“ประวิตร” เดินหน้าแก้ปัญหาที่ดินทำกิน เปิดงาน สคทช. ครบรอบ 2 ปี”

“ลุงป้อม” เดินหน้าแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ยกระดับคุณภาพชีวิต ปชช.เปิดงานสคทช. ครบรอบ 2 ปี”

วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2566) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจภารกิจและผลการดำเนินงานของ สคทช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา สคทช. ครบรอบ 2 ปี ได้มีการจัดสัมมนาและจัดแสดงนิทรรศการ ภายใต้หัวข้อ “สานพลังยกระดับการขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน” พร้อมพิธีมอบโล่ดีเด่นและประกาศเกียรติคุณ แก่ผู้ทำคุณประโยชน์และสนับสนุนการดำเนินงาน คทช. โดยมี ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ร่วมด้วย ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

พลเอก ประวิตร กล่าวว่า สคทช. เป็นองค์กรที่มีภารกิจสำคัญด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ที่จะบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน และชุมชน ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดสมดุล เป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีสิทธิทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การดำเนินการของ คทช. ซึ่งประสบความสำเร็จและก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายไปแล้ว จำนวน 1,491 พื้นที่ เนื้อที่ประมาณ 5.7 ล้านไร่ ครอบคลุม 70 จังหวัด และสามารถจัดคนเข้าใช้ประโยชน์ให้ได้มีที่อยู่อาศัย มีที่ดินทำกินในการเลี้ยงชีพได้แล้ว จำนวน 78,109 ราย ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนนโยบายของ คทช. ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีเรื่องสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการ พัฒนา และยกระดับการทำงานอีกเป็นจำนวนมาก อันได้แก่
• การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 หรือ One Map โดยแบ่งพื้นที่ทั่วประเทศ ออกเป็น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 11 จังหวัด ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไปแล้ว ๒ กลุ่มจังหวัด จำนวน 22 จังหวัด และกลุ่มที่ 3 อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี โดยตั้งเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนเร่งรัด การดำเนินงานดังกล่าว ให้ครบถ้วนทุกจังหวัดทั่วประเทศภายในปี 2567
• การขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการปฏิบัติงานเป็นศูนย์กลางข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินแบบบูรณาการ โดยการจัดทำข้อมูลและจัดทำบัญชีข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินอย่างเป็นระบบ สามารถช่วยสืบค้น เข้าถึงเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างเครือข่ายข้อมูล รวมทั้งการนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐ หรือ One Map เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการแก้ไขปัญหา
• การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐหรือการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องแนวเขตที่ดินระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน โดยการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐ
• การสร้างมูลค่าที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน เพื่อช่วยให้เกษตรกรและผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินจากหน่วยงานรัฐ สามารถนำเอกสารหรือสมุดประจำตัว ไปใช้เป็นหลักประกันการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับการประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับรายได้ สามารถพึ่งพาตนเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้ประสบความสำเร็จ และเพื่อให้การดำเนินงานของทุกภาคส่วน มุ่งสู่การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างสมดุลและยั่งยืนในอนาคต รัฐบาลได้กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2580) เพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางนโยบาย ระยะ 15 ปี ที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ ตลอดจนถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ อีกด้วย

รองนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกส่วนราชการที่ได้มีส่วนขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญร่วมกันของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา และขอเป็นกำลังใจให้ทุกภาคส่วนร่วมกันมุ่งมั่น ขับเคลื่อน และเดินหน้าการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในระยะต่อไปอย่างมีเอกภาพและยั่งยืน เพื่อความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนคนไทยทุกคน