบอกว่าคงใช้แทนนกเป็ดน้ำซึ่งเป็นของในพิธีแต่งงานมาตั้งแต่สมัยโบราณของจีน

แม้แต่การจัดเรียงผลไม้ก็มีความหมายแฝงอยู่ด้วย ปกติผลไม้สักการะมักจัดจานหรือพานแยกแต่ละชนิด มีบ้างที่จัดใส่รวมกันแต่ก็เป็นวิถีแบบชาวบ้านหรือสำหรับไหว้บรรพชน ถ้าเป็นไปตามพิธีการจริงๆ ก็ควรจัดแยกโดยเฉพาะการไหว้เทพเจ้า

การจัดวางจานผลไม้ตามชนิดนี้ หากเราหันหน้าเข้าแท่นบูชา ให้วางแอปเปิลอยู่ทางขวา ส้มอยู่ทางซ้าย มีผลไม้อื่นอยู่ตรงกลางหนึ่งและที่ริมด้านข้างอีกสองชนิด

โบราณเห็นว่านี่เป็นการเรียงเพื่อให้กลายเป็นคำอวยพร (เหลี่ยนตุ่ย) ตามชื่อของผลไม้ วิธีอ่านแบบจีนโบราณคือขวาไปซ้าย ดังนั้น แอปเปิล (เป่งโก้) ด้านขวาก็แทนวลี “เป่งอ๊าน” และส้ม (เก็ด, เกี๊ยด) แทนวลี “ไต่เกียด” กลายเป็นคำอวยพรว่า “เป่งอ๊าน ไต่เกียด” คือ “สงบสุขี มีมหามงคล”

พอผมได้รู้เรื่องเหล่านี้ในครั้งแรกก็ได้แต่อุทานว่า โอ้โห คนสมัยก่อนเขาละเอียดกันขนาดนี้เชียวหรือ เราซึ่งเป็นเจ๊กปลายแถวไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลย พอจะรู้แค่ว่าเขานิยมใช้ผลไม้อะไรไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคลเท่านั้น

อาจารย์ณัฐนนท์เห็นว่า อันที่จริงผมจะไม่ทราบเรื่องลึกๆ พวกนี้ก็ไม่แปลก เพราะความรู้เช่นนี้มีผู้รู้น้อยลงเรื่อยๆ ยิ่งในปัจจุบันที่เน้นความสวยงามหรูหรา หรือมีผู้รู้ต่างๆ ออกมาบอกให้ไหว้อย่างนั้นอย่างนี้ทุกปี ของเดิมเลยค่อยๆ เลือนกลายและหายไป

 

ขนบธรรมเนียมเช่นที่เล่ามานี้ บางคนอาจคิดว่ายุ่งยากซึ่งรังแต่จะพาลให้ไม่อยากทำพิธีกรรม เพราะมีรายละเอียดหยุมหยิมที่ต้องจดจำ ที่จริงระเบียบวิธีเหล่านี้ไม่ใช่ข้อบังคับแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ทำก็ไม่ตายหรือเกิดความวิบัติฉิบหายแต่อย่างใด ทว่าเป็นความหมายแฝงที่คนโบราณท่านคิดเอาไว้แต่เก่าก่อน

ดังนั้น ใครใคร่จะรักษาความหมายแห่ง “ลมหายใจ” ทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไว้ ก็ค่อยๆ เรียนรู้ฝึกฝนไป ใครจะถือเอาคติอื่นใดใหม่ ถ้าคิดว่าดีพอๆ กันหรือดีกว่าก็ทำตามที่ตนถือ หรือหากเห็นว่าปราศจากประโยชน์เสียแล้วก็ยกเลิกไปได้

นิ้วกลมเพื่อนของผมเคยบอกว่า เห็นป๊าของตนกราบไหว้บรรพชนทุกเทศกาล แต่ตัวเขาเองก็ไม่ได้อินอะไรด้วย ยังไปถามป๊าอีกว่าทำไมเราต้องไหว้ไก่ต้ม เราไหว้ไก่ทอดเคเอฟซีแบบง่ายๆ ได้ไหม คือรู้สึกเรื่องเหล่านี้เป็นภาระพอสมควรในการจัดการเตรียมทุกเทศกาล เขายังนึกต่อไปอีกว่า ถ้าหมดรุ่นป๊าแล้วก็คงไม่ได้ปฏิบัติประเพณีนี้ต่อไปอีก

ผมเลยบอกเขาไปว่า บรรพชนที่ป๊าเค้ากราบไหว้ก็พ่อแม่ปู่ย่าเขา เขาทันและผูกพัน เราคนรุ่นหลังอาจไม่ทันไม่ได้ผูกพันแล้ว เราเลยเฉยๆ และไม่อิน แต่ลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าเป็นป๊าเป็นแม่เราเองเราจะอยากเซ่นไหว้ไหม หลายบ้านก็เป็นอย่างนี้ คือเมื่อไหว้ไปยังรุ่นปู่ย่าตาทวดที่ตนไม่รู้จัก ก็เลยรู้สึกเฉยๆ และเห็นเป็นภาระ แต่สำหรับคนที่ผูกพันกัน การเซ่นไหว้ก็นับว่าเป็นหนทางในการสัมพันธ์กับคนที่เรายังรักและคิดถึงอยู่ โดยที่เขาจากไปแล้ว

อีกทั้งระเบียบวิธีเหล่านี้ ในอีกทางคือการฝึกชาวบ้านให้รู้จัก “ขนบจารีต” (หลี่) ในวิธีคิดแบบหยูหรือขงจื่อ ทำให้คนเล็กคนน้อยกลายเป็น “วิญญูชน” ด้วยความเอาใจใส่ต่อรายละเอียดพิธีกรรมเหล่านี้

 

ผลไม้ในพิธีกรรม เมื่อเซ่นไว้เสร็จก็ถือเป็นของดีมีสิริมงคล มักนิยมมอบให้ญาติมิตรดั่งคำอำนวยพร บ้างครั้งเวลาไปศาลเจ้า คนทรง (กี่ต๋อง) ก็จะมอบผลไม้ให้ หรือเวลาที่ขบวนเทพเจ้าออกแห่ (อิ้วเก้ง) เทพเจ้าก็จะประทานพรโดยการมอบผลไม้ให้เช่นกัน

สมัยที่ผมเข้าพิธีแต่งงาน ช่วงบ่ายวันนั้นเราต้องไปไหว้เทพที่ศาลเจ้าต่ายเต่เอี๋ยในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนและวงศ์ตระกูล เราเตรียมผลไม้และของอื่นๆ ไปถวายเพื่อขอพร

เมื่อเราทำพิธีซึ่งมีขั้นตอนหลายอย่างเสร็จสิ้น ผู้ดูแลบอกว่าเทพเจ้าท่านจะให้พรแล้ว คนอื่นๆ ไม่ให้จับโต๊ะวางของไหว้ แต่ให้บ่าวสาวอธิษฐานแล้วหยิบผลไม้พร้อมกันได้เลย ขั้นตอนนี้คล้ายจะเป็นการเสี่ยงทายสนุกๆ ด้วย คือทั้งสองจะใจตรงกันแล้วคว้าผลไม้ลูกเดียวกันไหม ผมและเจ้าสาวต่างยื่นมือไปคว้าผลไม้ได้คนละลูก เป็นอันว่าใจไม่ตรงกัน แต่รักกันดีมาจนบัดนี้

นอกจากผลไม้ ยังมีของเซ่นไหว้และข้าวของอื่นๆ อีกที่จะได้เล่าให้ฟังต่อครับ หากยังไม่เบื่อกันเสียก่อน

ก็ขอได้โปรดติดตาม •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง