“อำเภอกัลยาณิวัฒนา” อำเภอแห่งความสุขที่ยั่งยืน ใต้ร่มพระบารมี

“เนื่องในโอกาส 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พวกเราชาวมหาดไทย ร่วมน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ท่านทรงเป็นต้นแบบการส่งเสริมพัฒนาและบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้มีความอยู่ดี กินดี มีชีวิตที่มั่นคง และสายธารแห่งน้ำพระทัยนี้ ยังคงได้รับการสานต่ออย่างต่อเนื่องด้วยกลไกของชาวมหาดไทยและภาคีเครือข่ายในพื้นที่อย่างไม่หยุดยั้ง และเราจะยังคงก้าวต่อไปเพื่อทำให้ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืนใต้ร่มพระบารมี” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

นายสุทธิพงษ์ ระบุว่า อำเภอกัลยาณิวัฒนา  เป็นอำเภอที่ 878 ของประเทศไทย ซึ่งแยกมาจากอำเภอแม่แจ่ม ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระนาม “กัลยาณิวัฒนา” อันเป็นสิริมงคลยิ่งของพี่น้องประชาชนและเป็นหลักชัยในการส่งเสริมการพัฒนาในทุกมิติของภาคราชการด้วยการบูรณาการร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนชาวกัลยาณิวัฒนา ที่พักอาศัยในพื้นที่ที่แวดล้อมไปด้วยป่าสนและทรัพยากรทางธรรมชาติจำนวนมาก และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ ท่ามกลางหุบเขาที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้ ได้ใช้ชีวิต มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ และอยู่ร่วมกับครอบครัวได้อย่างมีความสุข

 

สำหรับอำเภอกัลยานิวัฒนา ถือเป็นอำเภอเฉลิมพระเกียรติลำดับสุดท้ายในรัชสมัยของพระองค์ท่านอันสะท้อนถึงพระราชประสงค์ที่สำคัญที่ชาวมหาดไทยและข้าราชการทั้งปวงต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและรำลึกถึงพระราชกรณียกิจที่พระองค์ได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาตามหลักทฤษฎีใหม่ หลักการทรงงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสำคัญที่พวกเราทุกคนต่างน้อมนำมาเป็นหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาคน เพื่อให้คนไปพัฒนาพื้นที่ ทำให้ทุกพื้นที่ของประเทศไทยเป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืน นั่นคือ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ปลัด มท.ระบุว่า “เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กระทรวงมหาดไทยน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน จึงได้ร่วมกับกรมและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย บูรณาการจับมือภาคีเครือข่ายระดมสรรพกำลังแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานขึ้นเพื่อค้นคว้า ศึกษา วิเคราะห์ พระกรณียกิจ แนวทางการทรงงานที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติส่งผลถึงความอยู่ดีกินดีของประชาชน เมื่อครั้งยังทรงพระชนม์ชีพ จึงได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันในการพุ่งเป้าพัฒนาพื้นที่ ณ “อำเภอกัลยาณิวัฒนา” จังหวัดเชียงใหม่ อำเภออันเนื่องด้วยพระนาม ที่เป็นอำเภอน้องใหม่ของประเทศไทย

 

โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เลือกพื้นที่ “โรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ” เป็นพื้นที่เป้าหมายการส่งเสริมการเรียนรู้ ตั้งแต่เรื่องของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อทำให้นักเรียนได้เรียนรู้หลักการพึ่งพาตนเอง ทั้งได้ร่วมภาคีเครือข่าย ปรับปรุงห้องสมุดของโรงเรียนให้เป็น Digital Library เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ที่เอื้อต่อการอ่านและการเรียนรู้

 

ขณะที่ กรมการพัฒนาชุมชน ได้ขับเคลื่อนโครงการ “1 หมู่บ้าน 1 ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” และ “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” พร้อมทั้งน้อมนำพระดำริ Sustainable Fashion ผ่านโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยการส่งเสริมการประกอบสัมมาชีพให้กับพี่น้องประชาชนผู้ประกอบการในพื้นที่ซึ่งมีต้นทุนภูมิปัญญา “ผ้าทอปกาเกอะญอ” ด้วยกี่เอวที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ทักษะฝีมือมาจากผู้เป็นแม่ตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงตัวน้อย สร้างสรรค์ลวดลายและทักษะงานฝีมือด้วยความรัก ความใกล้ชิด ความเคารพต่อธรรมชาติ และความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษโดยใช้สิ่งที่พบเห็นในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน ประเพณี และคตินิยมของชนเผ่ามาประยุกต์ถ่ายทอดลงสู่ลวดลายบนผืนผ้า ด้วยการพัฒนากระบวนการถักทอตั้งแต่การปลูกฝ้าย การปลูกต้นไม้ให้สีธรรมชาติเพื่อย้อมผ้า รวมถึงส่งเสริมการตลาดอาหารพื้นถิ่น

 

ส่วนของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านจันทร์ โดยได้รับความเมตตาจาก พระครูพิศิษฏ์พัฒนสาร เจ้าคณะตำบลแม่แดด-แจ่มหลวง และเจ้าอาวาสวัดห้วยบง อนุญาตให้ใช้พื้นที่สวนป่าภายในวัด จัดทำ “โครงการ 1 อปท. 1 สวนสมุนไพร เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566” เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้สวนสมุนไพรให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชนได้เห็นคุณค่าของสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชน รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการรักษาสุขภาพ การอนุรักษ์และการใช้สมุนไพรท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ อันทำให้วัดเป็นสัปปายสถาน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับประชาชน ตามหลักการทรงงาน “บวร” คือ บ้าน วัด ราชการ รวมถึงพัฒนาสาธารณูปโภค การปรับปรุงแหล่งน้ำ การพัฒนาและซ่อมแซมถนนหนทาง การซ่อมแซมบ้านพักให้กับกลุ่มเปราะบาง และการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว เป็นต้น

 

กรมการปกครอง ได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณพระอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้านหน้าที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา ด้วยการจัดภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียว และวางจุดการปลูกต้นไม้ “ต้นรวงผึ้ง” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และ “ต้นสน” ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำถิ่น เพื่อทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดสร้างแทงค์กักเก็บน้ำเพื่อป้องกันภัยแล้ง กรมที่ดิน ดำเนินโครงการเร่งรัดแก้ไขปัญหาคำขอออกโฉนดที่ดินจากหลักฐาน ส.ค.1 ที่ค้างดำเนินการในเขตพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา

 

ขณะที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดำเนินการพัฒนาระบบไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้รับบริการและผู้มาพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายในบริเวณพื้นที่ที่ว่าการอำเภอ องค์การตลาด และองค์การจัดการน้ำเสีย สนับสนุนเครื่องมือการแปรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตทางการเกษตร คือ อโวคาโดและกาแฟ ให้ได้รับการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนเพิ่มขึ้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

 

 

นอกจากนี้ ปลัด มท.ยังได้ให้คำแนะนำกับพี่น้องประชาชนและภาคีเครือข่าย ในการพัฒนาพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนาให้เป็นพื้นที่แห่งความมั่นคงและพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืน ด้วยการน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา มาเป็นหลักในการพัฒนาพื้นที่ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ด้วยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาควิชาการ เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนชาวกัลยาณิวัฒนาได้ใช้พื้นที่ที่เหมาะสม ดำรงชีวิตอย่างพึ่งพิง พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยในการพัฒนาพื้นที่ทั้ง 22 หมู่บ้าน 13 หย่อมบ้าน 3 ตำบล ของอำเภอกัลยาณิวัฒนาให้เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)”

 

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า “อำเภอกัลยาณิวัฒนาแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ เป็นพื้นที่แห่งสายธารน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระอนุสรณ์ถึงสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเชษฐภคินีผู้ทรงมีสายพระเนตรและน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้น พระผู้ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระองค์ท่าน ด้วยการมุ่งมั่นทรงงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรในพื้นที่ห่างไกลเจริญรอยตามสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แม่ฟ้าหลวงของปวงชนชาวไทย

 

ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณเหล่านี้ ยังคงได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ โดยกระทรวงมหาดไทย ขอน้อมนำพระราชประสงค์และพระราชปณิธานนี้ มุ่งมั่น ทุ่มเท สรรพกำลัง บูรณาการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมกันขับเคลื่อนส่งเสริมพัฒนาในทุกด้านเพื่อให้ประชาชนชาวอำเภอกัลยาณิวัฒนา ได้มีที่ทำกิน มีความมั่นคงในชีวิต มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง อยู่ท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ภูมิปัญญาที่หลากหลายชาติพันธุ์ ด้วยด้วยความรัก ความผูกพัน ความอบอุ่น ความสามัคคี อันจะยังความสุขอย่างยั่งยืน”