ปลัด มท. นำประชุมขับเคลื่อนงานโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. ปี 2567 ภายใต้ “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.)”

ปลัด มท. นำประชุมขับเคลื่อนงานโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. ปี 2567 ภายใต้ “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.)” เน้นย้ำ ผู้ว่าฯ ให้ความสำคัญและดูแลเอาใจใส่ในการศึกษา พร้อมสนับสนุนโอกาสที่ดีในชีวิตให้เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (12 มี.ค. 67) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมดำรงธรรม ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนงานโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. ปี 2567 ภายใต้ “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.)” โดยมี นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงาน ม.ท.ศ. นายวิชญ์พิพล ติวะตันสกุล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร้อยตำรวจโท ภพชนก ชลานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการปกครอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS) ไปยังศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประชุมขับเคลื่อนงานโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. ปี 2567 ภายใต้ “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนงานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการทำให้เด็กและเยาวชนลูกหลานของเราได้อยู่ในระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กที่มีความจำเป็นเรื่องทุนทรัพย์เพื่อสนับสนุนการเล่าเรียน เพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้ในการดูแลครอบครัวและช่วยดูแลสังคมและประเทศชาติ ทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” เพราะการศึกษามีความสำคัญ ดังนั้น พวกเราทุกคนจะได้มีโอกาสในการช่วยกันสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยกันเป็นธุระบริหารจัดการให้การศึกษาในทุกจังหวัดมีคุณภาพ รวมถึงการเอาใจใส่ดูแลช่วยเหลือให้ลูกหลานที่อยู่ในการศึกษาได้รับโอกาสในการศึกษาอย่างเสมอภาค เช่น มีชุดเครื่องแบบสวมใส่ มีอุปกรณ์ในการเล่าเรียน มีอาหารการกินที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถใช้ชีวิตนักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกด้าน ไม่เพียงแค่การพัฒนาสมอง แต่รวมถึงทักษะในการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ รวมถึงพัฒนาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ตลอดจนด้านสังคมและวินัยด้วย จึงเป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะผู้นำในการขับเคลื่อนการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับอนาคตของประเทศชาติ โดยมีพวกเราเป็นคนสำคัญในการสนับสนุนให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

“ในการคัดเลือกนักเรียนทุนพระราชทานฯ โครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. ปี 2567 นี้ เราได้รับเกียรติจากคุณชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงาน ม.ท.ศ. และคุณวิชญ์พิพล ติวะตันสกุล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้เป็นจุดเริ่มต้นที่พวกเราได้มีโอกาสขับเคลื่อนงานโครงการทุน ม.ท.ศ. มาหลายปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้รับการชื่นชมจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงาน ม.ท.ศ. ว่า คนมหาดไทยมีผลการดำเนินงานอย่างดีเยี่ยม ในการร่วมกับทีมงานในจังหวัดช่วยกันคัดเลือกเด็กในจังหวัดมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในการได้รับทุน สนับสนุนให้คณะกรรมการกลางได้คัดเลือกเด็กมาเข้ารับตามจำนวนทุนการศึกษาได้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้มีหลายจังหวัดที่ส่งรายชื่อเด็กที่ได้รับการคัดเลือกมามากกว่า 10 ราย แสดงถึงความเอาใจใส่ อย่างไรก็ตามยังมีบางจังหวัดที่ส่งรายชื่อเด็กที่ได้รับการคัดเลือกในจังหวัดไม่ถึงขั้นต่ำ คือ น้อยกว่า 10 ราย ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการมีความยากลำบากในการพิจารณาคัดเลือกเด็กที่มีความพร้อมและกระจายอย่างทั่วถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดจึงต้องเอาใจใส่ ต้องมีการประชุมพูดคุยกับคณะกรรมการในจังหวัด เพื่อพิจารณาคัดเลือกเพื่อส่งต่อรายชื่อเด็กที่มีโอกาสได้เข้ารับทุน ม.ท.ศ. ซึ่งการพิจารณากลั่นกรองคือคุณสมบัติสำคัญของเด็กนักเรียนทุนพระราชทานฯ ม.ท.ศ. ดังนั้น ขอให้พวกเราทุกคนได้ค้นหาและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ และไม่ควรตัดโอกาสทุกคน หากมีจำนวนเด็กที่มีคุณสมบัติเกินกว่า 10 คน ให้เรียงลำดับตามคะแนน ซึ่งทางคณะกรรมการส่วนกลางจะได้ดำเนินการต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่อไปอีกว่า ขอให้พวกเราขับเคลื่อนงานโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. ปี 2567 ในปีนี้ให้ดีกว่าปีที่ผ่านมา และขอชื่นชมผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการขับเคลื่อนงาน ม.ท.ศ. ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่นอกจากคุณครูแล้วยังมีนายอำเภอไปช่วยกันคัดเลือกเด็ก ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้มีหนังสือสั่งการให้นายอำเภอช่วยเป็นธุระตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จัดประชุมทางไกลกับโรงเรียน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยให้นายอำเภอได้นำเอาข้อมูล กฎระเบียบต่าง ๆ ของโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. เพื่อชี้แจงให้ผู้อำนวยการโรงเรียนทุกโรงเรียนในพื้นที่ช่วยในการคัดเลือกเด็กทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการสำรวจข้อมูลประชาชนผู้ที่เดือดร้อนแบบพุ่งเป้าตามครัวเรือน ตามระบบฐานข้อมูล ThaiQM และเนื่องในโอกาสมหามงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่พวกเราจะช่วยกันร่วมทำบุญให้ลูกหลานเราทุกคนได้รับการศึกษาทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงขอให้นายอำเภอทุกท่านช่วยสนับสนุนผู้ว่าราชการจังหวัดในการสำรวจรวบรวมเด็กเยาวชนที่มีโอกาสได้รับทุนให้ครบถ้วนและเป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด รวมถึงจัดทำบัญชีรายชื่อเด็กเหล่านั้นเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป ซึ่งเรามีกลไกรองรับในพื้นที่อยู่แล้ว อาทิ มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งทุกจังหวัดสามารถช่วยกันระดมจัดกิจกรรม ซึ่งสามารถขอทุนสนับสนุนได้ นอกจากนี้ยังมีภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เช่น แม่บ้านมหาดไทยจังหวัด เหล่ากาชาดจังหวัด สมาคมมูลนิธิ รวมถึงพ่อค้าคหบดี และคณะสงฆ์ในพื้นที่ ที่เราสามารถขอความช่วยเหลือและบูรณาการความร่วมมือได้

“ขอเน้นย้ำกับพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวมหาดไทยทุกท่าน ได้ให้ความสำคัญทั้งเด็กทุนและเด็กยากไร้ในพื้นที่บ้านเกิดเมืองนอนที่เราไปทำงานอยู่ ดำเนินการลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมครอบครัวเด็กที่ได้รับทุนอย่างต่อเนื่อง ช่วยกันทำความดีอันนำมาซึ่งความสุขใจว่าเราได้ช่วยกันทำสิ่งที่ดี รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดต้องให้ความสำคัญและเอาใจใส่ในการติดตามดูแลนักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รวมทั้งมอบหมายให้ทีมไปลงพื้นที่เยี่ยมเยียนได้อย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ ขอให้ทุกท่านจงภาคภูมิใจและจงมั่นใจในการที่จะสนองพระราชปณิธานที่พระองค์ท่านได้มีพระมหากรุณาธิคุณช่วยเหลือดูแลลูกหลานของพวกเรา ที่เป็นลูกหลานของพระองค์ท่านตลอดมา ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการระดับจังหวัดได้ให้ความสำคัญตามหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกควบคู่กับพิจารณาความพร้อมในการศึกษา ความพร้อมในการปรับตัวเข้ากับสังคม โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของโครงการตามแนวพระราชประสงค์ในการช่วยเหลือเด็กที่ไม่มีทุนทรัพย์ให้ได้รับการศึกษา และขอเน้นย้ำว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งเรื่องการส่งเสริมด้านการศึกษา การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การวางระบบภาคีเครือข่ายในพื้นที่ในการช่วยกันเป็นพ่อแม่อุปถัมภ์ หรือเป็นพี่เลี้ยงดูแลให้ลูกหลานในจังหวัดได้เติบใหญ่มีความรู้ ช่วยกันสนองพระราชปณิธานดังพระราชปฐมบรมราชโอการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ซึ่งพวกเราในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้สืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระองค์ในการดูแลเด็กทุกคนในจังหวัดที่ไม่ได้รับทุนให้ได้มีโอกาสที่ดีของชีวิต จึงขอให้ทุกท่านได้ประชุมพูดคุยหารือกัน พิจารณาในการคัดเลือกเด็กที่ขาดโอกาสในการศึกษาอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน สำหรับกระทรวงมหาดไทยจะนำแนวทางและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมในวันนี้ไปปรับให้เหมาะสมกับการดำเนินการของจังหวัดในการคัดเลือกเด็กที่มีโอกาสรับทุน ซึ่งจะเกื้อกูลให้เกิดประโยชน์กับชีวิตเด็กได้ดีมากยิ่งขึ้น ตรงตามพระราชปณิธาน “แก้ไขในสิ่งผิด” ทำให้เด็กยากไร้ด้อยโอกาสทุกคนได้มีโอกาสในการรับทุนการศึกษา จึงขอขอบคุณทุกท่านที่เข้าร่วมประชุม ขอให้พวกเราช่วยกันทำให้ลูกหลานในพื้นที่ของเรามีโอกาสที่ดีในชีวิต ได้มีโอกาสในการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในชีวิตอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงาน ม.ท.ศ. กล่าวว่า ขอบคุณกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการขับเคลื่อนงาน ม.ท.ศ. และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกท่านที่ได้ให้การสนับสนุนงานโครงการนี้มาตลอดกว่า 16 ปีแล้ว สำหรับโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้จัดทำ โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้น เมื่อปี 2552 ต่อมาทรงได้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) ซึ่งมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นคณะกรรมการ ซึ่งเป็นมูลนิธิเดียวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์ประธานกรรมการด้วยพระองค์เอง ซึ่งเราขับเคลื่อนมาด้วยความร่วมมือของหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้ประสานงานหลัก นอกจากนี้เรามีกลไกในพื้นที่ มีคณะกรรมการระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นประธาน มีศึกษาธิการจังหวัดเป็นเลขานุการ ซึ่งกลไกในพื้นที่สำคัญมากทำให้เราได้ดำเนินการอย่างกระจายไปในทุกจังหวัด ซึ่งตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน มีเด็กนักเรียนที่ได้รับทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. แล้ว จำนวน 15 รุ่น รวม 2,411 ราย เป็นเงินทุนพระราชทาน จำนวน 798 ล้านบาท

“สำหรับการดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. ปี 2567 ยึดตามวัตถุประสงค์ 3 หลักการตามพระบรมราโชบาย คือ 1) ส่งเสริมสนับสนุนเด็กเยาวชนไทยที่เรียนดี ประพฤติดี มีคุณธรรม ที่มีการศึกษา ม.ปลาย ต่อเนื่องจนจบ ป.ตรี หรือเทียบเท่า มุ่งเน้นสาขาวิชาความต้องการหรือสาขาขาดแคลน 2) มุ่งเสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้องดีงาม ต่อสถาบันและประเทศชาติ เสริมสร้างพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง เข้มแข็ง ให้เติบโตเป็นคนดีมีคุณภาพ ดำรงตนเป็นพลเมืองดี มีสัมมาอาชีพมั่นคงคืนถิ่นไปทำงานทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ 3) ให้ทำสัญญารับทุนชดใช้ทุน ด้วยการเข้าสู่เส้นทางอาชีพที่มั่นคงเชื่อมโยงตำแหน่งงานที่รองรับ โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้รับทุน 3 เป้าหมาย คือ กลุ่มทั่วไปจากจังหวัด กลุ่มเฉพาะจากโครงการกองทุนการศึกษา และกลุ่มผู้รับทุนพระราชทานต่อเนื่อง รุ่น 8 – 15 ที่ยังคงมีสถานะนักเรียนทุนฯ และมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ จึงขอเน้นย้ำคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ในกลไกกระบวนการคัดเลือก คัดสรรผู้รับทุน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 16 โดยปฏิบัติตามคู่มือฯ ปี 2567 อย่างเคร่งครัด กระจายโอกาสให้ทั่วถึง โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ โดยการพิจารณาในรอบแรกของจังหวัด ต้องมีรายชื่อไม่น้อยกว่า 10 ราย ขึ้นไป โดยลงพื้นที่สอบทานข้อมูลเชิงประจักษ์ พื้นฐานทัศนคติที่ถูกต้องดีงาม สอบทานความสมัครใจ การรับรู้ข้อมูลทุน ม.ท.ศ. ความพร้อมในการรับทุน ม.ท.ศ. ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข จากนั้นในการเสนอชื่อผู้ผ่านการพิจารณาต้องเรียงลำดับความสำคัญ โดยเสนอรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในระดับจังหวัด และเข้าสู่การพิจารณากลั่นกรองในระดับภาคทั้ง 18 ภาคต่อไป