ปลัด มท. ปักธงประกาศความสำเร็จจัดตั้งธนาคารขยะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครบถ้วน 100% จำนวน 7,773 แห่ง จำนวนธนาคารขยะ 14,655 แห่ง ทั่วประเทศ

ปลัด มท. ปักธงประกาศความสำเร็จจัดตั้งธนาคารขยะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครบถ้วน 100% จำนวน 7,773 แห่ง จำนวนธนาคารขยะ 14,655 แห่ง ทั่วประเทศ เน้นย้ำ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ คือ ผู้นำบูรณาการทุกกลไกในพื้นที่บริหารจัดการขยะครบวงจรในทุกครัวเรือน เพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (10 มี.ค. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงผลสำเร็จของการจัดตั้งและการขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายหลังจากกระทรวงมหาดไทยได้ Kick-Off เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 67 ตามเป้าหมาย “60 วัน 1 อปท. 1 ธนาคารขยะ” พร้อมทั้งขับเคลื่อนแนวทางการบริหารจัดการธนาคารขยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการสำรวจขยะมูลฝอยระดับครัวเรือน ประชุมรับฟังความคิดเห็นการดำเนินงานธนาคารขยะ และจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารธนาคารขยะ คณะกรรมการธนาคารขยะในระดับชุมชน/หมู่บ้าน ระยะที่ 2 คือ การประชุมและแต่งตั้งคณะทำงานฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงการจัดทำระเบียบ/ข้อบังคับธนาคารขยะ และการสร้างการรับรู้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และระยะที่ 3 คือ ธนาคารขยะของ อปท. ทุกแห่ง มีการเปิดรับสมาชิกธนาคารขยะและมีการประชุมทำความเข้าใจกับสมาชิกธนาคารขยะ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการครบถ้วน 100% คือ จำนวน 7,773 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนธนาคารขยะทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 14,655 แห่ง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ 7,773 แห่ง ได้ช่วยกันให้ความสำคัญกับการจัดตั้งธนาคารขยะ รวมทั้งสิ้น 14,655 แห่ง เพื่อที่จะนำขยะรีไซเคิลนำมาสร้างมูลค่าด้วยการใช้หมุนเวียนให้เกิดประโยชน์ นำไปขายให้กับผู้รับซื้อของเก่า ช่วยกันลดปัญหาภาวะโลกร้อน ช่วยกันใช้ทรัพยากรของโลกอย่างประหยัด ซึ่งรายได้ที่เกิดจากการจัดตั้งธนาคารขยะสามารถสร้างสวัสดิการของท้องถิ่น เป็นเงินฌาปนกิจสงเคราะห์แก่ผู้เสียชีวิต หรือนำไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ หรือเป็นทุนการศึกษาเด็ก ช่วยผู้เจ็บป่วยเรื้อรังในพื้นที่ ตามแต่แนวทางของแต่ละหมู่บ้านชุมชนตกลงกัน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ โดย เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2565 คณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนประเทศไทยที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด 76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา โดยมีคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วทั้งประเทศ ผ่านกลไกในระดับพื้นที่ โดยท่านนายอำเภอทุกแห่งที่ตั้งใจจะดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน ช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ก่อให้เกิดความสำเร็จในการสร้างหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) อย่างเเท้จริง โดยเฉพาะประเด็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวพันโดยตรงกับการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน ปัจจุบัน เรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครบทั้ง 7,773 แห่ง ที่สามารถจัดตั้งธนาคารขยะรวมทั้งสิ้น 14,655 แห่ง มีสถิติรายได้จากการจำหน่ายขยะรีไซเคิล มากถึง 800 กว่าล้านบาท ซึ่งมีการนำรายได้ดังกล่าวไปจัดบริการในด้านต่าง ๆ ให้กับคืนสู่ชุมชน รวมถึงการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งกระบวนการในการจัดเก็บและคัดแยกขยะ เมื่อก่อนเราต่างมองว่าการจัดการขยะเป็นภาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเอารถมาขนเอาไปทำลาย เสียเงินเสียทอง ทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำมันรถ ค่าจ้างกำจัดหรือค่าจ้างในการที่จะเอาไปทิ้ง ค่าใช้จ่ายต่อปีเป็นหมื่นล้าน แต่ ณ ขณะนี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือเสียค่าใช้จ่ายน้อยลงมาก และมีเงินสวัสดิการที่เกิดจากการจำหน่ายขยะรีไซเคิลเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งตนมั่นใจว่าจะสามารถทำมูลค่าได้สูงกว่าหมื่นล้านแน่นอน

“ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเพียง 5 ปี อบต.โก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี มีรายได้จากการขายขยะรีไซเคิลสูงมากถึงเกือบ 30 ล้านบาท นำเอาไปใช้เป็นเงินสวัสดิการช่วยเหลือฌาปนกิจศพ ศพละ 80,000บาท เป็นเงิน 20 กว่าล้านบาท สิ่งนี้เป็นข้อบ่งชี้ด้านความสำเร็จ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลการดำเนินการคัดแยกขยะรีไซเคิลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเลิศ (Best Practice) ณ องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู จังหวัดลพบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลผาสามยอด จังหวัดเลย องค์การบริหารส่วนตำบลหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และเทศบาลตำบลหนองล่อง จังหวัดลำพูน โดยมีศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ เพื่อถอดบทเรียน นำไปสู่การจัดทำแผนงานและแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) นอกจากนี้ การดำเนินงานธนาคารขยะของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นยังเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนได้มีการคัดแยกขยะรีไซเคิลในครัวเรือน และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยภายใต้หลักการ 3ช (3Rs) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) พร้อมทั้งรณรงค์สร้างความรับรู้ความเข้าใจและปลูกฝังจิตสำนึกให้ประชาชนในทุกพื้นที่มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะและคัดแยกขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลหรือไปขายเพื่อให้มีรายได้สู่ชุมชน และพัฒนาสู่การจัดตั้งธนาคารขยะสำหรับเป็นสถานที่รวบรวมและรับซื้อขยะรีไซเคิลจากประชาชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนและสามารถนำรายได้ไปจัดสวัสดิการสังคมในรูปแบบต่าง ๆ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

“ทั้งนี้ มีตัวเลขที่น่าสนใจ ที่ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จ คือ นับตั้งแต่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะ ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการรวม 1,077 แห่ง ทั่วประเทศ มีรายได้จากการจำหน่ายขยะ รวม 897,521,672.72 บาท รายจ่าย อาทิ ค่าฌาปนกิจ ค่ารักษาพยาบาล และค่าคลอดบุตร 689,425,838.04 บาท คงเหลือ 208,095,834.68 บาท คิดเป็นปริมาณขยะ 1.3 ล้านตัน นอกจากนี้ สามารถดำเนินการจัดทำขยะเปียกจากถังขยะเปียกลดโลกร้อน ที่สามารถลดเศษอาหารได้ถึงวันละ 9,000 ตัน หรือคิดเป็น 3.3 ล้านตัน/ปี ซึ่งเราจะได้นำผลความสำเร็จของ อปท. ทั้ง 1,077 แห่งนี้ ขยายผลให้ครอบคลุมครบทั้ง 7,773 แห่งอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
.
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำว่า ต้องขอขอบคุณทางท่านขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครอง ขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอในฐานะผู้นำทีมจังหวัดบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และท่านผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้มีส่วนช่วยเป็นผู้นำการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนธนาคารขยะในระดับพื้นที่ ตลอดจนทุกภาคีเครือข่ายที่ให้ความร่วมมือจนประสบความสำเร็จ รวมถึงการรณรงค์ส่งเสริมให้มีถังขยะเปียกลดโลกร้อน การดำเนินการดังกล่าวทางองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ก็ได้ให้การยอมรับ และมีการประกาศยกย่องชมเชยในรายงานประจำปีของ UN ประจำประเทศไทยในปี 2567 โดยมีสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด เป็นหน่วยงานสนับสนุน ให้คำแนะนำและสนับสนุนให้ อปท. ทุกแห่ง ผ่านกลไกคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลมูลฝอยระดับจังหวัด ทำให้การขับเคลื่อนธนาคารขยะสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันให้อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ทุกครัวเรือน เข้าร่วมเป็นสมาชิกธนาคารขยะของชุมชน/หมู่บ้าน ร่วมกันรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในจังหวัดทราบถึงประโยชน์ของการคัดแยกขยะรีไซเคิล สร้างองค์ความรู้ในการดำเนินโครงการธนาคารขยะ และผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการธนาคารขยะ ผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และในระดับอำเภอ มี “นายอำเภอ” เป็นผู้นำทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน บูรณาการร่วมกับอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนาที่มีหัวใจเดียวกัน หัวใจที่อยากบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนร่วมกันประสานงานและขับเคลื่อนธนาคารขยะในระดับชุมชน/หมู่บ้าน ส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานของคณะทำงานธนาคารขยะประจำชุมชน/หมู่บ้าน และการดำเนินการในทุกมิติ พร้อมทั้งติดตามและรายงานผลการขับเคลื่อนนโยบาย รวบรวมปัญหา อุปสรรค และจัดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงาน แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารธนาคารขยะ คณะกรรมการธนาคารขยะชุมชน/หมู่บ้าน และคณะทำงานธนาคารขยะชุมชน/หมู่บ้าน ซึ่งผมเองในฐานะกระทรวงมหาดไทยรู้สึกซาบซึ้งแล้วก็ขอบคุณ พร้อมขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านได้ช่วยกันพยายามในการที่จะรักษาความดีนี้ต่อไปให้ต่อเนื่อง และนำแนวคิดในการสืบสาน รักษา และต่อยอดมาใช้ เช่น การนำขยะเปียกไปทำปุ๋ยหมักในถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อนำเอาปุ๋ยหมักนั้นไปบำรุงดินทำให้พืชผักสวนครัวไม้ดอกไม้ประดับสวยงามตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” สร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ลูกหลานของเรา ให้สามารถอยู่อาศัยในโลกใบเดียวที่แสนที่จะสวยงามและมีความอุดมสมบูรณ์มีอายุยืนยาวเป็นที่อยู่อาศัยของลูกๆหลาน ๆ เราตราบนานเท่านาน
.
“ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ร่วมกับผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ในการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงค้นพบจากโครงการพระราชดำริกว่า 4,741 โครงการ ถ้ารวมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงปัจจุบัน รวม 5,151 โครงการ พุ่งเป้า “ทำทันที (Action Now)” ด้วย Passion และจิตใจรุกรบในการ Change for Good สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้ทุกพื้นที่มีธนาคารขยะ ทำให้ประชาชนทุกคนได้มีความสุขจากการช่วยกันบริหารจัดการขยะ ช่วยกันลดมลพิษ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของชีวิต ของทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน/หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศไทย และโลกใบเดียวนี้ของเรา เพื่อทำให้ทุกพื้นเป็นหมู่บ้านยั่งยืนที่สอดคล้องตามแนวทางการสร้างหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
.
#WorldSoilDay #วันดินโลก #UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SoilandWaterasourceoflife #SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน #SDGsforAll #ChangeforGood