ปลัดมหาดไทย พร้อมนายกสมาคมแม่บ้าน เยี่ยมชมแปลงโคก หนอง นา สวนเกษตรผสมผสานรองฯ ช. โชคชัย คำแหง ชื่นชมเป็นพื้นที่ต้นแบบการศึกษาเรียนรู้

ปลัดมหาดไทย พร้อมด้วยนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เยี่ยมชมแปลงโคก หนอง นา สวนเกษตรผสมผสานรองฯ ช. โชคชัย คำแหง ชื่นชมเป็นพื้นที่ต้นแบบการศึกษาเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา พร้อมเน้นย้ำผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช เร่งเสริมสร้างองค์ความรู้ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และน้อมนำไปปฏิบัติเพื่อสร้างสิ่งที่ดีในชีวิตอย่างยั่งยืน

วันนี้ (22 ก.ค. 66) ที่แปลงโคก หนอง นา สวนเกษตรผสมผสานรองฯ ช. โชคชัย คำแหง หมู่ที่ 6 ต.ควนกรด อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เยี่ยมชมการน้อมนำพระราชดำริอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ของนาย ช. โชคชัย คำแหง ผู้เคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นางพิชานันท์ เผือกผ่อง ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครศรีธรรมราช นายศรัทธา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายจตุพล ศรีดำ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายจิราวัฒน์ สุวรรณลิขิต โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช นายถิรนาท เอสะนาชาตัง นายอำเภอทุ่งสง พร้อมด้วยปลัดอำเภอ พัฒนาการอำเภอ พัฒนากร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน และภาคีเครือข่าย ร่วมให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมปลูกต้นหลุมพอทะเล (ประดู่ทะเล) และต้นทุเรียนหมอนทอง พร้อมทั้งเดินเยี่ยมชมพื้นที่ และปล่อยพันธ์ปลาในบริเวณแปลง และพบปะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ในพื้นที่

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวว่า ขอชื่นชมในแนวความคิดของท่าน ช. โชคชัย คำแหง ซึ่งมีแนวคิดในการใช้พื้นที่ที่ดินของตนเอง พัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ แปลงโคก หนอง นา สวนเกษตรผสมผสาน รองฯ ช. โชคชัย แห่งนี้ ซึ่งท่านได้มีแนวความคิดนี้ในช่วงเวลาเดียวกับการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ด้วยความมุ่งมั่นในการปรับปรุงพื้นที่ของตนเองโดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ ด้วยจิตใจที่รุกรบของการเป็นคนมหาดไทย นั่นคือปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ด้วยการเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ทำให้พี่น้องประชาชนเห็น ใช้วันหยุดราชการมาจับจอบจับเสียมปรับปรุงพื้นที่ จนกระทั่งท่านเกษียณอายุราชการ จึงได้ใช้เวลาของการเป็นข้าราชการบำนาญอย่างเต็มตัว พัฒนาพื้นที่แห่งนี้จนกลายเป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืน

“ขอให้ท่านผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช ได้สร้างการรับรู้ไปยังโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ให้ได้พานักเรียน นักศึกษา มาศึกษาเรียนรู้แปลงโคก หนอง นา สวนเกษตรผสมผสาน รองฯ ช.โชคชัย แห่งนี้ เพื่อที่จะทำให้พวกเขาได้รับการเติมเต็มแนวความคิดของการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง อันเป็นแนวคิดที่จะทำให้อยู่รอด ปลอดภัย ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และยังเป็นการเสริมสร้างให้เกิดการเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม มีการช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งปัน เพื่อที่จะทำให้พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนี้ นายสุทธิพงษ์ฯ ได้มอบแนวทางการเสริมสร้างพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้กับกรรมการหมู่บ้าน 7 ด้าน คือ 1) ต้องมีการแบ่งพื้นที่เป็นกลุ่มบ้าน เพื่อที่จะสามารถดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง 2) ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการขยะ ทั้งการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การแยกขยะตามหลัก 3Rs (3ช) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยขยะรีไซเคิลเมื่อนำไปขายก็จะกลายเป็นรายได้กลับคืนสู่ชุมชน เป็นกองทุนสวัสดิการในหมู่บ้าน โดยให้ทุกครัวเรือนมีสมุดเงินฝากประจำบ้าน 3) ต้องช่วยกันทำให้ลูกหลานเป็นคนมีศีล มีธรรม อยู่ในระเบียบวินัย มีความกตัญญูกตเวที รู้จักประเพณีวัฒนธรรม ขยันในการที่จะช่วยเหลืองานบ้าน 4) บ้านของเราต้องปลอดภัย ซึ่งบ้านจะปลอดภัยได้เราต้องทำให้ทุกครัวเรือนช่วยกันดูแล ด้วยระบบกลุ่มบ้าน เข้ามาช่วยทั้งการพัฒนา การระแวดระวังภัยอันตราย การคอยส่งข่าว โดยมีประธานกลุ่มบ้านรายงานข่าวให้ผู้ใหญ่บ้าน แล้วผู้ใหญ่บ้านก็จัดให้มีกิจกรรมการประกวดประขัน ปลูกผักสวนครัว หน้าบ้านน่ามอง แล้วถ้าลูกหลานบ้านไหนติดยาเสพติดก็ส่งข่าวพาไปบำบัด 5) ต้องทำให้คนในหมู่บ้านของเราเป็นคนมีจิตอาสา ช่วยเหลือส่วนรวม มีงานประเพณีงานศพงานแต่งก็มาช่วยกัน มีงานพัฒนาหมู่บ้านก็มาช่วยกัน 6) หากในหมู่บ้านมีใครเดือดร้อนก็ช่วยเหลือเมตตากันเกื้อการุณกัน และ 7) ช่วยกันทำให้พื้นที่ส่วนรวมเกิดเป็นประโยชน์ เช่น ป่าชุมชน ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช เป็นแหล่งอาหาร ยาสมุนไพร เช่น ใช้ที่วัดทำเป็นลานธรรม ลานยาสมุนไพร เป็นสถานที่ในการที่จะช่วยถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม องค์ความรู้ เป็นรมณียสถาน เป็นที่ออกกำลังกาย ที่สร้างความมั่นคงทางอาหาร และประการที่สำคัญต้องมีการประชุมพูดคุยกันเป็นประจำสม่ำเสมอในทุกเดือน โดยผู้ใหญ่บ้านจะต้องประชุมเดือนละ 2 ครั้ง คือ การร่วมกับประธานกลุ่มบ้าน และการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อจะได้มีข้อมูลนำเสนอปลัดอำเภอประจำตำบล เพื่อทำให้นายอำเภอมีข้อมูลในการดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ร่วมกับทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนต่อไป

นาย ช. โชคชัยฯ กล่าวว่า พื้นที่แปลงโคก หนอง นาฯ แห่งนี้ มีพื้นที่รวม 8 ไร่ เกิดจากแนวความคิดของตนเองที่ตั้งใจจะพัฒนาพื้นที่ของตนเองเพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณอยู่ก่อนแล้ว ประกอบกับเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรเตรียมความพร้อมตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งขณะนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ท่านได้มาบรรยาย พบปะพูดคุยและได้ให้แนวคิดของกรมพัฒนาชุมชนในการดำเนินโครงการโคก หนอง นา ว่าเป็นการ “พัฒนาคน” ตนเลยเรียนท่านว่าก็มีแนวคิดที่จะทำเรื่องนี้เหมือนกัน ท่านปลัดกระทรวงก็เลยเชิญชวนให้ผมมาทำร่วมกัน ตนจึงปรับพื้นที่ควบคู่ไปกับการสมัครร่วมกับโครงการโคก หนอง นา ตามนโยบายที่กรมการพัฒนาชุมชนได้กำหนดไว้

“จากการเคยเข้ารับการอบรมทำให้ได้มีความรู้ว่า เจ้าบ้านควรจะต้องปรับพื้นที่ของตัวเองให้มีแหล่งน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตด้านพืชผล ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน เพราะมีความหลากหลาย แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะอยู่บนเขาก็สามารถทำแหล่งน้ำได้ เพื่อจะเป็นปัจจัยต้นในการปลูกพืชผัก เพราะฉะนั้นจึงได้มีหลักคิดทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่าจะต้องมีพื้นที่น้ำ พื้นที่นา พื้นที่สวน และพื้นที่บ้าน จึงเป็นที่มาของแนวคิดโคก หนอง นา ที่มีแนวคิดหลักการใกล้เคียงกัน โดยมีหลักการก็คือว่า พื้นที่ของพืช ซึ่งพืชบางชนิดชอบอยู่ที่สูง บางชนิดชอบอยู่ใกล้น้ำ เพราะฉะนั้นถ้าปรับพื้นที่ให้เป็นที่สูงต่ำหนอง บึง คลองได้ก็แล้วแต่ ก็จะสามารถปลูกพืชได้อย่างหลากหลายเพราะพืชบางชนิดไม่สามารถอยู่ในน้ำได้ พืชบางอย่างก็ชอบใกล้น้ำ พืชบางอย่างก็อยู่ระหว่างน้ำกับที่สูง เราก็ปลูกพืชได้หลากหลาย ดังนั้นถ้าเราปรับพื้นที่ ที่มีอยู่แล้วตามสภาพให้อยู่ในลักษณะเป็นโคก เป็นหนอง เป็นนา ทำให้เราก็สามารถปลูกพืชได้หลากหลาย เพราะฉะนั้นท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ก็ได้มีแนวคิดว่า จะต้องทำโครงการลักษณะนี้เพื่อให้พี่น้องประชาชนไปปรับพื้นที่ตัวเองเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือนเป็นพื้นฐาน” นาย ช. โชคชัยฯ กล่าว

นาย ช. โชคชัย คำแหง กล่าวต่ออีกว่า ผมก็มีหลักคิดว่า “เราชอบปลูกต้นไม้อยู่แล้ว” เพราะฉะนั้นถ้าเราทำพื้นที่เพื่อเป็นแบบอย่างกับประชาชน “ให้ชาวบ้านได้เห็นตัวอย่างว่ารองผู้ว่าราชการจังหวัดก็ทำ” ผมถือจอบ ถือเสียม เพื่อให้ชาวบ้านได้เห็นว่า เราจะไม่ปล่อยเวลาว่างให้สูญเปล่า ซึ่งไม่ได้บังคับว่าชาวบ้านจะต้องไปทำ ผมก็ทำของผม ทำไปเรื่อย ๆ ชาวบ้านก็ค่อย ๆ เห็น ผมตากแดด ตากฝนทำ แล้วก็มีแนวคิดว่าจะต้องมีการปลูกพืชหลากหลาย ซึ่งผมมีแนวคิดที่จะปลูกพืชยืนต้นเพื่อช่วยลดคาร์บอนในอากาศ ซึ่งหากเราปลูกพืชยืนต้นขนาดใหญ่ ก็จะช่วยในเรื่องนั้นได้ นอกจากนี้ ท่านสุทธิพงษ์ฯ ยังได้เคยให้แนวคิดว่า การปลูกพืชแบบผสมผสานตามหลักโคก หนอง นา ต้องไม่ปลูกพืชหลากหลายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีพืชประธานที่อนาคตจะสร้างรายได้หลักให้เราได้ เพราะถ้าเราปลูกแต่พริก มะเขือ มันจะไม่เป็นแหล่งรายได้หลักให้เรา ท่านก็แนะนำว่า พืชประธานที่อยู่ในสวนได้จะเป็นทุเรียน บ้านท่านอยู่ตราดท่านก็ชอบทุเรียน ผมก็เลยยกเป็นโคกขึ้นมาเพื่อปลูกทุเรียน เดิมพื้นที่เก่าเป็นที่นาได้ยกร่องขึ้นมาเพื่อให้ปลูกพืชหลากหลาย ตอนนี้ก็ปลูกทุเรียนไว้เป็นไม้ประธานประมาณ 160 ต้น แล้วก็ไม้อย่างอื่น เช่น ไม้ยางนา ไม้แดง ซึ่งทางใต้เรียกว่าไม้ทำเสา ต้นหว้า ต้นจิก กล้วย สับปะรด ฝรั่ง มะพร้าว และท่านก็แนะนำให้ปลูกผักกูด ผักหนามไว้ และก็เลี้ยงปลาในบ่อ 2 บ่อในเนื้อที่ 8 ไร่ โดยมีบ่อประมาณ 3 ไร่ ขนาบข้าง 2 ฝั่ง ทำให้มีแหล่งน้ำสมบูรณ์

“จากวันที่เริ่มโครงการและได้คุยกับท่าน จนถึงวันนี้ประมาณ 3 ปีเศษ หลายอย่างก็มีผลผลิตแล้ว กล้วย สับปะรด ฝรั่ง ขิง ข่า ตะไคร้ ก็โตเร็ว สวนทุเรียนก็กำลังโต ไม้ยืนต้นอื่นก็กำลังโต แต่หลักคิดหนึ่งที่ได้ก็คือว่า พอเราปลูกพืชหลากหลายแล้ว โดยธรรมชาติ โรคของพืชและแมลงจะไม่ระบาดมากเท่ากับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่นบางที่มีสวนทุเรียนซึ่งปลูกทุเรียนอย่างเดียวก็จะพบเจอหนอนทุเรียนบ้าง เพลี้ยบ้าง แต่ในสวนนี้ไม่มี เพราะแทนที่หนอนจะกินทุเรียน มันก็ไปกินใบ เพราะมันชอบ มันอ่อนกว่า ซึ่งถ้าชาวบ้านเอาหลักคิดนี้ไปทำได้ ก็จะทำให้มีแหล่งอาหารที่ตัวเองไม่ต้องไปซื้อทุกเรื่อง คือ “ซื้อให้น้อยที่สุด” ซึ่งผมก็มีหลักคิดว่าให้ชาวบ้านได้เห็นตัวอย่างจากการได้ทำจริง ผมก็ทำที่ไว้อนาคต เพื่อคนมาดูงาน ซึ่งอนาคตก็วางแผนไว้ว่าจะพัฒนาเป็นที่เข้าค่ายของเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ให้เด็กมาทำกิจกรรมเข้าค่ายอีกด้วย” นาย ช. โชคชัยฯ กล่าวเพิ่มเติม

นาย ช. โชคชัย คำแหง กล่าวในช่วงท้ายว่า เกษตรผสมผสาน ในอดีตทางใต้เรียกว่า “สวนสมรม” มีลักษณะสอดคล้องกับหลักอารยเกษตร และหลักการของโคก หนอง นา โดยสวนสมรมในทางภาคใต้ จะไม่มีการปรับพื้นที่ แต่โคก หนอง นา มีการปรับพื้นที่ให้มีแหล่งน้ำ ให้มีบ่อน้ำที่จะใช้น้ำด้วย ในขณะเดียวกันก็มีเนิน เมื่อเราขุดบ่อแล้วแทนที่จะไปถมหรือไปเกลี่ยให้เสมอ ก็เอาดินยกให้เป็นโคก ไม่จำเป็นต้องไปหาดินจากที่อื่น นั่นก็คือหลักคิด ซึ่ง ผมก็มีความตั้งใจที่จะทำเพื่อเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้าน ในขณะเดียวกันก็มีความสุขที่ได้ทำสวนของตัวเอง ซึ่งการทำสวนตัวอย่างนี้ นอกจากจะเป็นพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน เข้ามาศึกษาเรียนรู้แล้ว ในขณะเดียวกัน ผมต้องการเอาพืชพื้นบ้านมาปลูก ถือเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือการมีพืชพันธุ์ที่สามารถขยายพันธุ์ได้เองโดยไม่ต้องไปซื้อ ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องไปซื้อเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุน และเพื่ออนุรักษ์พืชเหล่านี้ไม่ให้สูญพันธุ์ และเพิ่มความหลากหลายของพืชพันธุ์ที่จะเป็นแหล่งอาหารให้เราได้โดยไม่ต้องไปซื้อ ตามหลักคิด คือ “ซื้อให้น้อยที่สุด” เพราะสิ่งที่เราไปซื้อคือเป็นสิ่งที่เราปลูกได้ แต่คนไม่ค่อยปลูก เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เมื่อผลผลิตราคาตก รายได้ก็ลดลง ก็ไม่มีต้นทุนเพียงพอในการไปซื้อของดำรงชีวิต แต่หากปลูกพืชผสมผสานตามหลักแนวคิดโคก หนอง นาได้ แม้ว่าผลผลิตจะราคาตก แม้ว่าจะมีรายได้น้อย แต่เราก็มีอาหารที่อยู่ในสวนของเราเพียงพอให้ได้กิน ก็จะไม่เกิดความเดือดร้อน นี่คือหลักคิดสำคัญของโคก หนอง นา