ปภ.แนะเรียนรู้ รับมืออุทกภัยลดผลกระทบ..ดำเนินชีวิตปลอดภัย

ช่วงฤดูฝน หลายพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่ม ที่ลาดเชิงเขา และริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะการเตรียมพร้อมรับมือและการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย เมื่อเกิดอุทกภัย ดังนี้

ลักษณะการเกิดอุทกภัย แบ่งตามลักษณะภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม ดังนี้

น้ำไหลหลาก/น้ำท่วมฉับพลัน

– พื้นที่ ที่ราบต่ำ ที่ราบลุ่มใกล้ภูเขาสูง หรือป่าต้นน้ำ

– สาเหตุ เกิดจากฝนตกหนักบนภูเขาสูง มีปริมาณน้ำสะสมจำนวนมาก ส่งผลให้ดินไม่สามารถดูดซับน้ำได้ น้ำจึงไหลบ่าลงสู่พื้นที่ด้านล่างอย่างรวดเร็ว

น้ำท่วม/น้ำท่วมขัง

– พื้นที่ ที่ชุมชนเมืองหรือเขตเมืองใหญ่ ในลักษณะมวลน้ำไหลบ่าเป็นแนวราบ

– สาเหตุ เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ระบบระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ มีสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลของน้ำ ภาวะน้ำทะเลหนุนในพื้นที่ชายฝั่งทะเล

น้ำล้นตลิ่ง

– พื้นที่ ที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ

– สาเหตุ เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่อง หรือน้ำเหนือไหลบ่าลงมา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น จนไม่สามารถระบายลงสู่ลุ่มน้ำหรือทะเลได้ทัน

เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย ให้ปฏิบัติ ดังนี้

– ติดตามข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำในพื้นที่ อาทิ พยากรณ์อากาศ ประกาศเตือนภัย พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด

– สังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ หากระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น น้ำในลำน้ำมีสีขุ่นหรือเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับสีดินภูเขา

ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ให้เตรียมพร้อมรับมือ เพื่อจะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที

– จัดเตรียมสิ่งของและเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ในช่วงน้ำท่วม อาทิ เครื่องอุปโภคบริโภค ยารักษาโรค รวมถึงวัสดุที่ลอยน้ำได้ อาทิ

ยางรถยนต์ แกลลอนน้ำ สำหรับยึดเกาะพยุงตัวขณะเดินลุยน้ำ

– ป้องกันน้ำท่วมบ้าน โดยกำจัดขยะไม่ให้อุดตันท่อน้ำ ทางระบายน้ำ กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมนำกระสอบทรายมาจัดวางเป็นแนวคันกั้นน้ำ รวมถึงตรวจสอบให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอ

ปฏิบัติตนปลอดภัยเมื่อเกิดอุทกภัย ได้แก่

กรณีสามารถอาศัยอยู่ในบ้านเรือน ให้ปฏิบัติ ดังนี้

– ขนย้ายสิ่งของและเครื่องใช้ขึ้นที่สูง พ้นจากระดับน้ำท่วม รวมถึงอพยพสัตว์เลี้ยงและเคลื่อนย้ายพาหนะไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

– ตัดกระแสไฟฟ้า ปิดสวิตซ์ไฟ สับคัตเอาท์ เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว

– ไม่ใช้และสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือยืนบนพื้นที่ชื้นแฉะ หากมีกระแสไฟฟ้ารั่ว จะทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต

– ระมัดระวังในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะการจมน้ำ อุบัติภัยจากไฟฟ้า สัตว์มีพิษ รวมทั้งสวมรองเท้าบูททุกครั้งที่เดินลุยน้ำ

– ไม่ประกอบกิจกรรมบริเวณที่น้ำท่วมสูงและกระแสน้ำไหลเชี่ยว เพื่อป้องกันกระแสน้ำพัดหรือเป็นตะคริว ทำให้จมน้ำเสียชีวิต

– ใช้วัสดุที่ลอยน้ำได้ยึดเกาะพยุงตัว เมื่อเดินลุยน้ำที่ท่วมสูง เพื่อป้องกันการจมน้ำเสียชีวิต

กรณีต้องอพยพออกจากพื้นที่ ให้ปฏิบัติ ดังนี้

– อพยพไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย พ้นจากเส้นทางไหลของน้ำ แนวดินถล่ม บริเวณที่น้ำท่วมสูง และกระแสน้ำไหลเชี่ยว

– หลีกเลี่ยงการเดินข้ามลำน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่ระดับน้ำท่วมสูงเหนือเข่าและกระแสน้ำไหลเชี่ยว

– ห้ามขับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ผ่านบริเวณที่น้ำท่วมสูง เพราะกระแสน้ำอาจพัดรถออกนอกเส้นทาง ก่อให้เกิดอันตรายได้

ทั้งนี้ การเตรียมพร้อมและปฏิบัติตนอย่างถูกวิธีเมื่อเกิดสถานการณ์อุทกภัย จะช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัย ส่งผลให้การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความปลอดภัย