ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเกษตร-ชาวไร่ แห่หนุนระบบเกษตรพันธสัญญา มั่นใจตอบโจทย์อนาคตภาคอุตสาหกรรมเกษตรไทย

ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเกษตร-ชาวไร่
แห่หนุนระบบเกษตรพันธสัญญา
ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเกษตร-ชาวไร่   หนุนระบบเกษตรพันธสัญญา  แห่ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 200 ราย   มั่นใจตอบโจทย์อนาคตภาคอุตสาหกรรมเกษตรไทย   ด้านเสียงสะท้อนเกษตรกรชาวไร่   ชี้ช่วยลดความเสี่ยง  ปิดการเอาเปรียบระหว่างเกษตรกร-ผู้ประกอบการ  ยกระดับคุณภาพผลผลิต   แก้ปัญหาล้นตลาด ดันรายได้มั่งคง
   นายพีรพันธ์  คอทอง  ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวว่า   ภายหลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนการบังคับใช้พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ปี2560 อย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้มีการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้มีความเป็นธรรมตามหลักสากล  ตลอดจนสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในการผลิตผลิตผลอย่างยั่งยืน
 จากผลดำเนินการขณะนี้มีผู้ประกอบธุรกิจได้ทยอยจดแจ้งการประกอบธุรกิจในระบบแล้วจำนวน  218 ราย  และในจำนวนดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเรียบร้อยแล้ว 210 ราย   แบ่งเป็น ด้านพืช 157 ราย ด้านปศุสัตว์ 38 ราย ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 11 ราย ด้านพืชและด้านปศุสัตว์ 2 ราย ด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและปศุสัตว์ 1 ราย ด้านพืช ปศุสัตว์ และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 1 ราย  นอกจากนี้อยู่ระหว่างรอดำเนินการ 8 รายซึ่งแต่ละรายส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงและความมั่นคงในการประกอบธุรกิจด้านการเกษตรมาอย่างยาวนาน
  นายพีรพันธ์    กล่าวด้วยว่า    ระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นเครื่องมือลดความเสี่ยงระหว่าง เกษตรกรผู้ผลิต และบริษัทรับซื้อผลผลิต ทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพของผลผลิตและการตลาด มีกฎ กติกา มาตรฐานที่เป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย  ที่สำคัญคือระบบดังกล่าวช่วยสร้างความมั่นใจและเชื่อใจว่าจะได้รับสิ่งที่ต้องการตามที่กำหนดร่วมกันอย่างเป็นธรรม ปิดช่องโอกาสที่จะเอาเปรียบซึ่งกันและกัน และมีกระบวนการไกล่เกลี่ยช่วยในปัญหาข้อพิพาทต่างๆ เกิดการประหยัดต้นทุนการใช้ทรัพยากร สร้างกระบวนการพัฒนาการผลิตร่วมกันระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ  นำไปสู่สร้างการเติบโตทางมูลค่าธุรกิจให้มีความมั่นคงด้านรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีจากรายได้ที่แน่นอนและระยะยาว
  ด้านนายวิชัย   เหล่าเจริญพรกุล   ผู้จัดการทั่วไป อีสท์ เวสท์ ซีด (ประเทศไทย) ผู้ผลิตเมล็ดพันธ์พืชภายใต้ตรา“ศรแดง” หนึ่งในบริษัทที่ได้ทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อยมาอย่างต่อเนื่อง  เพราะต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยให้ดีขึ้นเพราะเชื่อว่าเมล็ดพันธุ์1เมล็ดหากมีคุณภาพที่ดีก็จะสามารถเปลี่ยนชีวิตเกษตรกรได้นับล้านคน  ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ร่วมทำพันธสัญญากับบริษัทฯจำนวน 2,500 คู่สัญญา   มีพื้นที่ดำเนินการ 13,000 ไร่ ใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ   อาทิ  สุพรรณบุรี   กาญจนบุรี  นครราชสีมา   สุโขทัย  กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ ลำปาง ครอบคลุมเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้   เพราะมีปริมาณฝนตกมาก ไม่เหมาะกับการปลูกพืชเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ ภายหลังจากพรบ.เกษตรพันธสัญญาประกาศใช้ บริษัทฯก็ได้ดำเนินการเปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทันที  โดยบริษัทฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพและรับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม และเกษตรกรที่ทำสัญญากับบริษัทฯ ต่างมีความมั่นใจว่าได้รับการคุ้มครอง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ
  ด้านนางใบ  ต้องใจ  อายุ 53 ปี ต.วังใต้  อ.วังเหนือ  จ.ลำปาง   เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ฟักทองลูกผสมพันธุ์โอโตะ ภายใต้พันธสัญญากับตราศรแดง  กล่าวว่า   เดิมทีครอบครัวตนปลูกข้าวโพดแต่ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่มาเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ฟักทองคุณภาพบนเนื้อที่กว่า 1 ไร่ เนื่องจากบริษัทได้เชิญชวนให้ปลูกพร้อมเสนอเงื่อนไขราคารับซื้อที่เป็นธรรม   โดยบริษัทฯได้เข้ามาสนับสนุนต้นกล้าฟักทอง ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้คำแนะนำทุกขั้นตอนการผลิตเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ฟักทองที่มีคุณภาพ ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยได้มีการประกันราคาผลผลิตกิโลกรัมละ 800 บาท ซึ่งในปีนี้เป็นปีแรกที่เข้าร่วมโครงการและได้ผลเป็นที่พอใจ พื้นที่ 1 ไร่ สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ 70 กิโลกรัมต่อรอบคิดเป็นมูลค่า 56,000 บาท เมื่อหักต้นทุนการผลิตแล้วยังเหลือรายได้เฉลี่ย 200,000 กว่าบาทต่อปี จึงพอใจมากที่ได้เข้าร่วมโครงการฯนี้ในการช่วยยกระดับชีวิตและรายได้ที่ดีขึ้น จากเดิมที่ปลูกข้าวโพดมีรายได้เพียงแค่ 10,000 กว่าบาท/รอบ และราคาก็ยังต้องขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดและไม่มีการประกันราคาที่แน่นอน
     บริษัท  โดล ไทยแลนด์  จำกัด  ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์   โรงงานผู้ผลิตผลไม้กระป๋องรายใหญ่  นับเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ได้แจ้งจดเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา  ปัจจุบันมีโรงงานอยู่ 2แห่งมีความต้องการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรปีละ200,000ตัน  ครอบคลุมพื้นที่ปลูกใน 3จังหวัดคือ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรีและระยอง
  นายวันเพ็ญ   เรืองโรจน์  เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด  ต.หินเหล็กไฟ  อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์  หนึ่งในเกษตรกรที่เตรียมจะทำสัญญาข้อตกลงซื้อ-ขายผลผลิตภายใต้ระบบพันธสัญญาเป็นครั้งแรกกับบริษัทฯโดลฯ  กล่าวว่า  เมื่อไม่นานมานี้ตัวแทนบริษัทฯ ได้เรียกประชุมเพื่อชี้แจงเงื่อนไขในการซื้อ-ขายระบบใหม่ให้ทราบและเห็นว่าระบบดังกล่าวเป็นแนวทางที่ดีที่จะเข้ามาเป็นกลไกลกลางในการช่วยเกษตรกรชาวไร่สับปะรดให้หลุดพ้นจากปัญหาวังวนเดิมๆคือผลผลิตล้นตลาด ราคาขึ้นๆลงๆไม่แน่นอน  ในขณะระบบใหม่ ทางบริษัทฯ จะกำหนดราคาแต่ละเกรดอย่างชัดเจน  ซึ่งเราจะต้องทำให้ได้ตามสัญญาถึงจะได้ราคา 7 บาทตามที่ตกลง นอกจากนี้ต่อไปจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาให้คำแนะนำ ทั้งในเรื่องเทคโนโลยีและสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆแล้วค่อยหักค่าใช้จ่ายเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยไม่คิดดอกเบี้ย  ในขณะที่สัญญาเก่าไม่มีการสนับสนุนเรื่องปัจจัยการผลิต เกษตรกรต้องจัดหาเอง ทำให้ควบคุมต้นทุนการผลิตได้
   ด้านนางสุรีย์พัชร์  ต่อพลศรี  อายุ  58ปี   ต.ลานสัก อ.ลานสัก  จ.อุทัยธานี   หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมระบบแปลงใหญ่ ภายใต้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจำหน่ายรังในพื้นที่ชุมชน 4 สปก.อุทัยธานี   กล่าวว่า   หลังจากได้ตกลงทำสัญญาซื้อ-ขายรังไหมรังขาวหรือไหมอุตสาหกรรมระบบเกษตรพันธสัญญากับบริษัท จุลไหมไทย จำกัด   โดยสัญญาครอบคลุมการซื้อ-ขายตั้งแต่มีนาคม-กรกฎาคม 2562 เป็นระยะเวลา 5ปี ทำให้ตนและครอบครัวมีความมั่นใจในรายได้และการทำอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมากขึ้นจากเดิมต้องประสบปัญหาราคาขึ้น-ลงผันผวนทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน
   ปัจจุบันตนมีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 4.2 ไร่ในพื้นที่แปลงใหญ่หม่อนไหมชุมชน 4 สปก.อุทัยธานี ซึ่งทางบริษัท จุลไหมไทยฯ จะมีกฎเกณฑ์ว่าต้องทำอย่างไงถึงจะได้ราคาตามที่ตกลงกัน  เช่น  ต้องมีคุณภาพและต้องมีระบบประสิทธิภาพในการเลี้ยง   โดยบริษัทฯ จะดูจากเปอร์เซ็นต์เปลือกรัง เวลามารับซื้อจะมีการสุ่ม เพื่อที่จะคัดรังดี รังเสีย รังเกรดเอ รังเกรดบี  ถ้ารังเกรดเอ จะเฉลี่ยอยู่ที่ 180-240 บาทต่อกิโลกรัมและหากรังไหมที่มีเปอร์เซ็นต์เปลือกรังดีก็จะได้ถึง 230 บาทจากเดิมจะราคาประมาณ170-180 บาท/กก.   ระบบเกษตรพันธสัญญาได้สร้างแรงจูงใจที่เป็นธรรม   ส่งผลให้ปัจจุบันมีเกษตรกรในพื้นที่ทยอยเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญามากขึ้นจากเดิมมีการปลูกแค่ 50 ราย ตอนนี้เพิ่มเป็น 107 รายรวมพื้นที่ 200ไร่   เนื่องจากทุกคนเห็นความมั่นคงในอาชีพ  การมีตลาดรองรับที่แน่นอน   ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 22 วันก็สามารถสร้างรายได้ประมาณ 9,000 – 14,000 บาทขายปุ๊บภายใน 5 วันบริษัทฯจะโอนเงินเข้าบัญชีให้ทันทีทำให้เกษตรกรยิ้มออกและมีความภาคภูมิใจและรู้สึกมั่นคงในอาชีพ
   บริษัท ราชสีมา กรีน เอ็นเนอร์ยี จำกัด   บริษัทในเครือโรงงานน้ำตาลมิตรผลเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังชั้นนำของไทยมีโรงงานตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้จดแจ้งเป็นผู้ประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา  ปัจจุบันมีกำลังการผลิตหัวมันสำปะหลังสด 1,200 ตัน /วัน  ผลิตแป้งดิบ 350 ตัน  โดยบริษัทฯ จะเข้าไปถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนแก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก รวมทั้งส่งเสริมปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ช่วยให้เกษตรกรผลิตมันสำปะหลังที่มีคุณภาพและได้ปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ในขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง รวมถึงมีการรับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม จนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้
  นายเกษม  อินทรมาส   ชาวไร่มันสำปะหลังที่ยึดอาชีพมากว่า 20 ปี  ในพื้นที่หมู่บ้านโนนสะอาด  ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา  กล่าวว่า   ปัจจุบันได้ตกลงทำสัญญาซื้อ-ขายภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญากับบริษัท ราชสีมา กรีนฯ หลังจากก่อนหน้านี้จะนำผลผลิตที่ได้ไปจำหน่ายตามลานมัน  ซึ่งมักจะถูกกดราคาและเสียดอกเบี้ยแพง เนื่องจากต้องไปรับเงินจากลานมันมาลงทุนก่อน หรือที่เรียกว่า “ตกเขียว” แต่ภายหลังมีโครงการเกษตรพันธสัญญา ก็ได้สมัครเข้าโครงการกับ บริษัทฯ ครั้งแรกเมื่อปี 2561 ซึ่งได้รับการดูแลเป็นอย่างดี มีเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯมาให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิต เช่น การระเบิดดินดาน แนะนำการใส่ปุ๋ยรองพื้นที่ดิน การเตรียมดิน ช่วยหาแหล่งน้ำ และพาไปศึกษาดูงานในพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ปัจจุบันมีผลผลิตสูงขึ้นจากเดิมเคยผลิตได้ 2-3 ตันต่อไร่ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 4-5 ตันต่อไร่ และจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาตันละ 3,400 บาท  จึงมั่นใจว่าระบบเกษตรพันธสัญญา เป็นกฎหมายที่มีไว้คุ้มครองเกษตรกร ช่วยให้เกษตรกรได้รับความยุติธรรมจากผู้ประกอบการหรือนายทุน และช่วยยกระดับราคาที่มั่นคง   จึงมั่นใจว่าระบบเกษตรพันธสัญญาจะสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร และสามารถอยู่ร่วมกันกับบริษัทคู่สัญญาโดยไม่ทอดทิ้งกันได้
  ทั้งหมดคือเสียงสะท้อนของเกษตรกรชาวไร่  น่าจะช่วยตอบโจทย์อนาคตของอุตสาหกรรมเกษตรไทยภายใต้การส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาของกระทวงเกษตรฯได้เป็นอย่างดี