ปลัดมหาดไทย พร้อมด้วยนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดเชียงราย กระตุ้นปลุกเร้า “ชาวราชสีห์” ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์”

ปลัดมหาดไทย พร้อมด้วยนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดเชียงราย กระตุ้นปลุกเร้า “ชาวราชสีห์” ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์” ร่วมกันสร้างหมู่บ้านยั่งยืน สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน

วันนี้ (8 มี.ค. 67) เวลา 10.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมี นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย นายศรัณยู มีทองคำ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นางสุวาภรณ์ จิตต์พลีชีพ รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ได้มาตรวจราชการ ได้มาพบปะพูดคุยกับพี่น้องข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เพื่อจะทำให้พวกเราทุกคนได้ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสนองแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ในการที่อยากให้เราทุกคนช่วยกันทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” อันเป็นแนวทางที่สำคัญและเป็นเป้าหมายสูงสุดที่พวกเราได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคนมหาดไทย เพื่อมุ่งทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง” “ประชาชนมีความสุข” โดยประการแรก พวกเราทุกคนต้องช่วยกัน “แก้ไขในสิ่งผิด” ตั้งแต่การดำรงชีวิตของพวกเราขยายไปสู่การทำงาน อาทิ การปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงสัตว์ การปรุงอาหารรับประทานในครอบครัว เป็นสิ่งที่ประชาชนทำได้สามารถพึ่งพาตนเอง ทำได้ด้วยตนเอง เพราะมันเป็นสิ่งที่ดีที่บรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย ได้ถ่ายทอดสู่ลูกหลานของเรา และทำให้เราเห็นเป็นตัวอย่างมาแต่อดีต ที่เราอาจหลงลืม ดังนั้น การพิจารณาว่าสิ่งใดคือสิ่งที่ผิด ต้องมองด้วยใจ นำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา “อริยสัจ 4” มุ่งหาสาเหตุแห่งการดับทุกข์ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

“พระราชปณิธานอันมุ่งมั่นที่สะท้อนผ่านพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” คือ การน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผ่านโครงการพระราชดำริ จำนวนกว่า 5,151 โครงการ ด้วยการทรงงานตามหลักภูมิสังคม ซึ่งคนมหาดไทยจะต้องน้อมนำพระราชปณิธานสู่การขับเคลื่อนปฏิบัติ เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยแสดงออกด้วยการกระทำ ทำงานแบบ “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” ต้องมี “วิสาสา ปรมา ญาติ” ความคุ้นเคย เป็นญาติอย่างยิ่ง เห็นพี่น้องประชาชนเหมือนญาติมิตร และถ่ายทอด DNA นี้ ไปสู่คนมหาดไทยทุกระดับ ทุกรุ่น ตลอดจนถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สมาชิกกลุ่ม OTOP และภาคีเครือข่าย ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ เป็นทีมงานที่เข้มแข็งของนายอำเภอในการลงพื้นที่ไปทำสิ่งที่ดีเพื่อพี่น้องประชาชน และอีกประการหนึ่ง คือการน้อมนำเอาแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีเป้าหมายคือ “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) เพราะคำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน จึงขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอขับเคลื่อนโดยการทำงานแบบจังหวัดบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ตำบลบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ทำให้เกิด Basic Needs ของประชาชน การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่อไปอีกว่า ดังนั้น คนที่เป็นผู้นำจึงมีความสำคัญ ต้องมี “Passion” มีอุดมการณ์ที่อยากจะทำสิ่งที่ดี “Change for Good” และเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ด้วยการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสม่ำเสมอ และกระตุ้นให้ข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบลเกิดความเข้มแข็ง เพื่อไปสร้างทีมงานจิตอาสาในพื้นที่ตามแนวทางหมู่บ้านยั่งยืน เริ่มตั้งแต่การทำให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มบ้าน คุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน หย่อมบ้าน ก่อให้เกิดความเข้มแข็งที่ทุกคนในหมู่บ้านช่วยกันสร้างความมั่นคงทางอาหาร น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ “บ้านมีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” มีการบริหารจัดการขยะด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีการเรียนรู้และถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามไปสู่ลูกหลานเยาวชน การส่งเสริมการทำงานตามหลัก “บวร” และ 7 ภาคีเครือข่าย โดยมีข้าราชการเป็นผู้นำ ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ จึงมีความสำคัญ และเป็น “Key Success” ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จของการเป็นหมู่บ้านยั่งยืน

“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงถอดบทเรียนความสำเร็จและความล้มเหลวจากโครงการในพระราชดำริ คือ การทำงานเป็นทีมตามหลัก “บวร” และภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย โดยร่วมกันทำงานตามหลักงานทรงงาน 4 กระบวนการ คือ “ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์” ตลอดจนแนวทางแห่งการดับทุกข์ตามอริยสัจ 4 ซึ่งเราทุกคนควรน้อมนำเอามาปรับใช้กับการทำงาน อาทิ การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่เราต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิด เช่นการมีป่าไม้ที่แห้งแล้ง การไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ ทำให้พื้นที่ขาดความชุ่มชื้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟป่า เป็นที่มาของการเกิดฝุ่นละออง ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงต้องทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม ด้วยการประชุมพูดคุยหาวิธีในการทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของน้ำและป่า เริ่มตั้งแต่การสร้างฝาย การพัฒนาพื้นที่ตามทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา การรณรงค์ร่วมกันสร้างความรักความหวงแหนทรัพยากรน้ำ ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การให้ความสำคัญกับน้ำสะอาดดื่มได้ อากาศสะอาด ซึ่งเริ่มมาจากการฟื้นฟูแหล่งน้ำคูคลอง การทำธนาคารน้ำใต้ดิน การทำบ่อดักไขมันในการช่วยบำบัดน้ำ ทำให้พวกเรามีแหล่งน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคและบริโภคในครัวเรือน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายช่วยดูแลสถานที่สำคัญของจังหวัด โดยเฉพาะศาลาทรงงานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พื้นที่โครงการในพระราชดำริต่าง ๆ พื้นที่ที่มีการปลูกต้นไม้ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งสถานที่เหล่านี้ นอกจากเป็นพื้นที่ที่จะเป็นเรื่องราวให้คนในชุมชนได้ช่วยกันดูแลรักษาแล้ว ยังสามารถต่อยอดขยายผล สนองพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ในด้านการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับชุมชน การมีเมล็ดพันธุ์พืชสำหรับการเพาะปลูกให้กับเกษตรกร อีกทั้งยังเป็นพื้นที่แห่งศูนย์การเรียนรู้ที่จะเป็นต้นแบบให้กับชุมชนเป็นพื้นที่ที่สร้างความยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ความสำคัญกับเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่เป็น “Quick Win” เพื่อทำสงครามกับยาเสพติดตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในการค้นหากลุ่มผู้ป่วยจิตเภทมาเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูสภาพทางสังคม โดยใช้กลไกของ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ ในการ Re X-ray นำรายชื่อผู้ค้ายาเสพติดรายย่อยในพื้นที่ เพื่อมาดำเนินคดี เพื่อปราบปรามยาเสพติดให้หมดไป โดยให้ความสำคัญกับการตัด Supply Side เพื่อลด Demand Side ตลอดจนดำเนินการปราบปราบตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด อาทิ การนำกำลัง ทีมอำเภอ ชุดปฏิบัติการพิเศษ ทำการตรวจค้นตั้งด่าน เพื่อหาผู้ค้าและผู้เสพยาเสพติดมาเข้าสู่กระบวนการ รวมทั้งให้ทุกพื้นดำเนินการประชาสัมพันธ์รณรงค์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับยาเสพติด

“ขอให้พวกเราทุกคนช่วยกันทำให้ทีมมหาดไทย มีผู้ว่าราชการจังหวัดผู้เปรียบเสมือนเป็นนายกรัฐมนตรีประจำจังหวัด และนายอำเภอเปรียบเสมือนเป็นนายกรัฐมนตรีประจำอำเภอ ได้ลงพื้นที่ไปทำสิ่งที่ดี นำงานทุกงานของทุกกระทรวง ไปทำประโยชน์ให้และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น ทำให้กับพี่น้องประชาชนได้มีความสุขอย่างยั่งยืน ช่วยกันทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน ให้สมดังเจตนารมณ์ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านช่วยกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตาม 4 กระบวนการ มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งจังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่โดดเด่นด้านการท่องเที่ยว มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย จึงขอให้ทุกท่านช่วยกันทำไม่ใช่เพียงแค่นโยบาย แต่ทำด้วยการปฏิบัติร่วมกันทุกพื้นที่ สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นอกจากนี้ในวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันสตรีสากล” ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยผู้หญิงไทยมีบทบาทอย่างยิ่ง มีความเป็นผู้นำครอบครัว เป็นผู้นำในองค์กร จึงขอให้ทุกท่านช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนมีลูก เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งนอกจากวันสตรีสากลแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเห็นความสำคัญของสตรี ทรงได้พระราชทานกำหนดให้วันที่ 1 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีไทย อีกทั้งทรงพระราชทานดอกไม้ประจำสตรี คือ “ดอกกล้วยไม้พระนาม แคทลียา ควีนสิริกิติ์” ให้กับสตรีไทยทุกคน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับพระราชดำริในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยด้วยการรณรงค์สวมใส่ผ้าไทย ที่จะช่วยต่อชีวิตและลมหายใจให้กับสตรีกลุ่มทอผ้า เพราะผ้าแต่ละผืนได้มาด้วยความยากลำบาก จึงขอให้ทุกคนช่วยกันรณรงค์สวมใส่ผ้าไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง รวมถึงการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะชุมชน ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ดำเนินการขับเคลื่อนครบทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครบ 100% แล้ว โครงการนี้นอกจากจะส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักการคัดแยกขยะ รักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะช่วยลดรายจ่าย สร้างรายได้หมุนเวียนกลับสู่ชุมชน เป็นสวัสดิการให้กับชุมชน และนับเป็นพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงพระราชทานโครงการพระราชดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ขับเคลื่อนมุ่งเน้น “Sustainable Fashion” ด้วยการส่งเสริมให้ใช้วัสดุจากธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการผลิตผ้า เพื่อสร้างความมั่นคงในเครื่องนุ่งห่ม ขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน” ดร.วันดีฯ กล่าวทิ้งท้าย