DPU Core จัดกิจกรรม Showcase Day “ปั้นรุ่นเยาว์รักษ์สิ่งแวดล้อม” ต้านภาวะโลกเดือด พร้อมปู Soft Skills ที่จำเป็นในการทำงานให้นักศึกษาตั้งแต่ปี1  

ฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดงาน ‘DPU Core Showcase Day’ ให้นักศึกษาชั้นปีที่1 ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และเรื่อง SDGs ควบคู่กับการฝึกความคิดสร้างสรรค์แก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมประเทศไทย ยุค4.0 พร้อมกับเรียนรู้ Soft Skills ด้านทักษะการทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทักษะการวิเคราะห์ ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต เมื่อวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2566 โดย ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวเปิดงานด้านนโยบายความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยและมอบรางวัลให้กับนักศึกษา

ผศ.ไพรินทร์ ชลไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวถึงวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่1 ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs และ ช่วยกันคิดค้นไอเดียสร้างสรรค์ทางนวัตกรรมต่างๆ ควบคู่กับเศรษฐกิจและสังคม ในการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนที่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นโลกเดือด โดยประกอบอยู่ในรายวิชาสังคมและเศรษฐกิจประเทศไทยยุค 4.0 และการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ใน Module ที่ 1 ‘Creativity for New Economy’ เพื่อให้มีความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาในเศรษฐกิจยุคใหม่ และนำนวัตกรรมและการคิดเชิงสร้างสรรค์มาต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมของประเทศ และการสร้างอุตสาหกรรมใหม่หรือสร้างโอกาสทางธุรกิจ รวมไปถึงการสร้างอาชีพใหม่ในการพัฒนาสังคมกับเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์และวิชาหลัก DPU Core ที่บรรจุให้นักศึกษาทุกหลักสูตรและทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี

“สำหรับกิจกรรมในวันนี้นักศึกษาจะต้องจัดตั้งทีมร่วมกับเพื่อนๆ นำเสนอไอเดีย หรือผลิตภัณฑ์หรือการบริการ รวมไปถึงกระบวนการที่สามารถลดการทำลายสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นการกระตุ้นให้นักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญและมองหาวิธีที่เหมาะสมกับตัวเองในการช่วยกันทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้น้อยที่สุด“

“จากผลงานของนักศึกษาทั้งหมด เป็นไอเดียที่มีความหลากหลายล้วนเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวนักศึกษามาก เช่น รางวัลชนะเลิศ เป็นไอเดียที่นำผักหรือผลไม้มาผสมกับเจลาตินเพื่อทำเป็นหลอดพร้อมทาน รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่1 นักศึกษามีไอเดียนำกระดาษรังผึ้งกันกระแทกในกล่องสินค้า ที่จะต้องทิ้งเพราะไม่รู้จะทำอะไร นำมาทำกระเป๋าโดยใส่เทคโนโลยีเข้าไปเพื่อให้มีความทนทาน ซึ่งโครงงานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ที่ DPU Core ส่งเสริมให้นักศึกษาเรียนรู้ผ่านการฝึกปฏิบัติ และนักศึกษาสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต”

ผศ.ไพรินทร์ กล่าวต่อ ถึงการสนับสนุนไอเดียดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง ‘นักศึกษา’ จะได้เรียนรู้เพิ่มใน Module ที่ 2 ‘Innovative Technology for Modern Lifestyle’ นวัตกรรมการใช้เทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ Lifestyle ยุคใหม่ เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในธุรกิจและชีวิตประจำวัน การใช้เทคโนโลยีเพื่อออกแบบ/สร้าง/พัฒนากระบวนการสำหรับสร้างประโยชน์ทางสังคมและธุรกิจ, Module 3 ‘Data Analytics for Business Opportunity’ การวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจ เพื่อประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์และสถิติเพื่อสร้าง วิเคราะห์ ชุดข้อมูลเชิงธุรกิจและนำไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจระหว่างประเทศ, Module 4 ‘Entrepreneur in Digital ERA’ ทักษะการเป็นผู้ประกอบการสมัยใหม่ยุคดิจิทัล เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบนพื้นฐานของความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ออกแบบ/สร้าง/พัฒนา ต้นแบบสำหรับสินค้า บริการหรือกระบวนการ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจหรือกำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

“นอกจากนี้ DPU Core ได้มีการจัดกิจกรรม DPU Hackathon เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถนำไอเดียมาต่อยอดเพื่อให้เกิดเป็นธุรกิจและผลักดันเข้าสู่การแข่งขันระดับประเทศต่อไป สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่อง SDGs เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะนักศึกษาสามารถนำไปต่อยอดการทำงานในอนาคต”

ด้านนายนรเทพ หนิดกระโทก หัวหน้าทีม ‘Lemon01’ โครงงาน D การนำผักหรือผลไม้มาผสมกับเจลาตินเพื่อทำเป็นหลอดพร้อมทาน เล่าว่า ตอนแรกมองเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ไกลตัวเอง แต่พอได้เริ่มเรียนก็สำคัญได้ว่าเราต่างได้รับผลกระทบกันทุกคน โดยเฉพาะเรื่องของสภาพอากาศที่ร้อนและมีฝุ่นควันทำให้ต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นทุกคนจึงควรที่จะเล็งเห็นถึงความสำคัญและช่วยเหลือกันในการฟื้นฟูโลกก่อนที่จะแย่ไปกว่านี้

“ถ้าโลกแย่แล้วเราไม่ช่วยกัน วันหนึ่งที่เราประสบความสำเร็จชีวิตดีเลยแต่เราก็อาจจะอยู่ไม่ค่อยได้ ส่วนตัวมองว่าต้องช่วยกันคนละครึ่งทาง อย่างในกลุ่มที่ทำเป็นหลอดจากผักและผลไม้ในราคาถูก ก่อนหน้านี้ก็มีคิดค้นหลอดที่ทำจากขนมปัง แต่ราคาสูงและต้องใช้ทุกวันคนก็สู้ราคาไม่ไหวก็ไม่นิยมใช้ ก็ต้องขอบคุณทางอาจารย์และมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนเรื่อง SDGs เรื่องสิ่งแวดล้อมองค์ความรู้และการจะพาไปอบรมเพิ่มเติมต่างๆ เราอยากได้ทักษะใหม่ๆ เพิ่ม เพราะการทำแคมเปญรักษ์โลกแต่ถ้าไม่มีวิชาการ วิจัยมาสนับสนุน เราก็ทำได้ยาก เช่นเดียวกับการที่มีไอเดียแต่ถ้าขาดเงินที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้นก็เช่นกัน ดังนั้น เราก็ต้องบาลานซ์ปัจจัยต่างๆ นี้เข้าด้วยกัน ไม่ทิ้งจุดใดจุดหนึ่ง ทั้งมุมด้านช่วยสังคม และ ต้องเลี้ยงดูตัวเองให้อยู่รอดได้”

เช่นเดียวกับนายอานนท์วัฒน์ ตัญญาสิทธิ์ หัวหน้าทีม ‘FAMOUS’ โครงงาน BAG FROM PAPER HONEYCOMP นำกระดาษรังผึ้งกันกระแทกในการส่งวัสดุสร้างเป็นกระเป๋าแฟชั่น เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก เผยว่า ขณะนี้ทุกคนเริ่มเห็นถึงผลกระทบของสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลง และอยากที่จะร่วมมือในการดูแลสิ่งแวดล้อม เพียงแต่ยังขาดความรู้ในการจัดการในพื้นที่ห่างไกล จึงต้องช่วยกันในทุกภาคส่วนในการนำเสนอไอเดียและการพัฒนาต่อยอดสร้างนวัตกรรมต่างๆ ที่จับต้องและเข้าถึงได้ง่ายให้กับผู้คนและชุมชน

“ก่อนที่จะเข้ามาเรียนที่ DPU ก็พอที่จะรู้เรื่องของสภาวะโลกที่ปรับเปลี่ยนจากโลกร้อนเป็นโลกเดือดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คนรุ่นใหม่ก็มีการคุยกันและพูดถึงกันเยอะ ด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบบ่อย เพราะชาวบ้านไม่มีองค์ความรู้ในการกำจัดก็เลยเผา แต่พอสังคมเริ่มพูดเมื่อไม่กี่เดือนที่หมู่บ้านชาวบ้านก็ออกมาช่วยกันคัดค้านการตั้งโรงเผาขยะ ดังนั้นการที่มหาวิทยาลัยสนับสนุนจัดเป็นหลักสูตรต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะนอกจากการจับเรื่อง SDGs จะช่วยโลก ยังช่วยให้เราเข้าใจและสร้างความสนใจมากขึ้นจากเรื่องใกล้ตัวที่ สามารถทำร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กร นำไปพัฒนาเพิ่มเป็นรายได้อีกด้วย อย่างกระเป๋าจากกระดาษกันกระแทกรังผึ้งที่เราทำ ก็มีส่วนช่วยโลกได้ ก็อยากเชิญชวนทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือช่วยโลกและโลกก็จะช่วยเรากลับ”

ทั้งนี้รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม ‘Lemon01’ โครงงาน D การนำผักหรือผลไม้มาผสมกับเจลาตินเพื่อทำเป็นหลอดพร้อมทาน ประกอบด้วยสมาชิกได้แก่ ทิพย์มณีรัตน์ ขำพินิจ, ชัยมงคล ยาใหญ่, อชิตพล นาคช่วย, ศุภิสรา ซิ้มสกุล, จงรัก วงศ์วิจิตร์, นรเทพ หนิดกระโทก, ชยกร เกียรติเลิศธรรม, วัชรากร โตโปร่งศรี

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 ทีม ‘FAMOUS’ โครงงาน BAG FROM PAPER HONEYCOMP กระเป๋าที่ทำจากกระดาษรังผึ้ง ประกอบด้วย ชนิดาภา คงสวัสดิ์, นิภาพร จันทร์ดารา, อานนท์วัฒน์ ตัญญาสิทธิ์ , ธนัญญา วิชญานนท์, ในขวัญ ดีจรูญ , วิวรรธน์ วิโรจน์ชีวัน, มนัสนันท์ สร้อยระย้า, ชฎาภรณ์ บุญมี, ชัยพล คุ้มทะยาย

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ2 ทีม ‘ร่ายมายา’ โครงงาน MADE FOR YOU ดินสอทำจากไม้ ดีไซน์เองได้ ประกอบด้วย ศุภการ อากาศภา, พงศกร ผอมเอียด, ปภังกร พรยศพล, วราวุฒิ แก้วเรือง, นันทภพ เทียนวงค์, ธนาณัติ ไวยาประโคนา, สุธาฤทธิพร กลั่นเงิน, ธนกร ศรัณยวิชญา

นอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ ‘ทีมยังเลย’ โครงงาน ผ้าอ้อมรักษ์โลก ผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ทำมาจากเส้นใยฝ้ายธรรมชาติ, ‘ทีม Wolf Alone’ โครงงาน ปากกาจากกากตะกอนน้ำเสีย การนำกากตะกอนน้ำเสียมาทำเป็นน้ำหมึกปากกา และรางวัลนักสร้างสรรค์ดาวรุ่ง 5 รางวัล ได้แก่ ‘ทีมCathay’ โครงงาน HomeDicraft, ‘ทีมพูดได้มั้ยพี่จี้แบบใหม่เเบบสับ’ โครงงาน Healthy, ‘ทีมชายชาตรี’ โครงงาน เกมเศรษฐีโลกเสมือนรีไซเคิล, ‘ทีมI BisCrack’ โครงงาน I BisCrack, ‘ทีมเวรกรรมหรือพรหมลิขิต’ โครงงาน ธุรกิจตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า