สวทช. และ ‘BBEPP’ บริษัทชีวภาพยักษ์ใหญ่จากเบลเยียม ร่วมหารือ สกสว. ถึงแนวทางการวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ชีวภาพไทย

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์ บริษัทด้านไบโอรีไฟเนอรีสำคัญจากเบลเยียม หรือ BBEPP ร่วมหารือแนวทางการวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชีวภาพไทย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ดร.ลัษมณ อรรถาพิช ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สกสว. พร้อมด้วย ดร.เอก จินดาพล ผอ. กลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้านความสามารถในการแข่งขัน สกสว. ร่วมหารือกับ ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารา รอง ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กำกับและดูแลเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และคณะ พร้อมด้วย นายโรนัลด์ เอเวอร์แรท ประธานบริหาร บริษัท ไบโอเบส เอเชีย ไพล็อท แพลนท์ บริษัทชีวภาพสำคัญจากเบลเยียม (Bio Base Europe Pilot Plant  หรือ BBEPP) ศาสตราจารย์วิม ซูทาร์ต ประธานบริหารบริษัท BBEPP และคณะ ในประเด็น ศักยภาพงานวิจัยและนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นผู้นำระดับโลกในการผลิตและส่งออกอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ปัจจุบันพบว่าชีวมวลมากกว่า 40 ล้านตัน ยังไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่องว่างนี้ถือเป็นโอกาสอย่างมหาศาลสำหรับเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) เนื่องจากเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตร โดยใช้กระบวนการทางเคมีชีวภาพ ที่จะสามารถเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพ ให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เช่น เวชสำอาง สารที่ให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional ingredient) อาหารเสริมสุขภาพ (Functional food) ผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ เป็นต้น

โอกาสนี้ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รอง ผอ. สกสว. ได้กล่าวให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับพันธกิจสำคัญของ สกสว. ในการจัดทำแผนและการจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผนด้าน ววน.) ของประเทศ โดยปัจจุบันว่า แผนงานวิจัย ของสกสว. ที่เกี่ยวข้องกับด้านผลิตภัณฑ์ชีวมวล การพัฒนาเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรี เช่น “การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่จากนวัตกรรมภายใต้เศรษฐกิจหมุนเวียนและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ” “เทคโนโลยี นวัตกรรม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ลดการใช้ทรัพยากร การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ” “เชื้อเพลิงชีวภาพ วัสดุชีวภาพ และชีวเคมีจากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรหรือของเสีย” ซึ่งมีความสอดคล้องกับแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2570 เพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยก้าวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน โดยใช้งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่ผ่านมามีงานวิจัยภายในประเทศที่ศึกษาด้านชีวมวลอยู่พอสมควร แต่มีนำไปใช้ประโยชน์ได้ยังไม่สูงมากนัก ซึ่งการหารือร่วมกับ สวทช. และ BBEPP ทำให้เห็นแนวทางของการขยายผลของงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น ทั้งนี้ BBEPP เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านไบโอรีไฟเนอรี มาตั้งแต่ พ.ศ. 2551 แบบ One stop service ให้บริการลูกค้าเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพตามที่ต้องการ มีความเชี่ยวชาญด้านการขยายขนาดการผลิตจากระดับห้องทดลอง สู่ขนาดกำลังการจริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบัน ทาง สวทช. และ BBEPP ได้หารือแนวทางความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาด้านไบโอรีไฟเนอรี ในพื้นที่ EECi

นอกจากนี้ แผนด้าน ววน.ฉบับปัจจุบัน ยังได้ออกแบบโปรแกรมวิจัยย่อยโดยการมุ่งเน้นทั้งในด้าน การสร้างกลไก และออกแบบการทำงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนาด้านดังกล่าว จึงถือเป็นกลไกสำคัญ ที่ช่วยหนุนเสริมการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทย โดยอาศัยองค์ความรู้ กลไกจากงานวิจัยและการพัฒนาเป็นเครื่องมือ ทั้งนี้การหารือในวันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายของประเทศต่อไป