ปลัด มท. บรรยายพิเศษในพิธีเปิดโครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 5

ปลัด มท. บรรยายพิเศษในพิธีเปิดโครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 5 ซึ่งขณะนี้ได้สร้างทีมอำเภอไปแล้ว 541 อำเภอ พร้อมกำชับหัวใจของทีม คือ “ผู้นำ” ที่เป็นแบบอย่างที่ดี และต้องเป็นผู้นำที่เข้าถึงพื้นที่ เป็นรวงข้าวสุกที่โน้มเข้าหาพื้นดิน

วันนี้ (14 ก.พ. 66) เวลา 09.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 5 ที่เข้ารับการฝึกอบรมในระหว่างวันที่ 13 – 17 กุมภาพันธ์ 2566 และบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ทำไมต้อง CAST” ณ ห้อง War Room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมีนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง เป็นผู้กล่าวรายงาน และมีผู้เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการฯ ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกรมทุกกรม หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด พร้อมคณะผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 1,120 คน จาก 112 อำเภอ เข้าร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษ ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกลไปยังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จำนวน 11 ศูนย์ทั่วประเทศ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า CAST มาจากคำว่า Change Agent for Strategic Transformation หรือ เรียกในชื่อภาษาไทยว่า โครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน มีนัยที่สำคัญ คือ การสร้างทีมในระดับพื้นที่ ทั้งทีมที่เป็นทางการ หรือตามที่กฎหมายกำหนด และทีมที่ไม่เป็นทางการ หรือทีมจิตอาสา ซึ่งพวกเราทุกคนต่างมีเจตนารมณ์เดียวกัน คือ มีความต้องการจะทดแทนคุณแผ่นดินด้วยการ Change for Good ให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ตำบล หมู่บ้าน และมีความปรารถนาที่จะเป็นพสกนิกรที่ดีสนองแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยความมุ่งมั่นทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้พระราชทานหลักการทรงงานที่สำคัญให้ว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” กล่าวคือ ก่อนจะทำอะไร ต้องมีความเข้าใจเสียก่อน ทั้งเข้าใจภูมิประเทศ เข้าใจผู้คนในหลากหลายปัญหา ทั้งทางด้านกายภาพ ด้านจารีตประเพณี และวัฒนธรรม ซึ่งทุกคนต่างจะต้องช่วยกันทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ข้าราชการทุกคนในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและผู้ที่รับเงินเดือนจากภาษีของพี่น้องประชาชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสนองพระราชปณิธานดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

“สิ่งสำคัญของคำว่า “ทีม” คือ ผู้นำ ซึ่งในสังคมไทย มีผู้นำทั้ง “ผู้นำตามกฎหมาย” คือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ “ผู้นำตามธรรมชาติ” คือ หัวหน้าครอบครัว หัวกลุ่มต่าง ๆ ทางสังคมที่เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้คนที่มีความชอบ หรือมีเป้าหมายคล้ายคลึงกัน โดยผู้นำตามกฎหมาย จะต้องมีหน้าที่อันสำคัญด้วยการ “เป็นต้นแบบที่ดี” ทั้งต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และต่อสังคมโดยรวม ฉะนั้นแล้วปัจจัยสำคัญที่จะมาปิดช่องว่างที่อาจเกิดจาก ผู้นำมีการเกษียณ โยกย้าย หรืออื่น ๆ คือ การมีทีมที่อยู่ในพื้นที่และเข้าใจภูมิสังคม เข้าใจปัญหาและอุปสรรค รวมถึงบริบทต่าง ๆ โดยสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ คือ นายอำเภอจะต้องสร้างทีมที่เป็นทางการ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ให้มีความเข้มแข็ง ความรักใคร่กลมเกลียวกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และในขณะเดียวกัน ต้องสร้างทีมจิตอาสาที่มาจาก 7 ภาคีเครือข่าย อันประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ซึ่งจะต้องใช้ความรัก ความศรัทธา และความเลื่อมใส อันจะเกิดขึ้นได้อยู่ที่ท่านนายอำเภอ โดย “นายอำเภอ” ในฐานะนายกรัฐมนตรีประจำอำเภอ ต้องทำตัวให้เป็นตำนานของคนที่อำเภอ ลงพื้นที่เข้าไปหาประชาชน ไปอยู่ในหัวใจของประชาชน เป็นรวงข้าวสุกที่โน้มเข้าหาประชาชนก่อน ต้องทำงานแบบรองเท้าสึก ก่อนก้นกางเกงขาด อย่างจริงใจ ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า “วิสฺสาสปรมา ญาติ” กล่าวคือ บุคคลบางคน ถึงไม่ได้เป็นญาติกันจริง ๆ แต่มีความสนิทสนมคุ้นเคยกัน ไปไหนไปด้วยกัน ร่วมสุขร่วมทุกข์กันตลอด มีปัญหาอาศัยได้ มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ไม่ทอดทิ้ง บุคคลเช่นนี้ก็นับว่าเป็นญาติเช่นเดียวกัน คำว่า บำบัดทุกข์ และ บำรุงสุขจึงจะเกิดมรรคผลอย่างแท้จริง” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำ

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า นอกจากการสร้างทีมที่เป็นทางการ และทีมจิตอาสาที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว การสร้างกลไกการดูแลกันในลักษณะพึ่งพาอาศัยกันที่เรียกว่า คุ้มบ้าน หรือ หย่อมบ้าน หรือ ป๊อกบ้าน ซึ่งอาจมีประมาณ 8 – 12 ครัวเรือนต่อคุ้ม/หย่อม/ป๊อก ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะได้ดูแลพึ่งพาอาศัยกันได้อย่างทั่วถึง นายอำเภอ ปลัดอำเภอ และทีมของนายอำเภอเองต้องหมั่นลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ ไปให้คำแนะนำ Coaching กระตุ้นปลุกไฟในหัวใจ เพราะพี่น้องประชาชนบางคนไม่กล้าที่จะติดต่อส่วนราชการ เราจึงต้องมีกลไกที่จะช่วยทำให้ราชการใกล้ชิดกับประชาชน เพื่อรับประกันการันตีได้ว่าทุกเรื่องในพื้นที่อำเภออยู่ในความดูแลของท่านนายอำเภอและทีมงาน โดยสิ่งสำคัญ คือ ต้องมีใจ และมีอุดมการณ์ (Passion) ความรู้ (Knowledge) และความสามารถ (Ability) กล่าวโดยสรุป คือ ต้องมีหน้าที่ทั้งบูรณาการทีม และบูรณาการงานในพื้นที่ ซึ่งเป็นภารกิจของทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และต้องมีความยั่งยืนด้วย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า กระทรวงมหาดไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน นี้จะช่วยปลุกกระแสความคิดของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ให้เป็นคนของพี่น้องประชาชน เป็นคนจุดประกายทีมที่เป็นทางการ ทีมจิตอาสา และทีมในระดับพื้นที่ หรือคุ้มบ้าน และที่สำคัญ ต้องเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทำให้ประชาชนชื่นใจ จากการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของพวกเรา ในท้ายที่สุด สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับพระราชทานพระอนุญาต จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ให้น้อมนำพระดำริมาขยายผลให้เป็นรูปธรรม โดยแง่คิดที่สำคัญของหมู่บ้านยั่งยืน คือ คนจะต้องมีความสุข มีความรักใคร่สามัคคีกันในชุมชน มีอาชีพที่สุจริต มีอยู่ มีกิน มีใช้ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ลูกหลานได้รับการศึกษา ชุมชน/หมู่บ้านมีภูมิคุ้มกันต่อภัยทางสังคม และภัยธรรมชาติ บ้านเมืองมีความสะอาดเรียบร้อย มีการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งการคัดแยกขยะ และการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีการสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ใช้พื้นที่ภายในบ้าน และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” สำหรับพื้นที่สาธารณะภายในหมู่บ้าน เพื่อดูแลพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ หมู่บ้านยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ต้องมี “ผู้นำและทีมงานที่เข้มแข็ง” จึงขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านในการขับเคลื่อนภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนในทุกมิติต่อไป