จะดีแค่ไหนถ้ารู้ก่อนว่าอนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ?

เคยถามตัวเองกันไหมว่า ในอนาคตข้างหน้าเราจะมีคุณภาพชีวิตอย่างไร เชื่อว่ามีหลายคนอยากที่จะรู้ และอยากได้ตำตอบ เพื่อที่จะเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ยิ่งในภาวะที่โลกมีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการเชื่อมต่อกันได้อย่างเสรี ประเทศไทยเราก็ยังมีความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการเมือง ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงทางธุรกิจ อีกทั้งปัญหาสภาพแวดล้อม ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลต่ออนาคตประเทศไทยอย่างไร??

วันนี้เรามีหน่วยงานหนึ่งที่เห็นถึงความสำคัญถึงการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนนโยบายสาธารณะ กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ให้กับหน่วยงานรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้เห็นภาพอนาคตและเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ให้ดำเนินการพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มุ่งสนับสนุนการวิจัยโครงการประเทศไทยในอนาคตเพื่อวิเคราะห์รายละเอียดภาพของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า ร่วมกับหน่วยงานและสถาบันวิจัยชั้นนำระดับประเทศ 8 หน่วยงาน วิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นแบบแผนทุกมิติ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันพระปกเกล้า, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, ราชบัณฑิตยสภา, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, มูลนิธิคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การศึกษาวิเคราะห์ภาพอนาคตมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนารวมทั้งการตั้งรับกับสิ่งที่ไม่คาดหวัง เป็นที่มาของการศึกษาวิจัยเพื่อทำฉากทัศน์และภาพของประเทศไทยโดยกำหนดทุกช่วง 5 ปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า มุ่งเน้นใน 10 มิติสำคัญ คือ 1. ประชากรและโครงสร้างสังคม 2. สังคม ชนบท ท้องถิ่น 3. การศึกษา 4. สิ่งแวดล้อมและพลังงาน 5. เศรษฐกิจ ผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม 6. เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก เกษตรกรรมและการบริการ 7. วัฒนธรรมและภาษาไทย (อัตลักษณ์ความเป็นไทย) 8. การเมือง 9. บริบทโลก ปัจจัยคุกคามและความมั่นคงของประเทศ และ 10. คนและความเป็นเมือง โดยมิติต่างๆ จะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

การพยากรณ์หรือคาดการณ์สถานการณ์เรื่องสำคัญที่จะเกิดขึ้น หากทราบว่าประชากรไทยในช่วงเวลา 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี จะมีจำนวนเท่าไร มีผู้จะเข้าสู่วัยทำงานจำนวนเท่าไร จบการศึกษาด้านไหน ภาคการศึกษา/เอกชน สามารถคิดกลยุทธ์ในการดำเนินการกิจกรรมได้สอดรับกับสถานการณ์ การเตรียมตั้งรับของภาคอุตสาหกรรมจะสามารถนำไปวางแผนเพื่อใช้ประโยชน์ หรือแม้กระทั่งการวิเคราะห์สังคม สภาพสังคม จากข้อมูลการแต่งงาน การเลือกประเภทที่อยู่อาศัย การย้ายถิ่นฐาน การผลิตสินค้าสู่กลุ่มผู้บริโภค แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภค เป็นต้น

การคาดการณ์อนาคตเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเนื่องจากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมายทั้งภายในและภายนอก ผลลัพธ์และความแม่นยำเป็นสิ่งที่ท้าทาย ทีมวิจัยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานวิจัยหลักของประเทศจาก 8 หน่วยงานจึงผนึกกำลังกัน อีกทั้งจะยังมีส่วนในการส่งเสริมการสร้างฐานความรู้ให้กับหลายภาคส่วนในการนำผลงานวิจัยชิ้นนี้ที่ร่วมกันทำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป เป็นข้อมูลที่ภาคประชาชน เอกชน ภาครัฐ จะสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ต่อยอดกิจกรรมต่างๆ ต่อไปได้

ประเด็นที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่งคือ การศึกษา Major Trends ของการศึกษา มีทั้งเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเทรนด์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เทรนด์ใหญ่ๆที่กระทบการศึกษาไทยอยู่มี 2 เรื่อง ที่ส่งผลต่อรูปแบบในอนาคตที่เราจะต้องศึกษาถึงการจัดการ นโยบายภาครัฐ ลงไปถึงรูปแบบการเรียนรู้ที่กำลังเปลี่ยนแปลงทั้งในและนอกโรงเรียน

ปัจจัยหลักในประเทศคือ โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงส่งผลให้

1. โครงสร้างทางการศึกษาจำเป็นต้องลดขนาด สาเหตุมาจากอัตราเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจำนวนเด็กเข้าเรียนในระบบการศึกษาจึงลดลง ความท้าทายคือ มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับจำนวนนักศึกษาที่ลดลง และคาดการณ์ว่าโรงเรียนขนาดเล็กจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆแต่การลดจำนวนสถานศึกษาและบุคลากรเป็นไปอย่างยากลำบาก

2. ภาครัฐอาจให้ความสำคัญกับการศึกษาลดลง เนื่องจากสังคมสูงวัยทำให้ผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจและปัญหาสังคมเร่งด่วน ทำให้รัฐต้องให้ความสำคัญกับนโยบายระยะสั้นอื่นๆ สัญญาณที่เริ่มมองเห็นคืองบประมาณด้านสาธารณสุขมีแนวโน้มสูงขึ้น งบประมาณการศึกษาลดลงอย่างต่อเนื่อง ความท้าทายคือการลงทุนกับการศึกษายังเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากประชากรอายุยืนยาวขึ้นจึงทำให้ประเทศได้ประโยชน์จากทุนมนุษย์ได้นานขึ้น รัฐบาลจะยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างไร โดยไม่เพิ่มภาระทางการคลังและยังตอบสนองความต้องการด้านอื่นของประเทศได้

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลทั่วโลกคือ ความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ที่ทุกคนทราบดีเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงาน เปลี่ยนแปลงธรรมชาติของการเรียนรู้ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้นในระบบการศึกษา

1.ปรับเป้าหมายการเรียนรู้สู่การสร้างสมรรถนะ เนื่องจากเทคโนโลยีทำให้โลกการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักเรียนต้องเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากข้อมูลแทนการจดจำข้อมูล การกำหนดหลักสูตรตัวชี้วัดความรู้แบบตายตัวในวันนี้ อาจทำให้นักเรียนไม่พร้อมกับโลกอนาคต

ในระดับนานาชาติ หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างและวัดทักษะที่จำเป็น

• เกิดการรวมตัวของกลุ่มองค์กรP21 เพื่อสนับสนุนการสอนทักษะ 4C ในสหรัฐอเมริกา
• OECD เพิ่มการประเมินทักษะใหม่ๆ ใน PISA เช่น การแก้ปัญหาเป็นกลุ่ม
ในประเทศไทย
• มีการกล่าวถึงทักษะในศตวรรษที่ 21 ในหลักสูตรแกนกลางฯ ตั้งแต่พ.ศ. 2551
• กระทรวงศึกษาธิการกำลังจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะและจะนำร่องในบางพื้นที่ในปี 2563

ความท้าทายคือ จะเตรียมความพร้อมให้กับครูและโรงเรียนไทยเพื่อจัดการเรียนรู้แบบใหม่ได้อย่างไร?

2. การเพิ่มทักษะคนวัยทำงานและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เนื่องจากเทคโนโลยีทำให้ทักษะที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบให้แรงงานทุกระดับต้องพัฒนาทักษะใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ผู้ที่จบการศึกษาม.3 หรือ ต่ำกว่า ต้องได้รับการเสริมทักษะพื้นฐาน

ในระดับนานาชาติ เกิดนโยบายสนับสนุนการเรียนรู้ของคนวัยทำงาน เช่น โครงการ SkillsFuture ในสิงคโปร์และแผนLifelong Learning Strategy 2020 ในเอสโตเนีย ที่ครอบคลุมทั้งคนวัยเรียนและวัยทำงาน

ในประเทศไทย มีความพยายามจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในปี พ.ศ. 2561 แต่ไม่ได้ถูกประกาศเป็นกฎหมาย

ความท้าทายคือรัฐบาลจะสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเพิ่มทักษะคนไทยทุกช่วงวัยได้อย่างไร?

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลส่วนนี้คงจะต้องมีการศึกษาต่อไปในงานวิจัยว่า ปัจจัยสำคัญต่างๆ จะส่งผลอย่างบ้างในอีก 20 ปีข้างหน้า เป็นความท้าทายใหญ่ของนโยบายภาครัฐบาล ที่จะต้องเตรียมการ ซึ่งมีความคาดหวังว่าผลของงานวิจัยเรื่องการศึกษาประเทศไทยนี้ จะสามารถช่วยให้เกิดข้อเสนอนโยบายใหม่ๆ แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นการทำโครงการนี้เราไม่ได้ต้องการแค่ผลลัพธ์ว่าโลกจะเป็นอย่างไร การศึกษาไทยจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เราต้องการก็คือมุมมองของคนจำนวนมากที่มีส่วนในการขับเคลื่อนระบบการศึกษาทั้งภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมให้ความเห็นในโครงการนี้ซึ่งจะทำให้เราสร้างวิสัยทัศน์ได้ว่ากาศึกกษาไทย จะไปทางไหนกันแน่ ภาพสุดท้ายอาจจะไม่ได้เป็นแบบที่จินตนาการ แต่มันยังมีปัจจัยไหนที่เรายังเปลี่ยนมันได้เพื่อขับเคลื่อนให้การศึกษาไปในทิศทางที่ดีกว่า