ยุทธการ “กรมการค้าภายใน” ประคองมะม่วง ปี 2566 ดึงมือดี “อมก๋อย โมเดล” บุกสวน กลาง-เหนือ-ใต้ ซื้อล่วงหน้า ราคานำตลาด เร่งกระจาย

มะม่วง เป็นหนึ่งผลไม้เศรษฐกิจของไทย  เป็นทั้งพืชสวนเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และปลูกในครัวเรือน  ด้วยประโยชน์และสรรพคุณของมะม่วงมีมากมาย ทั้งบำรุงร่างกาย รสชาติอร่อยช่วยให้กระปรี้กระเปร่า ความนิยมบริโภคของคนไทยและต่างประเทศจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งขณะนี้มะม่วงไทยเป็นรู้จักในทั่วโลกผ่านร้านอาหารไทยในต่างแดน เป็นเมนูหวานในงานเลี้ยงระดับประเทศ รวมถึงการกินมะม่วงโชว์ของศิลปินดัง จึงทำให้ในแต่ละปีตัวเลขผลผลิตเพิ่มขึ้นๆ โดยปี 2566 คาดการณ์ผลผลิตมะม่วงเชิงพาณิชย์ จะมีปริมาณรวม 1.34 ล้านตัน แหล่งผลิตสำคัญ  แบ่งเป็นภาคเหนือ 50% ภาคกลาง 35% และภาคตะวันออก 15%

ปี2566 นี้ ผลผลิตมะม่วงเริ่มออกสู่ตลาดและเห็นวางจำหน่ายกันแล้ว ก่อนเข้าเทศกาลสงกรานต์ โดยมะม่วง เป็นพืชที่ให้ระยะเวลาผลผลิตออกสู่ตลาดจนหมดจะใช้ระยะยาวกว่าผลไม้เศรษฐกิจอื่นๆ เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงเดือนมิถุนายนของปี   ล็อตแรกของผลผลิตออกตลาด เดือนเมษายนนี้ เริ่มที่ภาคกลาง คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตรวม 352,484 ตัน มาจากแหล่งผลิตใหญ่ คือ จังหวัดพิษณุโลก 99,542 ตัน ทั้งหมดเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้ จังหวัดพิจิตร  47,341 ตัน ส่วนใหญ่เป็นมะม่วงน้ำดอกไม้ 37,034 ตัน ที่เหลือเป็นมะม่วงฟ้าลั่น จังหวัด สระแก้ว  22,000 ตัน ฉะเชิงเทรา 34,960 ตัน สุพรรณบุรี 66,907 ตัน ประจวบคีรีขันธ์ 81,734 ตัน โดยส่วนใหญ่ผลิตน้ำดอกไม้ และแซมด้วยโชคอนันต์  เขียวเสวย ฟ้าลั่น และสายพันธ์อื่นๆ  จากนั้น เดือนพฤษภาคม ผลผลิตภาคเหนือจะทยอยออก คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตรวม 624,463 ตัน แหล่งผลิตสำคัญ คือ จังหวัดเชียงใหม่ 133,851 ตัน จังหวัดลำพูน 172,958 ตัน สุโขทัย 300,344 ตัน เพชรบูรณ์ 17,310 ตัน และส่วนใหญ่เป็นการมะม่วงน้ำดอกไม้ ถึง 89,349 ตัน ที่เหลือเป็นมะม่วงโชคอนันต์ เขียวเสวย มหาชนก เขียมมรกต และพันธุ์อื่นๆ ส่วนจังหวัดอื่นๆ รวมกันอีกประมาณ 363,053 ตัน

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์  กล่าวถึงสถานการณ์ราคามะม่วงไทยว่า จากการลงแหล่งผลิตมะม่วงสำคัญในภาคกลาง และพูดคุยกับเกษตรกรภาคเหนือ ด้วยภาวะอากาศร้อนคงที่ พื้นที่ปลูกไม่เจอผลกระทบจากพายุ ทำให้คุณภาพมะม่วงปีนี้ดี แต่ผลผลิตประเมินว่าจะลดลง 4% ต่างกับปีก่อน คุณภาพจะด้อยด้วยเจอฝนชุก ทำให้มะม่วงติดโรคเกิดเชื้อรา ตลาดส่งออกจึงทำได้น้อย ด้วยที่ปัจจัยหนุนมะม่วงปีนี้ ทั้งคุณภาพที่ดี ทำให้คำสั่งซื้อล่วงหน้าเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น ประกอบกับเปิดประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้ามาเที่ยวไทย ส่วนหนึ่งเพื่อมารับประทานผลไม้หน้าร้อนของเมืองไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรปและจีน  จึงส่งผลดีต่อราคามะม่วง ขณะนี้ซึ่งเป็นมะม่วงช่วงต้นฤดู พบว่า มะม่วงน้ำดอกไม้ กก.ละ 40 บาท  โดยราคาเฉลี่ยปี 2565  มะม่วงน้ำดอกไม้ กก.ละ 20 บาท รวมถึงราคาเขียวเสวย มหาชนก ก็มีราคาดี

รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เสริมอีกว่า มะม่วงน้ำดอกไม้ ตอนนี้ยังระบายได้ดี จากความต้องการของตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงอุปสรรคด้านขนส่งได้คลี่คลายแล้ว หลังผลกระทบจากโควิด-19 ลดลง เมื่อรู้ว่าผลผลิตเริ่มออกก็กระตุ้นให้เกิดการซื้อตั้งแต่ต้นฤดู ตอนนี้คำสั่งซื้อเพื่อส่งออกดีกว่าปีก่อนมาก แต่ในกลุ่มมะม่วงมัน เป็นมะม่วงรสเปรี้ยว ที่นิยมไปทำส้มตำ ทำเมนูของว่าง แต่ก็มีตลาดจำกัดกว่ามะม่วงน้ำดอกไม้ ที่ส่งออกได้มากและนักท่องเที่ยวมาไทยหารับประทาน  มะม่วงมันพันธ์ต่างๆเมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันในปริมาณที่มาก จะถูกกดราคารับซื้อได้ง่าย ไม่ว่าจะฟ้าลั่น มหาชนก โชคอนันต์ ซึ่งผลผลิตในปริมาณที่มากใกล้เคียงกันในแต่ละแหล่งปลูก กรมการค้าภายใน จึงต้องให้น้ำหนักเข้าไปดูแลมะม่วงพันธุ์มันมากขึ้น โดยโครงการ “อมก๋อย โมเดล” เป็นหนึ่งใน 22 มาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกปี 2566 จะเป็นหัวหลัก เข้าบริหารจัดการผลไม้ ซึ่งเป้าหมายคือการดูดซับ 10% ของผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด ที่เพียงพอกับการประคองราคาได้ในขณะที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากๆพร้อมกัน

โดยก่อนหน้านี้ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน นำผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ห้างค้าส่งค้าปลีก เข้าไปรับซื้อผลผลิตมะม่วงจากเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ในราคานำตลาด เพื่อดูแลเกษตรกรให้ขายผลผลิตได้คุ้มต้นทุนและมีรายได้เพิ่มขึ้น  ล่าสุด นำผู้ประกอบการ จำนวน 12 ราย ได้แก่ แม็คโคร บิ๊กซี โลตัส เดอะมอลล์ ท้อปส์ บริษัท เรด เลม่อน จำกัด บริษัทเอ็ม ที ฟรุ๊ตตี้ จำกัด บริษัทวันพิษณุโลก จำกัด ลงพื้นที่แหล่งปลูกมะม่วงในจังหวัดพิจิตร และ พิษณุโลก รวมประมาณกว่า 16,000 ตัน จากเกษตรกรจำนวน 1 0 กลุ่ม 7 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดพิจิตร กลุ่มแปลงใหญ่มะม่วง อ.สากเหล็ก (ต.คลองทรย ต. วังทับไทร) อ.เมือง(ต.บ้านบุ่ง) อ.ดงเจริญ(ต.สำนักขุนเณร ) อ.วังทรายพูน(ต.หนองปลาไหล ต.วังทรายพูน ) จังหวัดพิษณุโลก กลุ่มแปลงใหญ่มะม่วง อ. เมือง(ต.บ้านคลองวังเรือ )อ.วังทอง(ต.ชัยนาท) อ.เนินมะปราง(ต.บ้านวังน้ำบ่อ ต. บ้านลำภาศ ) ซึ่งใน 2 จังหวัดจะมีผลผลิตและส่วนใหญ่เป็นน้ำดอกไม้รวมกันประมาณ 150,000 ตัน ได้เข้าไปรับซื้อราคานำตลาด จำนวน 16,000 ตัน แยกเป็นน้ำดอกไม้ 10,000 ตัน และมะม่วงมันต่างๆอีก 6,000 ตัน

” การที่เราเร่งบริหารจัดการมะม่วง แม้คุณภาพดี ผลผลิตลดลง แต่ผลผลิตออกช้ากว่าปกติ  อีกทั้ง ผลไม้มีวันอันตราย มะม่วง ผลผลิตจะใช้เวลาออกยาว  อย่างมังคุด ทุเรียน ลำไย  แค่ 10 วันก็จบ ทำให้ผลผลิตออกต้องแย่งกันซื้อจนเกือบหมดสวน  แต่ มะม่วง ผลผลิตออกต่อเนื่องเป็นเวลานานเป็นเดือนๆในแต่ละแหล่งปลูก  แง่ผู้บริโภคอาจรับประทานแบบสด หรือ แปรรูปเป็นอาหารหวาน ไอศกรีมดับร้อน แต่เชื่อว่าการบริโภคต่อเนื่องแค่ 15 วันแรก แต่หลังจากนั้นความต้องการของตลาดจะลดลงต่อเนื่อง มะม่วงออกมานานผิวจะไม่สวย เสียหายง่าย กลายเป็นตกเกรด  แม้มาแปรรูปความนิยมอาจไม่แพร่หลาย อย่าง ลำไยอบแห้ง ทุเรียนกวน ลิ้นจี่ เงาะ มาเป็นผลไม้กระป๋อง จึงเป็นที่มาของการใช้ อมก๋วย โมเดล เป็นเครื่องมือสำคัญแก้ปัญหาครบวงจร เมื่อผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อในราคานำตลาดแล้ว ก็สามารถนำมาวางจำหน่ายเครือข่ายกรมการค้าภายใน ทั้งโมบายรถจำหน่ายสินค้าราคาถูก งานออนทัวร์  ตลาดต้องชมที่มีกว่า 200 แห่งแล้ว ซึ่งสงกรานต์นี้ กรมการค้าภายใน ร่วมกับเทศบาลเมืองหนองคาย จัดงาน TongChom Market Songkran 2023 by DIT ณ ตลาดแคมของเมืองหนองคาย ถนนคนเดินริมโขงที่ยาวที่สุดในโลก ระหว่างวันที่ 12–16 เมษายน ก็ให้ผู้ซื้อนำมะม่วงไปขาย 20 ตัน หรือ 2 หมื่นกิโลกรัม ก็ได้รับความนิยมขายดีมาก รวมถึงพันธมิตร ทั้งร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีกค้าส่งในกรุงเทพและท้องถิ่นกว่า 400 ราย  สถานีบริการน้ำมันที่มีการซื้อไปเป็นของสมนาคุณคนเติมน้ำมัน จำนวน 5,000-6,000 จุดในเวลาอันสั้นจะดูดซับได้ 400-500 ตัน  ยังมีความร่วมมือกับ 60 นิคมอุตสาหกรรม กว่า 30,000 โรงงาน และภาคเอกชนที่เปิดรับคำสั่งซื้อล่วงหน้า โดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ช่วยการจัดส่ง เป็นต้น ”

ทั้งนี้ โครงการ อมก๋อย โมเดล  เริ่มตั้งแต่ปี 2563- 2565 มีบทบาทสำคัญบริการจัดการแล้ว 5 กลุ่มหลัก 29 สินค้า รวมปริมาณ 3.6 แสนตัน ทั้งข้าว พืชไร่ ผลไม้(15ตัว) หอมแดงกระเทียม หอมหัวใหญ่ สัตว์น้ำ(3ชนิด) และสร้างมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท  โดยมีเครือข่ายเพื่อการระบายสินค้ามากกมาย ทั้ง ผู้ส่งออก แปรรูป ค้าส่งค้าปลีก ตลาดกลางสินค้าเกษตร ปั๊มน้ำมัน นิคมอุตสาหกรรม  ตลาดต้องชม รถโมบาย และร้านธงฟ้าทั่วประเทศ

นายกรนิจ  ย้ำอีกว่า  กรมการค้าภายใน กำลังติดตามสถานการณ์ผลผลิตและดูความเคลื่อนไหวของราคามะม่วง ในภาคเหนือ ที่กำลังติดดอก และผลผลิตน่าจะทยอยออกมากในเดือนพฤษภาคม เบื้องต้นประเมินว่า 2 จังหวัดหลัก คือ เชียงใหม่ และลำพูน จะมีผลผลิตรวม 300,000 ตัน ว่าตรงตามคาดการณ์ หรือมากหรือน้อยกว่าคาดการณ์ ซึ่งอย่างไรก็จะเข้าไปซื้อนำตลาดเหมือนกับภาคกลาง เช่นเดียวกับภาคใต้ที่ผลผลิตจะออกในเดือนถัดๆไป เพราะแม้จะมีการส่งออกได้ดี แต่ภาพรวมสัดส่วน 80% ยังเป็นการพึ่งพาการบริโภคในประเทศ ส่งออกเพียง 20%  ตลาดส่งออกมะม่วงสด ตลาดหลัก คือ มาเลเซีย เวียดนาม ตลาดหลักมะม่วงกระป๋อง  คือ ญี่ปุ่น สหรัฐ  ตลาดมะม่วงอบแห้ง คือ สหรัฐและจีน  ตลดาหลักมะม่วงแช่แข็ง คือ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ซึ่งปีนี้ด้วยคุณภาพมะม่วงดี อย่างน้ำดอกไม้ก็น่าจะส่งออกเติบโตกว่าปีก่อน 10 %

อย่างไรก็ตาม  ไม่แค่มะม่วง ที่กรมการค้าภายในเฝ้าติดตามตั้งแต่ต้นฤดู และเข้าแก้ปัญหาทันที ผลผลิตผลไม้เศรษฐกิจอื่นๆควบคู่ไปด้วย  โดยภาพรวมปี 2566 คณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board)  ประเมินว่าผลผลิตผลไม้สำคัญทางเศรษฐกิจ มีปริมาณรวม 6.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% ผลไม้หลักๆ เช่น ทุเรียน เพิ่ม 18% มังคุด เพิ่ม 30% ลำไย เพิ่ม 1% เงาะ เพิ่ม 7% ลิ้นจี่ เพิ่ม 10% มะม่วง เพิ่ม 4% สับปะรด เพิ่ม 5%  ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการโดยกรมการค้าภายใน เตรียมตลาดล่วงหน้ารองรับผลไม้ไว้แล้วกว่า 700,000 ตัน ภายใต้ 22 มาตรการ บวกเพิ่มกับคณะทำงานผลักดันการส่งออกผลไม้ไทยภาครัฐร่วมกับเอกชน ทำหน้าที่เป็นวอร์รูม ติดตามสถานการณ์การผลิต การตลาด และประสานงานแก้ไขปัญหาการจำหน่าย การส่งออกผลไม้ โดยเฉพาะการผลักดันส่งออกไป 3 ตลาดศักยภาพ ได้แก่ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และประเทศกล่มซีแอลเอ็มวี บนเป้าหมายผลักดันการส่งออกผลไม้สดและแปรรูป 4.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10%

ร้อนนี้ กรมการค้าภายใน เชิญชวนคนไทยบริโภคผลไม้  ยิ่งจุดขายติดสัญลักษณ์ by DIT  รับรองได้ถึงความสดใหม่ รสชาติดี แน่นอน