ธรรมลีลา : มีอะไรใหม่ที่อินเดีย

ประสบการณ์ในอินเดียนั้นยาวนานมากสำหรับผู้เขียน กว่า 50 ปี แม้กระนั้น ไปคราวนี้ พ.ศ.2560 ก็ยังพบสิ่งใหม่ๆ ที่มาเล่าสู่กันฟังได้เสมอ

ครั้งล่าสุดผู้เขียนไปอินเดียกลางปี พ.ศ.2559 คราวนี้ไป สิ่งใหม่ที่พบคือ ธนบัตรค่ะ

คราวนี้ อินเดียออกธนบัตรใหม่ ใบละ 2,000 รูปี และใบละ 500 รูปี ของเดิม ใบละ 1,000 และ 500 ยกเลิกไป แต่ก่อนที่จะยกเลิก มีเวลาจัดการประมาณ 1 เดือน ผู้เขียนรีบส่งใบละ 1,000 และ 500 ที่มีอยู่ ไปให้อาจารย์ชาวอินเดียที่สนิทกัน โดยบอกว่าให้เป็นของขวัญกับลูกสาวของเขาสองคนให้ช่วยใช้แทนให้ที เพราะอยู่กับเราก็จะสูญค่าไปเปล่าๆ

คิดถึงใบละ 1,000 ค่ะ

คราวนี้ ใบละ 2,000 สีชมพูอมม่วง ขนาดยาวกว่าใบละ 500 ประมาณ 1 นิ้วฟุต ธนบัตรของอินเดีย ยังคงเป็นรูปของมหาตมะคานธี ไม่ว่าจะแบบใหม่หรือเก่า เพราะถือว่าท่านเป็นผู้วางรากฐานให้อิสรภาพแก่ประเทศอินเดีย

ด้านหลังของใบละ 2,000 เป็นรูปมงคลยาน คือยานอวกาศของอินเดีย แสดงถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ

ส่วนใบ 500 รูปี ด้านหลังเป็นรูปป้อมแดง สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของอินเดีย

ด้านหลังจะมีภาษา 14 ภาษาของอินเดียที่บ่งบอกว่า ธนบัตรนั้นราคาเท่าไร เขียนด้วยอักษรของภาษานั้นๆ

ที่ใหม่มากทางซ้ายล่างของธนบัตรคือ แว่นตาของมหาตมะคานธี ในวงแว่นตา เขียนว่า ภารตะ คือประเทศอินเดีย

ธนบัตรเก่ายังใช้ได้ทั้งหมด คือ ใบละ 100 รูปี 50 รูปี 20 รูปี และ 10 รูปี ด้านหน้าเป็นรูปมหาตมะคานธีหมด แต่ด้านหลังของใบละ 100 เป็นรูปภูเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของอินเดีย

คำว่า หิมาลัย คือ หิมะ + อาลัย แปลว่าที่อยู่ของหิมะนั่นเอง คือเป็นภูเขาที่มีหิมะปกคลุมตลอดปี

ด้านหลังของใบละ 50 เป็นรูปโลกสภา สถาปัตยกรรมเป็นอาคารทรงกลม อยู่ในเมืองหลวง คือกรุงเดลลี เป็นที่ที่ทำงานหลักของรัฐบาล

ด้านหลังของใบละ 10 รูปี เป็นรูปเสือกับช้าง บ่งบอกถึงความมีชื่อเสียงของอินเดียที่มีทั้งช้างและเสือ

ในสมัยพระนารายณ์ของไทย ก็มีการติดต่อซื้อขายช้างกับเมืองไทย สมเด็จพระนารายณ์ทรงรอบรู้ในคชศาสตร์ ศาสตร์ว่าด้วยการดูลักษณะช้างด้วยค่ะ

 

การเดินทางเที่ยวนี้ผู้เขียนไปประชุมที่ราชคฤห์ สิ่งใหม่ที่เห็นและเป็นความภาคภูมิใจของคนท้องถิ่น คือ การที่รัฐบาลกลางให้ความสนใจในพุทธสถาน และได้จัดสรรทั้งที่ดินและงบประมาณในการสร้างห้องประชุมนานาชาติที่ทันสมัยที่ราชคฤห์

มีที่นั่งด้านล่าง 1,300 ที่ เพื่อให้ตอบรับกับการที่พระพุทธองค์แสดงธรรมโปรดพระอรหันต์ 1,250 รูปที่นั่น เมื่อวันมาฆบูชา ชั้นสองยังมีที่นั่งได้อีกหลายร้อยคน

ท่านอาจารย์พระครูปลัด ดร.วิเชียร ไปจับจองที่ดินสร้างวัดไทยศิริราชคฤห์มานาน 24 ปีแล้ว ท่านเองมีความฝันอยากให้มีห้องประชุมที่ชาวพุทธจะมาประชุมกันได้จำนวนมาก ก็ปรากฏว่า รัฐบาลกลางก็ให้การสนับสนุน ทำให้ความฝันของท่านเป็นจริง

ทัวร์ไทยเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ต้องมาจากพุทธคยา เยี่ยมชมสถานที่สำคัญ เริ่มต้นจากขึ้นเขาคิชฌกูฏ เพื่อแดดจะได้ไม่ร้อน แล้วมาชมคุกพระเจ้าพิมพิสาร บ้านของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ชมตโปธาร และสัตตบรรณคูหา ที่พระสงฆ์ 500 รูปประชุมปฐมสังคายนา แล้วไปแวะชมมหาวิทยาลัยนาลันทามหาวิหาร มหาวิทยาลัยที่เลื่องชื่อในสมัยหนึ่ง ก่อนที่จะรีบตีรถกลับไปนอนที่พุทธคยา

สถานที่สำคัญทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติอยู่ในดินแดนรัฐพิหาร ในดินแดนที่พระเจ้าพิมพิสารเป็นกษัตริย์ปกครอง โดยมีเมืองหลวงที่ราชคฤห์

ด้วยนัยยะเช่นนี้ รัฐบาลกลางมีข้อมูลจากการท่องเที่ยวว่า แหล่งนี้เป็นแหล่งที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศอินเดียอย่างยิ่ง การพิจารณาจัดสรรที่ดินและงบประมาณก้อนใหญ่ที่สร้างหอประชุมนี้ จึงเป็นความชาญฉลาดของรัฐบาลกลาง

มุขมนตรีของรัฐพิหาร คนปัจจุบันคือ นายนิติชกุมาร เป็นนักการเมืองที่มีความช่ำชองในข้อดีข้อเด่นในรัฐที่อยู่ในความปกครอง เป็นคนที่สมควรได้รับการยกย่อง

อาคารที่ว่านี้ เนื่องจากเป็นของรัฐบาล ใครจะขอมาใช้ก็ได้ค่ะ

ภายในติดแอร์ทั้งหมด ระบบเสียง และระบบการฉายวีดิทัศน์และภาพยนตร์ คุณภาพชั้นหนึ่งทีเดียว

ต้องยอมรับว่าประทับใจมาก นึกอุทานในใจดังๆ ว่า แขกเจ๋งจริง

 

จากราชคฤห์ ผู้เขียนบินเข้ามาที่เดลลี และมาพักเพื่อรอเข้าร่วมประชุมอีกที่หนึ่งซึ่งห่างกันเพียง 4 วัน เลยเลือกที่จะพักอยู่ในอินเดีย แทนที่จะบินกลับไป และต้องบินกลับมาอีกภายใน 2 วัน

สิ่งใหม่ที่พบในอินเดียคือบริการทางการแพทย์ค่ะ เมื่อมาอินเดียแล้วท่านธัมมนันทาถือโอกาสตรวจเช็กร่างกายไปด้วย ครั้งแรกไปหาหมอที่ มาโซนิค โพลิคลินิก ที่ถนนชนบาท ที่เรียกว่า จันปัธ แหล่งช้อปปิ้งของบรรดาทัวร์ คลินิกแห่งนี้มีกลุ่มมาโซนิกเป็นเจ้าของและเป็นผู้จัดการ

กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นในพระเจ้า ไม่สังกัดว่านับถือศาสนาใด เขาเชื่อว่าทำงานทุกอย่างเพื่อถวายพระเจ้า

ผู้เขียนเองก็เพิ่งเคยรู้จักคราวนี้ จะขอเล่าถึงกลุ่มมาโซนิกในโอกาสต่อไป คราวนี้ตั้งใจจะเล่าถึงความประทับใจในบริการทางการแพทย์ค่ะ

 

เนื่องจากเดินทางมาโดยไม่มีประวัติการรักษา ก็เลยต้องตรวจเลือด ดร.อมรชีพจัดการให้ใช้บริการตรวจ 107 อย่าง ราคา 7,000 รูปี แต่อยู่ในช่วงของโปรโมชั่น เสียเพียง 1,600 รูปี (บาทละ 2 รูปี) แล้วยังมีบริการมาเก็บตัวอย่างเลือดถึงโรงแรมที่พัก

ต้องบอกว่า ประทับใจค่ะ

นึกถึงความยากลำบากของการขึ้นรถออโต้ คือรถตุ๊กตุ๊กไปโรงพยาบาล เข้าคิวเพื่อตรวจเลือด ทั้งต้องอดอาหารไปด้วย กว่าจะถึงคิวเจาะเลือด พอดีเป็นลม

เรามีนัด 08.15 น. ท่านธัมมนันทาเตรียมตัวให้ลูกศิษย์ไปสั่งที่เคาน์เตอร์โรงแรมไว้ว่าถ้าเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลมาให้ส่งขึ้นมาที่ห้องพักได้เลย

มาถึงจริงๆ 09.15 น. ไม่ว่ากัน อุปกรณ์ทุกอย่างอยู่ในเป้ที่สะพายมาข้างหลัง ท่านธัมมนันทาทำใจเตรียมเจ็บตัว เขาเตรียมหลอดใส่เลือดมา 4 หลอด อึ๋ยยย

เริ่มต้นจากการรัดสายยางที่ต้นแขนเพื่อหาเส้นเลือด ท่านธัมมนันทาบอกเขาว่าท่านถนัดซ้าย เส้นเลือดทางซ้ายจะหาง่ายกว่า เขาก็ยังอยากทดลองเส้นตรงข้อพับทางขวา แทงเข็มแล้วถอยกลับ แทง ทางซ้าย ถอยกลับอีกทีแทงทางขวา ไม่ได้แน่ๆ แล้ว เอาเข็มออก เอานิ้วกดบนสำลีเพื่อหยุดเลือด สักครู่เอาปลาสเตอร์ปิดแผลเป็นรูปกลมๆ เท่าเหรียญห้าปิดไว้

คราวนี้มาหาทางแขนซ้าย ทั้งตบทั้งตี ทั้งให้งอข้อมือกลับไปกลับมา ท่านธัมมนันทาท่านเป็นคนไม่มีเส้น

ชายหนุ่มที่เป็นเจ้าหน้าที่มาเก็บตัวอย่างเลือดนี้ ชื่อซันดีพ ไม่น่าจะเป็นอินเดียทางเหนือ เพราะผิวคล้ำมาก นั่งดูเขาทำงาน สังเกตว่า เขามีนิ้ว 11 นิ้วค่ะ หัวแม่โป้งข้างซ้ายมีสองนิ้ว ช่วยกันทำงาน

ในที่สุดเส้นที่ได้เป็นเส้นใต้ข้อมือทางนิ้วก้อยค่ะ พยาบาลเมืองไทยไม่เคยใช้เส้นนี้ แทงทีเดียว ขยับครั้งเดียวได้เลือดเลย เอาหลอดที่เตรียมไว้มารอง ทำด้วยความชำนาญ ได้ไป 4 หลอด โดยไม่มีปัญหา

ที่ว่าไม่มีปัญหานี้ เพราะท่านธัมมนันทาท่านเป็นคนขี้เหนียว เวลาเจาะเลือดท่านก็มักขี้เหนียว เลือดไม่ค่อยออก เพราะเลือดข้น คราวที่ไปตรวจเลือดที่อินโดนีเซียเมื่อเดือนก่อน พยาบาลต้องทั้งนวดและตบตีเพื่อจะได้ดูดเลือดได้

ซันดีพเขียนชื่อเจ้าของบนสติ๊กเกอร์ที่เตรียมมา ติดบนหลอดทั้ง 4 หลอด และกระปุกพลาสติกที่สำหรับใส่ปัสสาวะด้วย เพื่อมิให้เกิดความผิดพลาด

ปรากฏว่า ก่อนจะมาถึงท่านธัมมนันทา ซันดีพเก็บตัวอย่างเลือดมาแล้วสามแห่งจึงจะมาถึงเรา

ประทับใจในความชำนาญของมือแทงเข็มที่ทำให้ไม่เจ็บเลย

ค่าบริการถึงที่ บวกค่าบริการตรวจเลือด 107 อย่าง จ่ายไป 2,200 รูปี (1,100 บาท) รอ 48 ชั่วโมง เขาจะนำผลตรวจมาส่งถึงที่ และส่งทางอี-เมลให้ ดร.อมรชีพ เจ้าของไข้ด้วย บริการแบบนี้ เริ่มต้นจากบริษัทที่มุมไบประสบความสำเร็จ มีลูกค้ามาก จึงขยายกิจการมาที่เดลลี

สองวันถัดมา ได้รับผลการตรวจเลือดถึงมือ 20 หน้า ละเอียดมาก ตัวไหนสูงกว่าปกติ หรือต่ำกว่าปกติ จะมีอักษรย่อบอกว่า ต่ำไปหรือสูงไป

บริการนี้ประทับใจมากค่ะ

สังคมสมัยใหม่เป็นสังคมที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาก ลูกหลานที่ต้องไปทำงาน จะบริการพาพ่อแม่ไปเจาะเลือดนี้ ต้องลางานครึ่งวัน หรือทั้งวัน บริการแบบนี้ นับวันจะเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งกับสังคมผู้สูงอายุ

มาอินเดียแต่ละครั้ง ก็เป็นการเรียนรู้สิ่งที่แปลกใหม่ และมีประโยชน์เสมอ อินเดียยังคงเป็นแม่บทอารยธรรมตะวันออกเฉียงใต้คู่กับยักษ์ใหญ่อีกฟากหนึ่ง คือประเทศจีน

ประเทศไทยรับอารยธรรมมาทั้งสองฝั่ง แต่ยังไม่ค่อยไปถึงไหนนัก ยังพยายามอยู่ค่ะ