ฉัตรสุมาลย์ : ไปพูดคุยกันเรื่องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

ไปพม่ามาหลายครั้ง แต่ทริปนี้ (4-7 สิงหาคม 2560) ต้องคุยว่า ได้รับการต้อนรับอย่างดีอย่างแขกรับเชิญผู้มีเกียรติจริงๆ

ตั้งแต่การติดต่อทางอีเมล์ก็ทำอย่างมืออาชีพ คุณอนุปมา ตัวแทนเจ้าภาพจากอินเดีย ชัดเจนในการทำงาน จะส่งข้อมูลที่เราต้องการโดยไม่ขาดตกบกพร่อง

พอใกล้เวลาเดินทาง เธอส่งชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของฝ่ายผู้เชิญที่เราจำเป็นต้องใช้เวลากรอกในเอกสารการเดินทางเข้าประเทศ

นอกจากนั้น ทางฝ่ายจัดการเรื่องการเดินทางก็ส่งการจองตั๋วเดินทางมาให้ดูก่อนว่า วันเวลาเดินทางเราพอใจไหม หากเราตกลงแล้ว เขาจึงจะออกตั๋วให้ในช่วงอาทิตย์สุดท้ายก่อนการเดินทาง

ทั้งนี้เพราะผู้เขียนเคยเจอประเภทเจ้าภาพส่งตั๋วมาให้เลยโดยไม่ถามความสะดวก ปรากฏว่า ออกตั๋วให้เดินทางเวลากลางคืน ถึงจุดหมายปลายทางเวลาตี 3 ผู้เขียนต้องเสียมารยาท ขอยกเลิกการเดินทาง เพราะเขาไม่ยอมออกตั๋วให้ใหม่

เรียกว่าการประชุมครั้งนี้ ได้ทีมงานมืออาชีพจริงๆ

 

เดินทางไปครั้งนี้ เราไปพูดคุยกันเรื่องสันติภาพ ความสมานฉันท์ และความปลอดภัย โดยมีเจ้าภาพสามฝ่าย

ฝ่ายพม่า คือ สีตากู สยาดอ อธิการบดี อคาเดมีพุทธศาสนานานาชาติ ท่านชื่อ ดร.อาชิน ญานนิสระ แต่ใครๆ เรียกท่านติดปากว่า สีตากูสยาดอ ฝ่ายพม่าดูแลเรื่องสถานที่

ส่วนทางอินเดียนั้น เป็นทีมทำงานดูแลการเชิญผู้เข้าร่วม และดูแลโปรแกรม หน่วยงานหลักคือมูลนิธิวิเวกนันทะนานาชาติ ทีมงานที่วิ่งไปวิ่งมาล้วนเป็นแขกอินเดียทั้งสิ้น

อีกทีมหนึ่ง ไม่ค่อยได้ลงมือทำงาน แต่น่าจะเป็นสปอนเซอร์หลัก คือมูลนิธิญี่ปุ่น จะมีตัวแทนมาตอนเปิดและปิดงาน

เมื่อมีผู้จัดหลัก 3 ประเทศ ถ้าจัดเวทีแบบอินเดียจะเดาได้เลยค่ะ ว่าเขาจะต้องเชิญรัฐมนตรีของทั้งสามประเทศมาในงานเปิดและปิดการสัมมนา

เจ้าภาพให้เราพักหรูทีเดียว อยู่โรงแรมสี่ดาว เรียกว่าโรงแรมกานดอจีแพเลซ อยู่ติดทะเลสาบ มีห้องพัก 195 ห้อง เป็นโรงแรมที่สร้างมาตั้งแต่ ค.ศ.1930 คุยว่าเป็นไม้สักทองทั้งหลัง

ดูการใช้ไม้เขาเหลือเฟือมาก ตัดต้นไม้ทั้งต้น มาทำเป็นเก้าอี้ทั้งตัว ทั้งที่นั่งและพนักพิงเป็นไม้ท่อนเดียวกันทั้งหมด อัศจรรย์ในความคิดว่า เขาไม่ประหยัดไม้เลย ต้นไม้ที่จะเติบโตมีความใหญ่ที่จะเป็นเก้าอี้ให้เรานั่งได้ อย่างน้อยก็ 40 ปีขึ้นไป

พม่ายังอุดมด้วยป่าไม้จริงๆ

 

จากโรงแรมที่เราพัก เดินทาง 45 นาทีก็ถึงอคาเดมีที่เราใช้เป็นที่ประชุม

เรานัดขึ้นรถบัสเวลา 7 โมงเช้า แต่กว่าจะได้ออกเดินทางจริงๆ ประมาณ 07.30 น. เพราะต้องรอรถที่จะนำอีกประมาณ 10 คัน เป็นรถของวีไอพี บรรดานักการเมืองและฝ่ายรัฐบาลของทั้งสามประเทศ มีรถมอเตอร์ไซค์ตำรวจเปิดสัญญาณนำไปตลอด

การเดินทางไปกลับเป็นแบบนี้ทั้งสองวันที่เราประชุมค่ะ

ในพิธีเปิดการประชุม เริ่มต้นจากการสวดมนต์แบบพุทธ ท่านสีตากู สยาดอ เป็นคนเริ่ม แต่ท่านจะบอกเราก่อนว่าจะสวดบทนี้ และเลือกสวดบทที่เถรวาททุกประเทศก็สวดเหมือนกัน

จากนั้น เป็นฝ่ายฮินดู พระในศาสนาฮินดูท่านยกทีมมาเลย สัก 8 รูปได้ ต่างๆ นิกายกัน แต่มาจากอารยสภาของฮินดู แม้จะต่างนิกายกัน แต่ท่านก็สวดโศลกที่มาจากพระเวทด้วยกัน

พิธีเปิดจะยืดยาวมาก ผู้นำของญี่ปุ่นและอินเดีย คือท่านนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ และท่านนายกรัฐมนตรี นเรนทร โมดี กล่าวเปิดประชุมผ่านคลิปวิดีทัศน์ เป็นการให้เกียรติแก่งานผู้ที่เกี่ยวข้อง

ที่ผู้เขียนใจจดจ่อมากคือ ทางฝั่งพม่านั้น จะเชิญ ออง ซาน ซูจี ด้วย แต่พอถึงวันจริง กลายเป็นตัวแทนของท่านมา ฝั่งญี่ปุ่นก็เป็นรัฐมนตรีมาเช่นกัน

หมดเวลาไปครึ่งวันเลยค่ะ ทีนี้ก็เกิดขยักขย่อนในเวลาอาหารเล็กน้อย นิมนต์พระฉันเวลา 11-12 น. ขณะเดียวกัน ให้ฆราวาสพักกินกาแฟ แล้วกลับมาประชุมต่อ จนถึงบ่ายโมง แล้วพักให้ฆราวาสกินอาหารกลางวัน แล้วเริ่มประชุมใหม่ตอนบ่ายสองโมง

การพักเวลาอาหารสองขยักแบบนี้ไม่เวิร์กนัก วันรุ่งขึ้นจึงขยับมาเป็น 11 โมง ถึงเที่ยงครึ่ง ทั้งสองกลุ่มกินอาหารเวลาเดียวกัน

ถ้าเป็นเมืองไทย เราไม่มีปัญหา อาจจะขยับของพระออกไป 11.30 น. ก็ยังทัน พระฉันช้าไปหน่อย แต่ก็ยังอยู่ในเวลา ในขณะที่โยมกินเร็วขึ้นหน่อย แต่ก็ไม่เร็วเกินไป เพราะคนไทยพักกินอาหารตอนเที่ยง

แต่คนจัดมาจากอินเดีย คิดไม่เป็น เพราะปกติเขากินอาหารกลางวันกันบ่าย 2 โมง จะให้เขาขยับขึ้นมากินก่อนเที่ยง เขารู้สึกว่าเร็วเกินไป

พอดีเจ้าภาพเป็นเถรวาทพม่าที่แสนเคร่ง ยืนยันว่า พระต้องฉันเวลา 11 น. เท่านั้น เราก็ได้เห็นความจำเป็นที่ต้องปรับตัว ในบริบทที่เรามีคนอื่นต่างชาติต่างวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง

งานประชุมจริงๆ มีเพียงสองช่วง คือ ช่วงบ่าย 2 โมง ถึง 5 โมงเย็น ของวันแรก และช่วงเช้าถึงบ่ายโมงของวันที่สอง บ่ายวันที่สอง ก็เป็นพิธีปิดที่เป็นทางการแบบพิธีเปิดเหมือนกัน

 

ในช่วงของการประชุมนั้น แบ่งเป็นสองห้อง ประชุมไปพร้อมๆ กัน

ห้องที่ 1 เป็นการประชุมโต๊ะกลม (แต่จริงแล้วจัดวางโต๊ะเป็นรูปสี่เหลี่ยม) ห้องนี้เฉพาะผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นพระผู้ชายทั้งของศาสนาต่างๆ 6 ศาสนา 33 คน มีพระผู้หญิงรูปเดียว ก็ท่านธัมมนันทานั่นแหละ

ทางฝั่งพุทธศาสนานั้น มีพระภิกษุจากเถรวาท ได้แก่ พม่า เขมร ศรีลังกา อินเดีย แอฟริกาใต้ เม็กซิโก และไทย พระมหายานมีพระจีนและเวียดนาม

พระทางฝั่งของวัชรยานมาจากอินเดีย และเนปาล เจ้าภาพให้ข้อมูลว่า มีผู้เข้าร่วมถึง 29 ประเทศ

ในอีกห้องหนึ่ง ห้องที่ 2 เป็นการเสนอบทความ ให้พูดคนละ 10 นาที ปรากฏว่า ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ มาร่วมด้วย ได้ทักทายกันตอนที่เบรกของว่าง เป็นอาจารย์ที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ด้วยกัน

ท่านก็นึกหน้าไม่ออกว่าท่านรู้จักภิกษุณีที่ไหน เมื่อไร ต้องรีบบอกชื่อเดิมท่านถึงจะพยักหน้ารับอย่างงงๆ

ท่านธัมมนันทาประชุมอยู่คนละห้องกับท่าน แต่ส่งลูกศิษย์ไปฟังและอัดเทปมาให้ ไม่ผิดหวังเลยค่ะ

 

ทีนี้กลับมาในห้องประชุมของผู้นำทางจิตวิญญาณ (spiritual leaders) ในห้องนี้ มีผู้ดำเนินรายการช่วยกัน 2 คน คือท่านธัมมสามี ทางฝ่ายพุทธ และท่านสวามีของท่านฝ่ายฮินดู

แต่เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมถึง 6 ศาสนา วันรุ่งขึ้นจึงเพิ่มผู้ดำเนินรายการอีก 2 คน คือบาทหลวงของคาทอลิก 1 ท่าน และผู้นำทางศาสนาอิสลามอีก 1 คน

มีผู้ดำเนินรายการถึง 4 คน เราก็กลัวว่าจะขัดแย้งกัน แต่แบ่งงานโดยให้ผู้ดำเนินรายการดูแลตามศาสนาของตน เช่น เมื่อท่านธัมมนันทายกมือขึ้น ท่านธัมมสามี ผู้ดำเนินรายการฝ่ายพุทธก็จะแนะนำและช่วยสรุปประเด็นที่พูด ทำให้การประชุมดำเนินไปด้วยดี

ทางฝั่งของศาสนาฮินดูนั้น มีท่านสวามีที่ท่านทำงานเชิงรุก ลงไปช่วยเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องน้ำและเรื่องการปลูกป่า

เมื่อท่านธัมมนันทาเล่าให้ฟังถึงงานของภิกษุณีที่พยายามเปลี่ยนค่านิยมของคนทำบุญว่า ไม่ใช่เรียกให้ญาติโยมทำบุญด้วยปัจจัยเท่านั้น แต่เอาขยะมาให้วัด ก็เป็นการทำบุญเหมือนกัน

ท่านสวามีรับลูกทันที เข้าใจว่าน่าจะมีการติดต่อกันเพื่อหาโครงการที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้อีกในอนาคต

งานประชุมเช่นนี้ ผลประโยชน์ที่ได้รับอย่างหนึ่ง นอกจากจะรู้ว่า ใครทำงานอะไร ที่ไหน และมีทีท่าอย่างไรแล้ว เราสามารถสร้างเครือข่ายงานต่อไปได้

 

ในฝั่งของพระฝ่ายเถรวาทนั้น เสียงที่มีอิทธิพลต่อการประชุม ดูเหมือนว่า ยังเป็นพระภิกษุจากศรีลังกา คือท่านโสภิตามหาเถระ นอกจากท่านจะได้เปรียบทางภาษาแล้ว ท่านมีพรรษาสูง มีความรู้และมีประสบการณ์ ทราบว่าท่านเคยเป็นสมาชิกรัฐสภาของศรีลังกาด้วย

สำหรับท่านธัมมนันทา ท่านใช้จังหวะเป็นผู้พูดก่อนเสมอ ท่านได้เสนอประเด็นที่ไม่มีศาสนาอื่นพูด คือเรื่องจุดเด่นของศาสนาพุทธที่ชี้ว่า จริยธรรมของกษัตริย์ผู้ปกครองส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ประเด็นนี้ ไม่ปรากฏในคำสอนของศาสนาอื่น

นอกจากนี้ ท่านยังยืนยันประเด็นที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเจตนารมณ์ให้พุทธบริษัททั้ง 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นผู้ร่วมกันรับผิดชอบพระศาสนา

ที่จำเป็นที่ต้องพูดถึงประเด็นนี้ เพราะท่านเป็นพระภิกษุณีรูปเดียว ท่ามกลางพระภิกษุและพระต่างศาสนาที่เป็นผู้ชายทั้งหมด 33 คน

คราวหน้าจะเล่าเรื่องเป้าหมายของการประชุมค่ะ