ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ผี-พราหมณ์-พุทธ |
ผู้เขียน | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง |
เผยแพร่ |
ชีวประวัติของนักบุญแห่งอินเดียที่ได้เขียนขึ้นนี้ อาจพอจะแบ่งเหล่านักบุญออกได้เป็นสี่กลุ่มใหญ่
คือ นักบุญที่เป็นนักปรัชญาหรือเจ้าสำนักทางศาสนา โดยเฉพาะในสายเวทานตะซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ราวคริสตศตวรรษที่หก อันได้แก่ ท่านอาทิศังกราจารย์, ยมุนาจารย์, รามานุชาจารย์, มาธวาจารย์, วัลลภาจารย์ และไจตันยาจารย์หรือไจตันยะ มหาปรภู
ทุกท่านข้างต้นล้วนเป็นนักวิชาการ คือมีงานนิพนธ์ของตนเองตามขนบปราชญ์ในสมัยนั้น เช่น ภาษยะหรืออรรถกถาคัมภีร์สำคัญอย่างอุปนิษัท ภควัทคีตาและพรหมสูตร รวมกับงานอธิบายหลักปรัชญาหรือกวีนิพนธ์และบทสรรเสริญอีกจำนวนมาก
ผลงานดังกล่าวถูกรจนาขึ้นในภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาชั้นสูงเกือบทั้งหมด และทุกท่านมีภูมิหลังมาจากครอบครัวพราหมณ์ที่ได้รับการศึกษาอย่างดีเยี่ยม ตลอดจนมีกิจกรรมหลักอันหนึ่งในชีวิตคือการ “ดีเบต” หรือวิวาทะกับแนวคิดอื่น
แม้จะไม่ได้ท้าทายธรรมเนียม วรรณะ ขนบปฏิบัติ หรือเสนอการปฏิรูปสังคมอย่างถึงแก่นมากนัก กระนั้นหลักปรัชญาอันซับซ้อนของท่านเหล่านี้ เช่น แนวคิดเรื่องความจริงสูงสุดที่เป็นนามธรรม (นิรคุณพรหมัน) หรือแนวคิดเรื่องพระเจ้าหนึ่งเดียว ได้ส่งอิทธิพลต่อนักบุญในยุคหลัง ซึ่งแบ่งออกเป็นสายนิรคุณ (นามธรรม) เช่น นักบุญกพีร์ หรือสายสคุณ (พระเจ้าแบบบุคคล) ที่เน้นพระวิษณุและอวตารของพระองค์
เราจึงอาจกล่าวได้ว่า อิทธิพลของนักบุญ-นักปรัชญาต่อชาวบ้านมักเป็นในทางอ้อม คือถูกย่อยแล้วแทรกซึมผ่านบทกวีและเพลงของนักบุญรุ่นหลังอีกทอดหนึ่ง เพราะชาวบ้านที่มิใช่พราหมณ์ก็มิอาจเข้าใจภาษาสันสกฤตรวมถึงเนื้อหาปรัชญาที่ยากเกินไปได้ กระนั้นงานโดยตรงของปราชญ์เหล่านี้ก็เป็นที่นิยมมากของนักวิชาการและแวดวงการศึกษาระดับสูง
ในทางกลับกัน นักบุญเหล่านี้มิได้เป็นแค่นักปรัชญาหรือนักวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นนักบวชที่เคร่งครัดผู้เป็นเจ้าสำนักนิกาย กระทั่งหลายสำนักยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ข้อดีของการตั้งเป็นสำนักนิกายคือทำให้คำสอนไม่สูญหาย เพราะถูกห่อหุ้มไว้ด้วยความศักดิ์สิทธิ์และธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ แต่ความเป็นองค์กรใหญ่ที่ได้รับการจัดตั้งอย่างดี มีสาวกผู้นับถือมากและอิทธิพลต่อสังคมสูงจึงเสี่ยงต่อการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งภายในสำนักและภายนอก
ในปัจจุบัน บทบาทสำคัญอีกอย่างของสำนักเหล่านี้ คือการ “สืบทอด” ทางวัฒนธรรมและความเชื่อ ในฐานะที่เป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ที่รอดเหลือจากประวัติศาสตร์อันยาวนาน ส่วนรูปแบบทางวัฒนธรรมหรือขนบปฏิบัติได้ถูกเชิดชูให้กลายเป็นอัตลักษณ์ของอินเดียและฮินดูอันน่าภูมิใจ แต่เราก็อาจตั้งคำถามถึงสภาวะหน้าที่ของนักบวชและผลกระทบที่มีต่อสังคมในวงกว้างได้ด้วย
กลุ่มที่สอง คือนักบุญในขบวนการภักติ (Bhakti movement) ขบวนการนี้เริ่มขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่หกหรือเจ็ดโดยประมาณ จากกลุ่มนักบุญสองกลุ่มในดินแดนอินเดียใต้ คือ อาฬวาร์ (Alvar) ซึ่งเป็นผู้ภักดีในพระวิษณุ และกลุ่มนายันมาร์ (Nyanmar) ผู้ภักดีในพระศิวะ
อาฬวาร์มีจำนวนทั้งสิ้นสิบสองท่าน ส่วนนายันมาร์มีถึงหกสิบสามท่าน สิ่งที่มีร่วมกันของทั้งสองกลุ่มคือ โดยมากนักบุญเหล่านี้เป็นกวีและมีบทประพันธ์ทางศาสนาในภาษาถิ่น จึงเป็นเหตุให้คำสอนแพร่ไปในหมู่ชาวบ้านได้ง่ายกว่าคำสอนของปราชญ์ในภาษาสันกฤต
ที่จริงการนิยมนับถือมหาเทพทั้งสองเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของศาสนาฮินดูหลังยุคพุทธกาล หรือที่เรียกว่ายุคมหาเทพ ซึ่งพระศิวะและพระวิษณะมีความสำคัญขึ้นมามากกว่าปวงเทพดั้งเดิมในพระเวท บวกกับการที่บรรดากษัตริย์ต่างๆ ในอินเดียภาคใต้ยอมรับนับถือเทพทั้งสองผิดแผกกันออกไปและมีการแข่งขันกันอยู่ในทีหรือถึงกับเข่นฆ่ากันก็มี
ดังนั้น แนวคิดภักติจึงเข้มข้นมากในนิกายที่นับถือเทพทั้งสองนี้ ทั้งๆ ที่แนวคิดนี้ก็มีปรากฏในนิกายที่นับถือเทพองค์อื่นๆ ด้วย
นอกจากนักบุญทั้งสองกลุ่มที่เป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการภักติแล้ว อีกกลุ่มที่สำคัญมากคือบรรดานักบุญขบวนการภักติในแคว้นมหาราษฎร์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองปัณฑรปุระ อันมีพระวิโฐพาเทพเจ้าที่สัมพันธ์กับพระกฤษณะสถิตอยู่
นักบุญเหล่านี้แม้จะมีชีวิตในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งยังใช้ชีวิตในแถบถิ่นเดียวกันแล้ว แต่กระนั้นก็มาจากภูมิหลังที่แตกต่างกันอย่างมากมาย เพศ วัย สถานทางสังคม มีทั้งพราหมณ์ไปจนถึงจัณฑาล คนงานก่อสร้าง ช่างปั้นหม้อ คนรับใช้ แม่บ้าน นักบวช ฯลฯ
เพราะความแตกต่างอย่างมากเช่นที่ว่านี้เอง จึงนำไปสู่แก่นสารสาระของขบวนการภักติ คือความเท่าเทียมกันของมนุษย์ในสายตาของพระเจ้า ผ่านทางความรักภักดีที่พวกเขามีต่อพระองค์
ดังนั้น ความภักดีได้กลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการยืนยันคุณค่าของมนุษย์ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ระหว่างเขากับพระเจ้า ซึ่งมิอาจถูกแบ่งแยกได้ด้วยค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมใด
อาวุธที่ทรงพลังของนักบุญเหล่านี้ในการเผยแผ่ความคิด การท้าทายความเชื่อและค่านิยมเดิมของสังคมคือ “บทกวี” ที่ถ่ายทอดเป็นบทเพลง อันจะถูกขับขานแม้แต่ในบ้านของคนไม่รู้หนังสือ เพราะเป็นของขวัญแห่งความทรงจำจากพ่อแม่ไปยังลูก จากปู่ย่าตายายไปยังหลาน
บทกวีเหล่านี้แพร่ขยายออกไปอย่างช้าๆ ผ่านการ “เดินเท้า” ที่เหล่านักบุญพากันร่อนเร่ดุจวณิพกและนกจร ด้วยภารกิจเยียวยาความบอบช้ำของผู้คนที่ถูกกระหน่ำตีด้วยการกดขี่ในหลากรูปแบบและนำความหวังจากพระเจ้ามาสู่ชีวิต
การเดินเท้าที่ไม่รู้จบสิ้นได้นำสารจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งไม่เพียงมีแต่คำสอนที่สำคัญไปสู่ผู้คน แต่ยังทำให้เกิดกลุ่มก้อนของผู้ติดตามนักบุญ ขยายกลายเป็นนิกาย “วารกรี” ที่มีผู้นับถือนับล้านในปัจจุบัน ขบวนการภักติในแคว้นมหาราษฎร์จึงก่อรูปขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ช้าๆ ทีละนิด
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น บทประพันธ์และตำนานชีวิตของนักบุญในแคว้นมหาราษฎร์ ยังแสดงให้เห็นแนวคิดที่แปลกใหม่ แหวกแนว ทว่ากระทบและสั่นสะเทือนใจ คือความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าที่ต่างไปจากเดิมชนิดกลับตาลปัตร เพราะไม่เพียงมนุษย์ที่ต้องมีความรักภักดีและรับใช้พระเจ้าอยู่ฝ่ายเดียวเท่านั้น ทว่า ความรักและบทบาทดังกล่าวก็มีในตัวพระเจ้าเองด้วย
ตํานานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าผู้สูงส่งได้ลงมา “รับใช้” สาวกของพระองค์ในการงานที่ต่ำต้อยของพวกเขา รวมทั้งงาน “สกปรก” ที่ชนชั้นสูงรังเกียจ พระวิษณุผู้ได้ชื่อว่ารักความบริสุทธิ์สะอาดมากที่สุดในบรรดาเทพเจ้าฮินดู จึงกลายมาเป็นผู้สัมผัสมลทินโทษด้วยความเต็มใจเสียเอง
เหตุนี้ ตำนานอย่างที่ว่าไม่เพียงนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าในแบบใหม่ๆ ทว่า ยังตั้งคำถามกับนิยามแห่ง “ความบริสุทธิ์” ไปด้วยในตัว ความบริสุทธิ์จึงมิใช่สิ่งที่คนบางกลุ่มนิยามอีกต่อไป มิใช่เรื่องอาชีพและวิถีชีวิตบางลักษณะที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า หรือรูปแบบภายนอกที่สังคมชนชั้นสร้างขึ้นมา
คำตอบที่เด่นชัดของเรื่องนี้ คือจริงๆ แล้วความบริสุทธิ์เป็นคุณลักษณะของจิตใจรวมถึงการดำเนินชีวิตที่มีศีลธรรมอย่างแท้จริงเท่านั้น
“ตัวร้าย” ของตำนานนักบุญจึงมิใช่อสูรหรือภูตผีปีศาจตนใด ทว่า เป็นมนุษย์ด้วยกันเอง มนุษย์ผู้มีสถานภาพทางสังคมและอำนาจที่เหนือกว่า ผู้ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างโภคทรัพย์และสิทธิเศษของพวกพ้องตน คนเหล่านี้พร้อมจะใช้ข้ออ้างถึงความดี ความบริสุทธิ์ หรือบทบัญญัติตามคัมภีร์ ในการทำร้ายและกดขี่มนุษย์ด้วยกัน
แม้จะมีพราหมณ์อยู่ในขบวนการนี้ด้วย ถึงจะไม่มากนัก แต่นักบุญผู้เป็นพราหมณ์เองจำต้องไถ่ถอนความยึดมั่นที่มีต่อวรรณะของตนเองลงจนหมดสิ้น ความประพฤตินอกข้อกำหนดของวรรณะเดิมจึงเกิดขึ้นอย่างจำเป็น ด้วยเหตุนี้ นักบุญหลายคนผู้มีกำเนิดเป็นพราหมณ์ จึงมิอาจพ้นไปจากการลงโทษหรือการตำหนิติเตียนจากพราหมณ์ด้วยกันเองเช่นเดียวกับนักบุญวรรณะต่ำคนอื่นๆ
นักบุญผู้มีกำเนิดต่ำบางท่านยอมรับชะตากรรมโดยไม่ได้ท้าทายหรือต่อรองมากนัก แม้ในงานกวีนิพนธ์ของอีกหลายท่านก็ดูจะกราดเกรี้ยวน้อยกว่าที่ควรเป็น กระนั้นเราพึงเข้าใจบริบททางสังคมในยุคสมัยที่พราหมณ์มีสถานภาพสูงจนสามารถลงโทษถึงแก่ชีวิตกับบางคนได้ ว่าการท้าทายมีราคาที่ต้องจ่ายมากเพียงใด รวมทั้งการกล่อมเกลาทางสังคมที่คนเหล่านั้นเผชิญอยู่ตลอดด้วย
ขบวนการภักติของเหล่านักบุญในภาคเหนือหรือที่จริงคือภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย มิได้แยกขาดจากชบวนการในแคว้นมหาราษฎร์ อันที่จริงเราจะกล่าวว่าเป็นเครือข่ายโยงใยก็ได้ เพราะโดยที่ตั้งและความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม
ซึ่งมีความน่าสนใจอีกไม่น้อย •
ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022