“แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก” รับเทรนด์สายสุขภาพมาแรง

“เพราะหมอที่ดีที่สุด คือ ตัวเราเอง” ข้อความนี้เป็นหัวใจสำคัญของศาสตร์การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมหรือที่เรารู้จักกันดีว่า เวลเนส (Wellness) หลักสูตรปริญญาโท สาขาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกได้นำข้อความนั้นมาเป็นหัวใจหลัก ดังนั้นเมื่อเรียนจบก็สามารถประยุกต์ความรู้เพื่อใช้ดูแลตนเอง ครอบครัว และสังคมได้

แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกจัดเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่เป็นแกนหลักของ ศูนย์เวลเนส (Wellness Center) ที่กำลังได้รับความนิยมล้นหลามในวงการผู้รักสุขภาพ เพราะสามารถช่วยดูแลตั้งแต่ป้องกัน บำรุงรักษาทั้งภายนอกและภายในร่างกายจิตใจ อย่างเช่นในการวินิจฉัยคนไข้นั้นหมอแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกจะใช้เวลาคุยกับคนไข้ ถามไถ่เรื่องชีวิต ครอบครัว อาหารการกิน พฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค ทำให้เกิดการป้องกันและรักษาไปด้วยกัน โดยยึดที่ตัวคนไข้เป็นคีย์เวิร์ดหลักสำคัญ

“ถ้าเราใช้หลักการดูแลตัวเองแบบองค์รวม ใช้หลากหลายศาสตร์ในการดูแลตั้งแต่เบื้องต้นทั้งอาหารการกิน พฤติกรรม การออกกำลังกาย เราแทบไม่จำเป็นต้องไปหาหมอเลย เพราะหมอที่ดีที่สุดก็คือตัวเราเอง คนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจในเรื่องสุขภาพจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เวลเนสบูมขึ้นมา การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมคือแก่นของวิชาสายนี้ ซึ่งนักศึกษาที่เรียนไปแค่เทอมแรกของเรา เขาจะปรับเปลี่ยนการดูแลตัวเองได้ดีขึ้นมาก แล้วก็ต่อยอดดูแลครอบครัวได้ดีขึ้น ถ่ายทอดความรู้ให้สังคมผ่านการบอกเล่า รวมถึงการนำความรู้ที่ได้ไปรักษาคนไข้อีกด้วย” ดร.ปพิชญา เทศนา หรืออาจารย์มิ้นท์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดทำมาตรฐานสมุนไพร ควบคุมคุณภาพ และวิเคราะห์ปริมาณสารออกฤทธิ์สำคัญในผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ (CIM) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวเริ่มต้น

เปิดโลกทัศน์ใหม่ “แผนไทยและทางเลือก”
การรู้ 2 อย่างย่อมดีกว่า 1 อย่างเสมอ เช่นเดียวกับในเรื่องของการเรียนรู้ศาสตร์ทางการแพทย์ไม่ว่าจะศาสตร์สาขาไหนก็สามารถเอามาใช้เพื่อเป็นการดูแลแบบองค์รวมได้ อย่างการเรียน “แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก” จะเรียนเกี่ยวกับศาสตร์การแพทย์ทางเลือกต่าง ๆ ทั้ง การแพทย์แผนไทย กัญชาศาสตร์ โฮมีโอพาธีย์ เวชศาสตร์ฟื้นฟูชะลอวัย และหลักธรรมชาติบำบัด

“การเรียนในสาขานี้เป็นการความรู้ทางการแพทย์หลากหลายสาขาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลตนเอง และนำไปต่อยอดอาชีพ เพราะนักศึกษาที่มาเรียนนั้น ส่วนใหญ่เป็นแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีน นอกจากนั้น สาขาเราก็รับทั้งพยาบาล เภสัชกร สาธารณสุข แพทย์แผนไทย และผู้ที่จบปริญญาตรีทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อให้ความรู้ที่มาเรียนไปนั้นได้รับการต่อยอด มองโลกให้กว้างขึ้น ประยุกต์ใช้ความรู้ในหลาย ๆ ศาสตร์กับความรู้ดั้งเดิมของตนเองเพื่อให้เป็นหมอที่ดีมากขึ้น” อาจารย์มิ้นท์กล่าวต่อไป

“นอกจากนั้น วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการเรียนก็เพื่อให้ความรู้ในศาสตร์การแพทย์แผนไทยได้รับรองทางวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น เพิ่มพูนความรู้จากศาสตร์การแพทย์ทางเลือกหลาย ๆ ด้านเพื่อนำไปประยุกต์ในการรักษาและแนะนำคนไข้ ซึ่งศาสตร์การแพทย์แผนไทยเป็นศิลป์ของหมอแต่ละคน เรื่องของการวินิจฉัยโรคหรือเรื่องของการแต่งยาขึ้นมาตำรับหนึ่งสำหรับรักษาคนไข้แต่ละครั้ง มันเป็นศิลปะของหมอนั้น ๆ ซึ่งสมุนไพรมีสรรพคุณที่คล้ายกันหลายชนิดมาก แล้วแต่ว่าหมอคนไหนใช้ตัวไหนเป็นยาหลัก ยารองในตำรับ ซึ่งหลักการแบบนี้ทำให้แพทย์แผนไทยจับต้องได้ยาก ไม่ใช่ว่าแพทย์แผนไทยเราไม่ดีนะ แต่พอจับต้องได้ยากคนก็ไม่เข้าใจ เราเลยพยายามนำวิทยาศาสตร์เข้ามาอธิบาย จากที่ใช้การอ้างถึงรสยาตามหลักแพทย์แผนไทย ก็นำข้อมูลของสารออกฤทธิ์สำคัญในสมุนไพรหรือตำรับยามาอธิบายแทน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เข้าใจได้ เป็นภาษาสากลมากขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ จากข้อมูลดังกล่าวนั้นจะทำให้ควบคุมคุณภาพของสมุนไพรและตำรับยาได้อีกด้วย อันนี้คือแก่นของการแสวงหาความรู้ในการเรียนระดับปริญญาโท อีกประการหนึ่งที่หลักสูตรต้องการคืออยากให้เขาได้นำความรู้ทางการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกเชื่อมโยงกับความรู้ที่เขามี เช่น แพทย์แผนจีนที่เรียนอยู่ตอนนี้ เขาอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยเริ่มจากความรู้ทางสมุนไพรจีนของเขา เราก็สอนให้เขาพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามหลักสากล โดยเริ่มจากการควบคุมมาตรฐานวัตถุดิบ การเลือกใช้วิธีสกัด การวิเคราะห์ปริมาณสารออกฤทธิ์สำคัญ การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน และจนสุดท้ายคือการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งเรามีเภสัชกรเป็นผู้ให้คำแนะนำและดูแล นักศึกษาของเราก็จะได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงและนำไปต่อยอดในอนาคตได้” อาจารย์มิ้นท์กล่าว

“วิธีการดูแลองค์รวม” จิตใจ ร่างกายและสังคม
ในเรื่องการเรียน “แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก” เน้น การดูแลสุขภาพองค์รวม เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจง่ายๆ จึงสรุปเป็น 3 ด้าน จากในภาพใหญ่ที่มีทั้งหมด 8 ด้าน โดยเริ่มที่เรื่องของจิตใจ ร่างกาย และสังคม

1. จิตใจดูตัวเองเป็นหลัก เอาตัวเองเป็นหลัก ว่าเราโอเคไหมกับตรงนี้ ไม่ใช่มองโลกสวยแต่รู้จักอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งเมื่อเรามองทุกอย่างให้มันปล่อยวางมากขึ้น มีอุเบกขา พอเราปล่อยวางมากขึ้นจิตใจเราก็ดีตามนั้นเอง

2. พอจิตใจดีร่างกายมันก็จะดีไปเอง มันไม่มีการบั่นทอน เครียด มีวิธีการผ่อนคลาย เริ่มใส่ใจตัวเองโดยการดูแลร่างกาย เน้นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วนและหลากหลาย เช่น ใช้สูตร 2:1:1 คือในหนึ่งมื้อ รับประทานปริมาณผัก 2 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน และคาร์โบไฮเดรต 1 ส่วน หลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านความร้อนสูง รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น และนอนหลับให้สนิทเพื่อร่างกายได้หลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) สำหรับซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอต่าง ๆ

3. สังคม ถ้าเรารักตัวเองตั้งแต่ข้อแรกแล้ว ก็สามารถเผื่อแผ่ไปยังสังคมได้ ปัญหาสังคมมันจะน้อยลง ทุกวันนี้ปัญหาสังคมที่เกิดมาก เพราะเราเอาตัวเองไปอยู่เหนือสังคมมากเกินไป แต่ถ้าเรารักตัวเอง ใส่ใจตัวเอง การที่เราฟังคนอื่นมันจะน้อยลง หรือในทางกลับกันเราดูแลตัวเองตั้งแต่ต้นเราก็จะไม่ปล่อยให้เรื่องไม่ดีเกิดขึ้นในวงรอบๆตัวเรา สังคมรอบๆก็จะดีขึ้น

แก้ไขความเข้าใจที่ผิดๆ ในเรื่อง “สมุนไพร”
อีกหนึ่งสิ่งที่ อาจารย์มิ้นท์ ดร.ปพิชญา อยากจะสื่อสารเป็นพิเศษก็คือ ความเข้าใจผิดๆเรื่องสมุนไพร “ความรู้ที่เรารู้กันมามันผิดเยอะมาก เช่น ทุกคนเชื่อว่าพอใช้สมุนไพรแล้วมันจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ อันนี้ต้องบอกเลยว่าไม่จริง”

“ถ้าเราเอาความเป็นวิทยาศาสตร์อธิบายให้เขาฟังคือ สมุนไพรแต่ละตัวจะต้องมีการทดสอบความเป็นพิษ ซึ่งพอมีการทดสอบแล้ว เราถึงจะระบุได้ว่าสมุนไพรตัวนี้ต้องใช้ปริมาณเท่าไหร่ถึงจะปลอดภัย หรือปริมาณเท่าไหร่จึงจะรักษาอาการนั้น ๆ ได้ อย่างเช่น ฟ้าทะลายโจรที่ฮิต ๆ กันช่วงโควิด ส่วนสมุนไพรอื่นๆ เราก็พยายามกำลังทำให้มันเกิดขึ้นมา นี่คือสิ่งที่เราทำควบคู่ที่อยากให้มีองค์ความรู้มากกว่าเดิมสำหรับการเรียนของเรา”

ดร.ปพิชญากล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มอีกครั้ง ว่า “แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกจะช่วยกันทำให้การใช้สมุนไพรถูกหลักมากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น และคุณภาพชีวิตเราจะดีกว่าเดิมมากขึ้นนั้นเอง ซึ่งใครที่สนใจและอยากมีองค์ความรู้ที่ครอบคลุมเป็นองค์รวมเพื่อดูแลตัวเอง ครอบครัว รวมไปถึงสังคม บทสัมภาษณ์นี้ไม่เพียงพอที่จะบอก ต้องมาศึกษาด้วยตนเอง”