ผี พราหมณ์ พุทธ l ศาลครามศิลา : หินศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

 

ศาลครามศิลา

: หินศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู

 

วันที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ตรงกับวัน “กฤษณะชันมาษฏมี” หรือวันประสูติของพระกฤษณะ ซึ่งตรงกับแปดค่ำ (อัษฏมี) ผมนั่งดูไลฟ์สดของเทวสถานเทพมณเฑียรทางเฟซบุ๊ก เนื่องจากทางเทวสถานยังคงปิดไม่ให้มีผู้เข้าไปสักการะ

เทศกาลนี้อาจเรียกว่าเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบปีของวัดก็ได้ เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมมากที่สุด เรียกว่ายิ่งดึกคนยิ่งล้นออกมาจนถึงนอกอาคาร ทุกคนแต่งตัวสวยงาม มีทั้งเทศน์ ทั้งการแสดงและการร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน

ยิ่งใกล้เวลาเที่ยงคืนคนเยอะมากเป็นพิเศษ เพราะเขารอช่วงเวลาสำคัญคือช่วงเวลาประสูติของพระกฤษณะครับ

พระกฤษณะประสูติเที่ยงคืน ผิดกับพระรามที่ประสูติเที่ยงวัน เที่ยงคืนเป็นช่วงเวลาลึกลับแต่ก็รื่นรมย์ด้วยแสงจันทร์นวลตา ส่วนเที่ยงวันนั้นกระจ่างจ้าด้วยแสงอาทิตย์ พระกฤษณะจึงเหมือนดวงจันทร์รื่นรมย์รสรักลีลา ส่วนพระรามสว่างรุ่งเรืองด้วยคุณธรรมจรรยา เป็นสองด้านของพระเจ้าที่ต่างกัน

งานประสูติของพระกฤษณะจึงสนุกสนานบันเทิงเป็นที่สุด ช่วงเที่ยงคืนทางวัดก็จะมีการแสดงแสงสีเสียงเล็กๆ แสดงตำนานการประสูติของพระกฤษณะ แล้วจึงสักการะเทวรูป “พาลกฤษณะ” หรือ กฤษณวิราชมัน คือพระกฤษณะวัยเด็ก

ในปีนี้ผมเห็นพิธีภายในที่ต่างออกไป เพราะเมื่อถึงเที่ยงคืน คณะพราหมณ์ได้นำ “ศาลครามศิลา” หรือหินศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่งออกมาบูชา ซึ่งปกติในแต่ละปีมักบูชาที่เทวรูปอย่างย่อๆ

วันนี้จึงอยากเชิญชวนมาทำความรู้จักกับวัตถุศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างที่ชาวฮินดูนับถือกันมากครับ

 

คนฮินดูไม่ได้สักการบูชาแต่เทวรูป แม้ว่าธรรมเนียมการสักการะเทวรูปจะเป็นธรรมเนียมหลักของศาสนา ทว่าความจริงแล้วมีวัตถุศักดิ์สิทธิ์อีกมากที่ไม่ใช่เทวรูปที่เขาเคารพนับถือกันมาก

เฉกเช่นคนโบราณทั้งหลาย คนฮินดูนับถือธรรมชาติว่าศักดิ์สิทธิ์กว่าอะไร เพราะเทพโดยแท้ก็คือสภาวะทิพย์ของโลกธรรมชาติ ชาวฮินดูจึงเคารพต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ เรื่อยไปจนถึงก้อนหินดินทราย

มีเทวสถานบางแห่งอุทิศให้กับเทวรูปที่ธรรมชาติสรรค์สร้างขึ้น เช่น รูปพระคเณศที่เกิดจากโขดหิน พระศิวลึงค์ที่เป็นยอดเขาหรือหินที่มีลักษณะพิเศษ เทวรูปเหล่านี้เป็น “สวายัมภู” คือเกิดขึ้นเอง นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์กว่า บรรดาเทวรูปที่ มนุษย์ประดิษฐ์ คือคนสร้างขึ้น

ส่วนของวัตถุตามธรรมชาตินั้น เขานับถือหินและ “ฟอสซิล” หลายชนิดว่าศักดิ์สิทธิ์ครับ เช่น หินจากแม่น้ำนรมทาที่กลิ้งมาตามแม่น้ำจนกลมเกลี้ยง นับถือกันว่าเป็นพระศิวลึงค์ตามธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ มีขนาดตั้งแต่เท่านิ้วก้อยไปจนถึงใหญ่โต มักจะทำฐานโยนิเพื่อประดิษฐาน

ในเทวสถานเทพมณเฑียร (และวัดแขกสีลม?) พระศิวลึงค์ก็เป็นหินชนิดนี้ครับ ที่เทพมณเฑียรเรียกอย่างไพเราะว่า “พระนรมเทศวร” พระเป็นเจ้าแห่งแม่น้ำนรมทา

 

ในฝ่ายที่นับถือพระวิษณุ มีการบูชา “ทวารกาศิลา” ซึ่งคือซากของปะการังกลมที่มี “จักร” หรือรอยกลมๆ ตามธรรมชาติ รวมทั้งเปลือกหอยชนิดหนึ่งเรียกว่า “โคมตีจักร” เป็นเปลือกหอยแบนมีรอยกลมวนไปภายใน บางทีฝรั่งก็เรียกว่า “shiva eyes shell” (กลายเป็นตาพระศิวะไปซะงั้น)

แต่ทั้งสองอย่างนี้ จะถือว่าศักดิ์สิทธิ์ต้องมาจากแม่น้ำ “โคมตี” ในรัฐคุชราช ซึ่งติดกับทะเล

เหตุที่มี “จักร” คือร่องรอยตามธรรมชาติที่สะท้อน “สุทรรศนจักร” อาวุธของพระวิษณุ และยังอยู่ในแคว้นคุชราช หรือ “ทวารกา” ในตำนานอันเป็นเมืองของพระกฤษณะ อวตารสำคัญของพระวิษณุอีก จึงทำให้ของสองอย่างนี้เป็นที่นับถือในชาวไวษณวะ

ส่วน “ศาลครามศิลา” หรือ “ศาลิคราม” นั้น นับถือยิ่งไปกว่าสองสิ่งเบื้องต้นเสียอีก เพราะถือเป็นพระรูปปรากฏของพระวิษณุองค์เองที่ไม่ได้อยู่ในมนุษยรูป

ศาลครามศิลาเป็นหินสีดำ ภายในหรือด้านนอกปรากฏฟอสซิลของแอมโมไนต์ (ammonite) สัตว์ดึกดำบรรพ์ขนาดเล็กคล้ายหอย ในยุคเดโวเนียนถึงยุคครีเทเซียส (Devonian-Cretaceous) ตกราวสี่ร้อยถึงหกสิบล้านปีก่อน

เจ้าแอมโมไนต์เมื่อขดตัวอยู่นี่เองที่ผู้ศรัทธาเห็นเป็น “จักร” สัญลักษณ์สำคัญของพระวิษณุ แม้ว่าฟอสซิลแอมโมไนต์จะมีหลายที่ในโลก

แต่จะนับถือกันว่าเป็นศาลครามศิลาก็เฉพาะที่ปรากฏในแม่น้ำ “กาลี คัณฑกี” ในประเทศเนปาลเท่านั้น

 

ถ้าจะให้เปรียบเทียบ ชาวฮินดูนับถือศาลครามศิลา เหมือนชาวพุทธนับถือพระบรมสารีริกธาตุอย่างนั้นเลยครับ ปกติศาลครามจะประดิษฐานอยู่ทั้งในเทวสถานและในบ้านเรือนก็ได้ หากคนในบ้านเรือนนั้นสามารถปฏิบัติบูชาได้โดยมักประดิษฐานอยู่บนสิงหาสน์ หรือบัลลังก์ขนาดเล็กมีฉัตรหรือเครื่องสูงประกอบ

ตำนานความสำคัญของศาลครามมีปรากฏในปุราณะหลายเล่ม เช่น เทวีภาควัต, พรหมไววรตะ ฯลฯ ตำนานโดยย่อคือ พระวิษณุจำต้องมาเกิดเป็นศิลา ก็เพราะโดนสาปโดยนางตุลสี (พระลักษมี) เนื่องจากพระองค์ได้ละเมิดต่อนางเพื่อให้ทานพสังขจูฑะสามีของนางคลายจากพรที่ได้รับจากพระพรหม เพราะทานพตนนี้ไปรุกรานสวรรค์

เมื่อสาปพระวิษณุให้เป็นหินเพราะความเย็นชาเหมือนหินของพระองค์แล้ว พระแม่ลักษมีทิ้งร่างเดิมกลายเป็นแม่น้ำคัณฑกี ส่วนเกศาของพระองค์กลายเป็นต้นกะเพรา (คนฮินดูเรียกกะเพราว่าตุลสี) พระวิษณุจึงไปอยู่ที่แม่น้ำนั่นในรูปของหินและโดนแมลงชนิดหนึ่งคือ “วัชรกีฏะ” เจาะไชร่างของพระองค์ให้เป็นสัญลักษณ์จักรดังที่ปรากฏในศาลครามศิลานั่นแล

ในคัมภีร์ต่างๆ มีการกล่าวถึงศาลิครามในลักษณะต่างๆ ว่าสะท้อนอวตารและภาวะของพระวิษณุ เช่น นรสิงห์ เกศวะ ปัทมนาภะ ราม ฯลฯ ซึ่งบางคนก็นิยมแสวงหา ทำนองเดียวกับนักสะสมของ “ทนสิทธิ์” ในบ้านเราซึ่งมักชอบลักษณะที่แปลกๆ ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติ

เพียงแต่ทางฮินดูเขามีตำราจำแนกแจกแจงอิทธิคุณและลักษณะพิเศษของแต่ละแบบไว้ชัดเจน

 

หลายปุราณะกำหนดว่า ผู้จะจับต้องศาลครามได้จะต้องเป็นพราหมณ์ผู้ผ่านการสวมยัชโญปวีตแล้วเท่านั้น บางปุราณะก็กล่าวว่า สตรีทุกวรรณะไม่ควรจับต้องศาลคราม แต่คนในวรรณะอื่นๆ สามารถเป็น “ยชมาน” หรือเจ้าภาพผู้บูชาศาลครามได้

การบูชาพระวิษณุในโอกาสต่างๆ จึงนิยมบูชาศาลครามศิลามากกว่าเทวรูป สมัยท่าน อาทิ ศังกราจารย์ เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่หก ก็ได้ปรากฏการบูชาศาลครามแล้ว โดยหากบูชาตามแนวนิกายของท่านก็มักบูชาคู่กับหินชนิดอื่นๆ ซึ่งแสดงถึงพระเป็นเจ้าหลักอีกสี่องค์ที่เหลือ คือ พระศิวะ พระคเณศ เทวี และสุริยเทพ

การบูชาศาลครามนั้นมีของสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้คือใบกะเพรา ส่วนการสรงน้ำมีธรรมเนียมว่าจะใช้สังข์สรง ในช่วงหลังเทศกาลทีปาวลีไปแล้ว ก็จะมีพิธีแต่งงานระหว่างต้นกะเพรากับศาลครามศิลา เรียกว่าพิธีตุลสีวิวาหะ

การบูชาศาลครามเชื่อว่าให้ผลบุญมากมายมหาศาล ศาลครามแบบต่างๆ ก็ให้อิทธิคุณต่างๆ กันออกไป แต่โดยรวมกล่าวกันว่า การบูชาศาลครามครั้งเดียวมีผลใหญ่กว่าทำพิธีราชสูยะนับพันครั้ง

 

นอกจากการบูชาที่ให้คุณมากมายแล้ว ที่จริงการบูชาศาลครามออกจะเป็นเรื่องยุ่งยากเพราะมีข้อกำหนดมาก และอาจเกิดโทษบาปได้หากทำไม่เหมาะสม เช่น หากไม่บูชาในเทวสถานก็มักต้องเป็นบ้านพราหมณ์ที่มีความรู้ความสามารถ มีจำนวนที่กำหนดไว้ตามคัมภีร์อาจาเรนทุ คือไม่บูชาพระศาลครามในที่เดียวกันสององค์ เช่นเดียวกับโคมตีจักรและทวารกาศิลา จะมีจำนวนมากน้อยกว่านี้ก็ได้

นอกจากนี้ บางปุราณะยังบอกว่า หากซื้อ-ขายศาลครามศิลาจะตกนรก หรือหากถือไว้แล้วพูดปดหรือสบถสาบานแต่ทำไม่ได้ก็จะตกนรกเช่นกัน บางธรรมเนียมแม้ไม่มีในคัมภีร์แต่มักยึดถือกัน เช่น ผู้บูชาศาลครามต้องกิน “เทวประสาท” หรืออาหารที่ถวายศาลครามแล้วเป็นนิตย์ เป็นต้น

ที่เล่ามานี้ไม่ใช่เพื่อ “ชี้โพรงให้กระรอก” ให้คนไปปั่นราคาหาศาลครามมาขายกันนะครับ (แม้ว่าในบ้านเราจะมีชาวเนปาลนำศาลครามเข้ามาขายกันนานแล้ว) แต่เพื่อให้ได้ทราบธรรมเนียมที่มาของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่น่าสนใจในศาสนาฮินดู

เป็นทั้งประดับความรู้ และจะได้เห็นว่า ชาวฮินดูนั้นเขามองว่าพระเจ้าอยู่ในธรรมชาติจริงๆ

แม้ก้อนหินก็เป็นตัวแทนของพระเป็นเจ้าได้