แนวทางคืนความสะอาดให้แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อความสุขของประชาชน

ปลัดมหาดไทย kick off “แม่น้ำเจ้าพระยาน่ามอง” นำผู้ว่าฯ จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา สนองพระราโชบาย “แก้ไขในสิ่งผิด” ถกแนวทางคืนความสะอาดให้แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อความสุขที่ยั่งยืนของประชาชน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม kick off กิจกรรม “แม่น้ำเจ้าพระยาน่ามอง ปราศจากขยะ” ร่วมกับส่วนราชการต่างๆ พร้อม เปิดเผยว่า นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นทรงราชย์ ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนคนไทย โดยทรงห่วงใยและตระหนักถึงความอยู่ดีมีสุขของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า จึงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสานรักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ด้วยเพราะพระองค์ทรงปรารถนาที่จะเห็นความวัฒนาผาสุกของประชาชนชาวไทยและความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมืองจึงทรงมีพระบรมราโชบายในการพัฒนาแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่เกิดความเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาดังพระราชประสงค์จำนงหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้านต่าง ๆ หากพื้นที่ใดที่ประชาชนประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนก็จะพระราชทานความช่วยเหลือบรรเทาอย่างทันท่วงที และได้พระราชทานพระบรมราชโองการองค์ที่ 2 แก่ข้าราชบริพารความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิดสืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

“กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระบรมราโชบาย “แก้ไขในสิ่งผิด” สู่การขับเคลื่อนการฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองให้สะอาด เพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชน  ผ่านโครงการฟื้นฟูและพัฒนาลำน้ำ คูคลองเพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมุ่งทำให้แหล่งน้ำในพื้นที่ 76 จังหวัดกลับมาใสสะอาด และมีการปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบให้เหมาะสมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข และส่งผลทำให้เกิดพลังการมีส่วนร่วมช่วยกัน  Change for Good แก่ประเทศชาติของเราไปในตัวด้วย โดยการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด คัดเลือกแม่น้ำลำคลองในพื้นที่จังหวัดละ 1 แหล่งน้ำ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา และคัดเลือกเป็นเป้าหมายดำเนินการเพิ่มเติม ซึ่งนับถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 2 ปี

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของกระทรวงมหาดไทยในการน้อมนำแนวพระราชดำริ “แก้ไขในสิ่งผิด” สู่การขยายผลเพื่อให้เกิดการพัฒนาแหล่งน้ำที่เป็น “สายน้ำแห่งชีวิต” หล่อเลี้ยงประชาชนชาวไทยตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบันจึงเป็นที่มาของการประชุม kick off กิจกรรม “แม่น้ำเจ้าพระยาน่ามอง ปราศจากขยะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 โดยกระทรวงมหาดไทยได้มีโอกาสร่วมกับคณะทำงานฟื้นฟูแม่น้ำลำคลอง ซึ่งมี พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประธานคณะทำงานลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาและฟื้นฟูแม่น้ำลำคลอง แหล่งน้ำสำคัญในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น คลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่บึงบอระเพ็ดจังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น โดยมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน อาทิ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) กลุ่มบริษัทเมืองไทยประกันภัย กลุ่มบริษัท ไทยเวฟเวอเรจ กลุ่มเซ็นทรัล สยามคูโบต้า และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ เข้ามาช่วยเหลือผลักดันทำให้ภาคราชการสามารถทำงานได้โดยคล่องตัวและมีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น

 

“สำหรับกิจกรรม “แม่น้ำเจ้าพระยาน่ามอง ปราศจากขยะ” ที่กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 9 จังหวัด คือ นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สิงห์บุรี และจังหวัดอุทัยธานี Kick off ในครั้งนี้จะมีขึ้นในวันที่ 18 ตุลาคม 2566 โดยคณะทำงานกิจกรรมแม่น้ำเจ้าพระยาน่ามองปราศจากขยะจะร่วมกันลงเรือเพื่อสำรวจสิ่งที่ผิดพลาดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือความตั้งใจของพวกเราทุกคนจนทำให้แม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็น “แหล่งรวมความสกปรก” เริ่มลงเรือจากบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาถึงปากน้ำ คือ จังหวัดสมุทรปราการ โดยตลอดทั้งวัน คณะทำงานฯ อันประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร CPAC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เก็บข้อมูลทั้งในด้านคุณภาพน้ำสภาพภูมิทัศน์ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ และขณะเดียวกันท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 10 จังหวัดก็ได้มีการตั้งคณะทำงานของจังหวัดลงเรือสำรวจ 2 ชายฝั่งและตลอดลำน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่โดยบันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ทั้งมุมสูง และแนวราบเพื่อนำมาผนวกกับชุดข้อมูลของคณะทำงานจากส่วนกลางเพื่อที่จะได้เห็นภาพที่ชัดเจนร่วมกันทั้งจากมุมมองของพื้นที่และมุมมองของส่วนกลาง นำไปสู่การจัดทำ “แผนแม่บทการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาฉบับสมบูรณ์” โดยมีหลักคิดที่สำคัญว่า “จะทำอย่างไรให้เส้นเลือดหลัก คือ แม่น้ำเจ้าพระยากลับมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความศิวิไลซ์ให้ได้ โดยเฉพาะเรื่อง “ความน่ามอง” และ “ปราศจากขยะ” ทั้งขยะจากวัชพืชทั้งหลาย โดยเฉพาะผักตบชวาและขยะจากการใช้สอยทั้งจากครัวเรือนและการสัญจรไปมาของประชาชนและขยะจากนักท่องเที่ยว” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

ปลัด มท.ระบุว่า การ Kick off ดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ เรามีเป้าหมายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 และคำนึงถึงเรื่อง “ความยั่งยืน” โดยน้อมนำตัวอย่างความสำเร็จตามแนวพระราชดำริที่สำคัญ คือ “คลองเปรมประชากร” ที่สามารถพัฒนาให้กลายเป็นตึกรามบ้านช่องสีสันสวยงาม มีริมคลอง มีพื้นที่เป็นเส้นทางเดิน สัญจรได้สะดวก และน้ำก็มีคุณภาพ อันเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยทหาร และความร่วมมือของประชาชนในแต่ละชุมชน โดยมีความรู้สึกของเยาวชนคนหนึ่งที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของชุมชนที่ได้รับสิ่งที่ดีจากแนวพระราชดำริที่น่าสนใจ  โดยเยาวชนคนนั้นได้กล่าวว่า “เป็นครั้งแรกของชีวิตที่เขากล้าชวนเพื่อนร่วมชั้นเรียน ไปเที่ยวที่บ้านเขา” เพราะแต่เดิมบ้านของเขามีแต่ความสกปรก บุกรุกลำน้ำ น้ำเน่าเสีย แต่ด้วยพระราชดำริ ทำให้เขาและครอบครัวมีสิ่งที่ดีของชีวิต จึงมั่นใจได้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำนี้ ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืนจริง ๆในปี 2567 จะเป็นปีที่ 3 ที่ชาวมหาดไทยและพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันเฉลิมฉลองเนื่องในวาระมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ด้วยการปฏิบัติบูชา ดังนั้น จังหวัดริมเจ้าพระยา มีเป้าหมายแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก และอีก 67 จังหวัด ก็จะดำเนินการคัดเลือกพื้นที่ที่จะทำให้มีสภาวะแวดล้อมที่ดีในเรื่องของแหล่งน้ำเพิ่มเติมขึ้นมา โดยกระทรวงมหาดไทยจะได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดนำโอกาสที่ดีของชีวิตในครั้งนี้ ทำสิ่งที่ดีสนองพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวร่วมกัน โดยมีเป้าหมาย คือ การถวายของขวัญแด่พระองค์ท่าน ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนได้อยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ดีและมีความสุข มี “แม่น้ำเจ้าพระยา” เป็นจุดเริ่มต้น และแม่น้ำอื่นอีก 22 ลุ่มน้ำ รวมทั้งลำน้ำสาขาในแต่ละจังหวัด โดยการปลุกพลังนายอำเภอ และทีมงานของอำเภอ อันประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี และประชาชนจิตอาสา อาสาสมัครต่าง ๆ ส่งเสริมบทบาทของเด็กและเยาวชน โดยการนำแนวทางตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. 2561 ระดมสรรพกำลังเชิญชวนประชาชนผู้มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปร่วมกับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ดูแลรักษาแหล่งน้ำให้มีความสะอาด นอกจากนี้ ในเชิงระบบหรือกฎหมาย กรมโยธาธิการและผังเมืองจะได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งจัดทำเทศบัญญัติเป็นกฎระเบียบสำหรับผู้ที่จะขออนุญาตปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียประจำบ้านเพื่อดักไขมัน กรองของเสีย ก่อนปล่อยน้ำที่มีคุณภาพเหมาะสมลงไปสู่แม่น้ำลำคลองอีกด้วย จึงขอให้พวกเราทุกคนได้ร่วมกันใส่ใจการขับเคลื่อน “แก้ไขในสิ่งผิด” ฟื้นคืนแม่น้ำลำคลองให้มีความสะอาด สวยงาม เหมาะสมที่จะเป็นที่อยู่ ที่พักอาศัยของสรรพสัตว์ พืชพันธุ์ทั้งหลาย และมนุษย์ทุกคน ทำให้ประเทศไทยของพวกเราทุกคน และโลกใบเดียวนี้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานอย่างยั่งยืน

 

“แนวพระราชดำริในการพัฒนาและฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้เป็นเพียงการปรับปรุงคูคลองให้กลับมาสวยงาม แต่ยังรวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนเส้นทางคมนาคมสัญจร หรือประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อช่วยป้องกันน้ำท่วม และเหนืออื่นใด คือการสร้างสังคมที่น่าอยู่ เข้มแข็งและปลอดภัยอันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย