ศิลปกรรมฯ และ CIC DPU ขนงานออกแบบไปร่วมจัดแสดงในงานYDF 2024 ที่ Pier2 Art Center ไต้หวัน

เมื่อวันที่ 16-19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ผลงานนักศึกษาและศิษย์เก่า คณะศิลปกรรมศาสตร์ และ วิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้รับการคัดเลือกไปจัดแสดงในโซนนานาชาติ ณ ศูนย์ศิลปะท่าเรือเพียร์ทู หรือ Pier 2 Art Center ในงาน Youth Innovative Design Festival 2024 หรือ YDF 2024 ที่ไต้หวัน โดยนิทรรศการการออกแบบสร้างสรรค์สำหรับเยาวชนนี้เป็นเวทีแห่งการโชว์ของ และความคิดสร้างสรรค์ ผ่านรูปแบบการสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะและการออกแบบหลายแขนง เปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์รุ่นเยาว์จากทั่วโลกได้นำผลงานศิลปะและการออกแบบมาจัดแสดงร่วมกัน ในปีนี้มีผลงานจากประเทศไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เข้าร่วมแสดงงาน

อาจารย์กีรติ ศรีสุชาติ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า ได้ร่วมคัดเลือกงานนักศึกษาส่งให้ทางคิวเรเตอร์ส่วนกลางของทีมผู้จัดงาน YDF 2024 คัดเลือกให้เข้ารอบอีกครั้งก่อนจัดแสดงจริง ในส่วนของสาขาวิชาเอกคอมพิวเตอร์กราฟิกนั้น งานที่ส่งในปีนี้ได้รับคัดเลือกจำนวน 5 ชิ้นงาน ส่วนใหญ่เป็นงานออกแบบอัตลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งเป็นการสร้างภาพจดจำให้แก่แบรนด์ของชุมชน การปรับภาพลักษณ์องค์กร งานออกแบบผลิตภัณฑ์และงานสื่อเพื่อสภาพแวดล้อม มีทั้งผลงานศิลปนิพนธ์และผลงานของนักศึกษาปัจจุบันชั้นปีที่ 2-3

ในส่วนของสาขาวิชาเอกการออกแบบสภาพแวดล้อมภายใน อาจารย์อุกฤษ วรรณประภา หัวหน้าหลักสูตรฯ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า ได้ส่งงานศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาปีการศึกษา 2565 เข้าร่วม และได้รับคัดเลือกจำนวน 5 ผลงาน ได้แก่ การออกแบบสภาพแวดล้อมภายใน พื้นที่สาธารณะพื้นที่ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก การออกแบบอาคารศูนย์การเรียนรู้ข้าวหลามหนองมน การออกแบบสถานีชาร์จรถEV การออกแบบสภาพแวดล้อมภายในโรงพยาบาลวังน้ำเย็นและโรงพยาบาลท่าพระยา การออกแบบสภาพแวดล้อมภายในโรงแรมสยาม แมนดารีนา ซึ่งเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักศึกษาก่อนเรียนจบ

ทางด้าน ผศ.กมลวรรณ พัชรพรพิพัฒน์ สารสุข จากสาขาวิชาการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า “ตัวอย่างผลงานศิษย์เก่า ได้แก่ แบรนด์กรุยกรายบางกอก แบรนด์สินค้าแฟชั่นของศิษย์เก่าที่โด่งดังในโลกออนไลน์ ด้วยแนวคิดการสร้างสรรค์ลายผ้าจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวและความเป็นไทย ภายใต้ชื่องาน ศิวิไลซ์บางกอกคอลเลคชั่น บอกเล่าเรื่องราวจากการได้หลงรัก แสงสีเสียง ความเจริญรุ่งเรือง ความศิวิไลซ์ “ บางกอก ” อีกหนึ่งชิ้นงานของศิษย์เก่ากัญญาพัชร แบรนด์ พิพิธ ที่นำเสนออัตลักษณ์สุโขทัยผ่านผลิตภัณฑ์แฟชั่นต่างๆ รวมไปถึงผลงานศิลปนิพนธ์ดีเด่นและผลงานแบรนด์สินค้าจำลองของนักศึกษาปัจจุบัน”

ในส่วนของวิทยาลัยนานาชาติจีน Chinese International College หรือ CIC DPU ดร.หยู่ เพ่ย คัว หัวหน้าหลักสูตร การออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ระดับชั้นปริญญาโท กล่าวว่า “งานที่ได้รับคัดเลือก ได้แก่ ศิลปะประยุกต์การสานไม้ไผ่ให้เป็นรูปร่าง เพื่อเพิ่มความรู้สึกสำนึกในคุณค่าของสิ่งแวดล้อมผ่านสุนทรียะความงดงามทางศิลปะ อีกผลงานหนึ่งที่ได้รับคัดเลือก ได้แก่ การสร้างศิลปะบำบัดผ่านการออกแบบปฎิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งาน หรือ Interactive Design ซึ่งนักศึกษาจีนที่ได้เข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้ในประเทศไทย รู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสไปแสดงผลงานแก่สาธาณชนภายนอก”

“การได้รับคัดเลือกเข้าร่วมแสดงในงาน YDF 2024 เป็นการเปิดโอกาสของนักศึกษาได้นำเสนอผลงานสร้างสรรค์ที่ได้ผ่านกระบวนการคิดทางการออกแบบ การจัดการงานออกแบบ การผลิตชิ้นงานจริงจากการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆและนำเสนอสู่สาธารณชน ส่งผลในนักศึกษาได้เห็นคุณค่าในวิชาชีพ และเห็นความสำคัญของการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ งานศิลปะ และแบรนด์สินค้าเพื่อจำหน่าย เสริมสร้างกิจกรรมอันก่อให้เกิดการรับรู้ในความเป็นผู้ประกอบกากรออกแบบเชิงสร้างสรรค์หรือ Design Entrepreneur ที่เชื่อว่า “เพราะออกแบบ จึงแตกต่าง” ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะ”

ท่ามกลางผลงานจากนานาชาติและการแสดงโชว์ต่างๆของเหล่ากลุ่มคนคิดสร้างสรรค์ในไต้หวัน YDF 2024 ณ ศูนย์ศิลปะท่าเรือเพียร์ทู หรือ Pier 2 Art Center นี้ แสดงให้โลกเห็นว่า พลังความคิดสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนวัฒนธรรม สังคม และแนวโน้มการออกแบบในโลกอนาคต

ข้อมูลเพิ่มเติม

Youth Innovative Design Festival 2024 หรือ YDF 2024 นิทรรศการแสดงงานสร้างสรรค์และการแข่งขันเพื่อแสดงแนวโน้มการออกแบบจากหลากหลายมุมมองของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เชื่อว่าเป็นกลุ่มคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงและเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมได้ โดยในปีนี้คอนเซปท์ของงานคือ “ความคลุมเครือ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความไม่แน่นอนหรืออีกนัยหนึ่งคือความเป็นไปได้ที่ไม่มีที่สิ้นสุดของอนาคต มีตัวไอคอนเป็นรูปทรงหุ่นท่าทางคล้ายมนุษย์สีส้มที่มีลายตารางบนตัว รูปทรงที่ไม่สมบูรณ์บิดเบี้ยวไปมาแสดงออกถึงแนวความคิดที่ยังไม่สมบูรณ์เหมือนความคิดของคนรุ่นใหม่ที่เป็นน้ำที่ยังไม่เต็มแก้ว รอการริน เติม เพิ่มเข้าไปใหม่ และเปิดรับความคิดต่อยอดใหม่อย่างไม่หยุดนิ่ง ออกแบบแนวคิดโดยทีมงาน Blob Club ที่เพิ่งได้รับรางวัล Golden Melody Award สาขา Best Binding Design

พื้นที่แสดงงานเพื่อขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรม ความสดใสของอนาคตข้างหน้า

Pier2 Art Center หรือศูนย์ศิลปะท่าเรือเพียร์ทู ครั้งหนึ่งเคยเป็นโกดังร้างที่ถูกลืม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมเมืองจากภาคอุตสาหกรรมกลายเป็นภาคบริการ หากแต่ปัจจุบันถูกรัฐบาลเมืองเกาสงเนรมิตให้กลายเป็นสำนักงานใหญ่เพื่อการพัฒนาทางศิลปะทางตอนใต้ของไต้หวัน เป็นพื้นที่ที่มีชีวิตชีวาอันเต็มไปด้วยคลื่นแห่งความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจใหม่ๆ เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่สามารถมารวมตัวกันเพื่อเพลิดเพลินไปกับงานศิลปะแขนงต่างๆ มีการแสดงผลงานถาวร อย่างเช่น ตัวประติมากรรมหุ่นเหล็กยักษ์และประติมากรรมต่างๆที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่นี้ มีนิทรรศการหมุนเวียนของกลุ่มศิลปินนักออกแบบและนักศึกษาเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั้งระดับประเทศและนานาชาติ มีที่ตั้งของโกดังเก็บผลงานศิลปะพื้นที่สำหรับการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม และส่วนพื้นที่สำคัญ ได้แก่ ห้องสมุดสาธารณะเกาสง ซึ่งมีรูปแบบอาคารสวยงามมีการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีพื้นที่โซนศิลปะแนวล้ำหน้าและแนวทดลอง เปิดโอกาสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ทดลองสร้างธุรกิจจริงเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันของเมืองแห่งวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่มีเสน่ห์ เมื่อมองจากศูนย์ศิลปะท่าเรือเพียร์ทูออกไปสู่มหาสมุทรและท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ จะมีความรู้สึกผ่อนคลาย ไร้ความกังวลใด สามารถคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นสัญลักษณ์แห่งความสดใสของอนาคตข้างหน้า