ปลัดมหาดไทย จับมือภาคีเครือข่ายภาควิชาการ (สกสว.) หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่

ปลัดมหาดไทย จับมือภาคีเครือข่ายภาควิชาการ (สกสว.) หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ เน้นย้ำ น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่และศาสตร์พระราชาสู่การขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำเชิงรุก เพื่อตอบสนองความต้องการและยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน

วันนี้ (15 มี.ค. 67) เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคณะวิจัย โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำ (สกสว.) นางสาวกรรณิกา ดุรงคเดช ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (วช.) รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ (วช.) รศ.ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.น.สพ.ดร.วินัย แก้วละมุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานและหน่วยงานองค์กรในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง จังหวัดกำแพงเพชร ร่วมหารือ โดยได้รับเมตตาจาก พระปัญญาวชิรโมลี และพระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ โอกาสนี้ นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในวันนี้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งของประเทศชาติเรา เพื่อที่จะพูดคุยแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังยาวนานหรือเรียกว่าปัญหาซ้ำซาก เพราะเรื่องน้ำมีความสำคัญ ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้ว่า “…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ไม่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…” สะท้อนให้เห็นว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญของมนุษย์ ทั้งนี้ ในด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมการเพื่อรับมือน้ำแล้งและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พระองค์ได้พระราชทานไว้ว่า เมื่อเกิดปัญหาอุทกภัยหรือเวลามีน้ำมาก เราแก้ปัญหาโดยการเร่งระบายน้ำออก แต่พอน้ำหายท่วมหรือน้ำแล้ง เราไม่มีน้ำไว้ใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตร ดังนั้น หากเรามีที่ให้น้ำอยู่หรือมีที่กักเก็บน้ำ เราก็จะได้ประโยชน์ 2 ต่อ จึงเป็นที่มาของทฤษฎีใหม่ที่มีการจัดสรรพื้นที่โดยมีแหล่งน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญ

“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ ทั้งฝนหลวง หลุมขนมครก แก้มลิง ธนาคารน้ำใต้ดินตามธรรมชาตินั่นคือ“ต้นไม้” ทรงเล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรน้ำและป่า ดังที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชเสาวนีย์ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า…” ดังนั้น พวกเราทุกคนที่มาประชุมร่วมกันในวันนี้ต่างตระหนักและเห็นความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม ซึ่งเราต้องหารือร่วมกันเพื่อทำให้งานที่เราตั้งใจนี้ได้เกิดมรรคผล โดยการน้อมนำเอาทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนและดำเนินโครงการบริหารจัดการพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” หรือ “อารยเกษตร” ที่นำเอาวิถีชีวิตของประชาชนคนไทยที่มีน้ำเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หนุนเสริมทำให้ประชาชนมีความมั่นคงทางอาหาร มีความมั่นคงในเครื่องนุ่งห่ม มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ตามศาสตร์พระราชา ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน และการบริหารจัดการพื้นที่ให้สวยงามเหมาะสมกับการดำรงชีวิต” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักและมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการดำรงชีวิต ดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งการ “แก้ไขในสิ่งผิด” คือ การรื้อฟื้นสิ่งที่ดีและมีคุณค่าของประเทศไทยในอดีตที่เกื้อกูลให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ความสุขอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย ขั้น 1 – 4 “Basic Needs” คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ขั้นที่ 5 – 6 คือ ทำบุญทำทาน ทำให้สังคมอยู่ได้ ขั้น 7 คือ รู้จักแปรรูป เก็บไว้เมื่อขาด ขั้นที่ 8 คือ การค้าขาย และขั้นที่ 9 คือ การรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นสหกรณ์ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง มีภาคีเครือข่ายในการประกอบอาชีพ และดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคง

“วันนี้เราได้รับเกียรติจากคณะวิจัยที่เป็นนักวิชาการจากภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่กระทรวงมหาดไทยร่วมกับองค์การสหประชาชาติเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ข้อที่ 17 คือ “Partnership” และเป็นไปตามประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือ “การพัฒนาจังหวัดด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนสู่การแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัด ยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในพื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยการนำนโยบายและทฤษฎีขยายผลไปสู่การปฏิบัติได้เพิ่มมากขึ้นและเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม แนวทางการทำงานให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืน ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสรุปจากโครงการในพระราชดำริกว่า 5,151 โครงการ โดยมี 4 กระบวนการ คือ “ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์” และต้องทำร่วมกันอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ทำให้เกิดความสุขที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ทุกขั้นตอนในการจัดทำแผนในระดับชุมชน ตำบล หมู่บ้าน สิ่งสำคัญของเรา คือ ต้องตอบสนองความต้องการในพื้นที่ รวมถึงนโยบายในการขับเคลื่อนดำเนินการเชิงรุกตามฐานข้อมูลที่มี ร่วมกับท้องถิ่นท้องที่ตามโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) ทำให้เห็นรายละเอียดผังน้ำในทุกระดับ จากยอดดอยสู่ท้องทุ่ง จากหมู่บ้านสู่อำเภอและลุ่มน้ำ ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้สำรวจผังภูมิสังคมเสร็จสิ้นแล้ว ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการได้ ซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนจะมีความสุขได้ มีน้ำเป็นสิ่งสำคัญ การน้อมนำทฤษฎีใหม่ “จากนภาผ่านภูผาสู่มหานที” และหลักการทำงานตามภูมิสังคม คณะผู้วิจัยจึงเป็นกำลังสำคัญที่ต้องช่วยนำระบบการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน เริ่มจากทำให้ทุกพื้นที่มีน้ำสำหรับการประกอบอาชีพ ทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ซึ่งการบริหารจัดการน้ำไม่ได้อยู่ที่ส่วนกลาง แต่ต้องอยู่ที่ตำบลหมู่บ้าน การมีป่าเปียกไว้เก็บน้ำที่ต้นทางจะทำให้เกิดความชุ่มชื้น อีกทั้งป่ายังสามารถลดฝุ่นละออง PM2.5 ได้ ทุกสิ่งมีการเกื้อกูลกันทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ในส่วนของน้ำอุปโภคบริโภคไม่ได้มีเพียงแค่น้ำประปา แต่ต้องรวมไปถึงแหล่งน้ำชุมชน บ่อน้ำหมู่บ้าน หากเราสามารถกระจายน้ำในพื้นที่ไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำ จะสามารถลดปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมตามศาสตร์พระราชา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเรายินดีที่จะร่วมเป็นภาคีเครือข่ายและพร้อมบูรณาการและสนับสนุนทุกท่าน เพื่อนำไปสู่การต่อขยายผลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนได้อย่างยั่งยืน

“การหารือในวันนี้ จะนำไปสู่การจัดทำ MOU ร่วมกัน โดยกระทรวงมหาดไทนมีความยินดีร่วมให้การสนับสนุนงานวิจัยเชิงพื้นที่ โดยใช้ผังภูมิสังคม พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริสู่หลักอารยเกษตรสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนทุกมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการพัฒนาคน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวย้ำในช่วงท้าย

ด้าน รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีงานวิจัยที่มีประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่ และสามารถนำไปขยายผลใช้กับการบริหารจัดการน้ำในทุกระดับ ซึ่งจำเป็นต้องมีกลไกในระดับพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทยนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยร่วมเป็นภาคีเครือข่ายมีเป้าหมายเพื่อร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในระดับพื้นที่ โดยใช้ระบบและองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม สู่การบริหารจัดการน้ำ และยกระดับอาชีพให้กับชุมชน อันนำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการน้ำท่วมน้ำแล้ง และแผนหลักด้านน้ำระดับพื้นที่ (อปท. และจังหวัด) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง สป.มท. สป.อว. และ สกสว. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการจัดสรรงบประมาณและการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการเชื่อมโยงกับระบบการจัดการข้อมูล แผนที่เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บท และนโยบายด้านการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงยุทธศาสตร์จังหวัดภายใต้กระทรวงมหาดไทยให้มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ

จากนั้น เป็นการนำเสนอความก้าวหน้าการหารือความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำระหว่างกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ (วช.) ตามด้วย ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมระดับพื้นที่ โดย รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ (วช.) การเชื่อมโยงกับระบบการจัดการข้อมูลของกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ส่วนกลาง) โดย รศ. ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการน้ำท่วม น้ำแล้ง และแผนหลักด้านน้ำระดับจังหวัด อย่างมีเป้าหมาย โดย ผศ.ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น การใช้ระบบแอปพลิเคชัน EPICOLLECT5 จัดทำข้อมูล แผนปฏิบัติการ โครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณระดับตำบล โดย คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม และนายอลงกต ประสมทรัพย์ รองนายก อบต.บ่อสวก จังหวัดน่าน และการสนับสนุนด้านข้อมูล ความรู้ และผลวิจัยสู่การจัดการน้ำ การยกระดับอาชีพให้กับชุมชน (หลังมีน้ำ) (ด้านน้ำ และด้านเกษตร) โดย ผศ.ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น