ทุนไทยกับประชาธิปไตย | นิธิ เอียวศรีวงศ์

ชายชาวสยามกำลังดื่มด่ำอยู่กับพิษของฝิ่นที่กำลังออกฤทธิ์

ฝิ่นในฐานะยาเสพติดคงเริ่มเข้ามากรุงเทพฯ ในปลายสมัย ร.1 แล้วก็เริ่มระบาดมากขึ้นจนรัฐบาลเห็นเป็นปัญหา ในพ.ศ.2372 จึงมีประกาศห้ามสูบฝิ่น ห้ามนำเข้า และห้ามซื้อขาย

เหมือนกฎหมายประเภทเดียวกันในรัฐที่อ่อนแอแหละครับ กล่าวคือรัฐได้แต่แสดงเจตจำนง แต่ไม่มีกึ๋นจะบังคับใช้กฎหมายให้ได้ผลตามเจตจำนง ฉะนั้น ประกาศฉบับนี้ย่อมเป็นบ่อเงินบ่อทองแก่ขุนน้ำขุนนาง โดยเฉพาะที่มีหน้าที่ตรวจจับสินค้านำเข้า และตรวจจับผู้ลักลอบซื้อขายและเสพ ฝิ่นจึงยังหลั่งไหลเข้ามายิ่งกว่าเดิม ในขณะที่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องรวยเอาๆ

ในขณะเดียวกัน เพื่อจะสร้างระเบียบของการค้าท่ามกลางความทุจริตฉ้อฉลของราชการ พ่อค้าฝิ่นย่อมต้องรวมตัวกันจัดองค์กรลับ เพื่อต่อรองราคา “เก๋าเจี๊ยะ” ให้มีมาตรฐานแน่นอนพอที่จะตั้งราคาขายส่ง-ขายปลีกได้

ในระยะแรก องค์กรลับเหล่านี้ไม่ได้คิดจะแข็งข้อกับรัฐหรอกครับ แต่เป็นธรรมดาของการทำการค้าที่ต้องจะต้องเท่าทันกับกลไกตลาด และการจัดองค์กรภายในเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ในรัฐที่อ่อนแอ

แม้กระนั้น ก็ยังมีปัญหาอยู่ที่ว่า พ่อค้าอื่นนอกองค์กรอาจรวมตัวกันจัดองค์กรของตนเอง เพื่อลักลอบค้าฝิ่นก็ได้อีก แต่แทนที่จะจ่ายเงิน “เก๋าเจี๊ยะ” ให้ขุนนางกลุ่มเดิม ก็อาจไปจ่ายให้ขุนนางกลุ่มใหม่ที่มีอิทธิพลเหนือกว่า หรือส่งไปถวายเจ้านายที่มีอำนาจสูงๆ ก็ได้ เกิดการแข่งขันในระบบผูกขาดซึ่งเป็นอันตรายต่อการค้าที่ต้องเสีย “ส่วนเกิน” สูงๆ อย่างยิ่ง

องค์กรลับเหล่านี้จะรักษาการผูกขาดได้อย่างไร คำตอบก็คือตีกันสิครับ เพราะการคอร์รัปชั่นก็ต้องการ “ระเบียบ” เหมือนกัน เมื่อรัฐรักษา “ระเบียบ” ของการคอร์รัปชั่นไม่ได้ องค์กรลับก็ต้องรักษาเอง

ถึงตอนนี้ แม้ไม่ได้ตั้งใจจะแข็งข้อกับรัฐ ก็จำเป็นต้องฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมืองเพื่อรักษาประโยชน์การค้าของตนไว้ องค์กรลับสั่งสมผู้คนติดอาวุธและยกพวกตีกัน รัฐที่อ่อนแอย่อมสะดุ้งหวั่นไหว เพราะนอกจากละเมิดกฎหมายอย่างออกหน้าแล้ว องค์กรลับยังมีศักยภาพที่จะเข้ามาท้าทายอำนาจทางการเมืองได้โดยตรง

วิธีที่รัฐบาลสมัยนั้นทำมีอยู่สองอย่างคือปราบปรามอย่างรุนแรงโหดร้าย เช่น ปราบการประท้วงการขึ้นภาษีน้ำตาลที่นครไชยศรีและฉะเชิงเทราในสมัย ร.3 กุลีจีนตายกันเป็นเบือมากกว่าราชประสงค์และผ่านฟ้าเสียอีก แต่ก็เป็นวิธีเดียวกันซึ่งรัฐอ่อนแอมักเลือกใช้ คือเชือดไก่ให้ลิงดู

(อีกกรณีที่น่าจะนำมาเปรียบเทียบก็คือ การฆ่าตัดตอนกว่า 2,500 ศพในสงครามยาเสพติด ตัวเลขที่น่าตกใจของผู้เสียชีวิต ไม่ใช่จุดอ่อนของมาตรการ แต่เป็นเป้าหมายเลยทีเดียว)

วิธีที่สองก็คือ รัฐผนวกเอาการกระทำที่รัฐเคยถือว่าผิดกฎหมายมาเป็นกิจกรรมของรัฐเสียเอง

รัฐบาลกรุงเทพฯ ก็ทำอย่างนั้นในปีแรกของ ร.4 โดยให้รัฐเป็นผู้ผูกขาดการค้าฝิ่นเสียเอง รัฐเป็นผู้รับซื้อฝิ่นที่นำเข้าทั้งหมด แล้วขายต่อให้พ่อค้าฝิ่นเพื่อเอากำไรอีกทอดหนึ่ง แน่นอน รัฐย่อมอ้างว่าวิธีการนี้จะทำให้สามารถควบคุมปริมาณการใช้ฝิ่นในประเทศให้พอเหมาะพอสมได้

แต่รัฐที่อ่อนแอจะควบคุมปริมาณได้อย่างไร ในเมื่อหากตลาดมีความต้องการสูง ก็เป็นธรรมดาที่จะมีผู้ลักลอบนำเข้าโดยไม่ผ่านกรมฝิ่นของรัฐ หรือที่เรียกว่าฝิ่นเถื่อน ในที่สุดข้ออ้างดังกล่าวก็ถูกลืมไป เพราะกำไรที่รัฐได้จากฝิ่นนี้มีสูงมาก ทั้งยังนำเข้าสู่พระคลังหลวงทั้งหมด เป็นแหล่งรายได้สำคัญของท้องพระคลัง

และเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลกลางสืบมาอีกนาน ควบคู่กับภาษีสุราและภาษีโรงหญิงนครโสเภณี

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วนะครับว่า การต่อสู้กับฝิ่นนั้นไม่ได้อาศัยแต่กฎหมายและการบังคับใช้อย่างเข้มแข็งเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องหมายถึงมาตรการทางบวกอีกหลายอย่างซึ่งรัฐและสังคมต้องร่วมมือกันทำ เช่น การศึกษา, การบำบัดผู้ติด, และลึกลงไปกว่านั้นก็คือการป้องกันมิให้ผู้ใช้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบเกินไป เพราะฝิ่นคือยาระงับปวดให้แก่ผู้ใช้แรงงานมากเกินกำลังมนุษย์

รัฐไทยทำไม่ได้หรอกครับ ทำมาตรการเชิงลบได้ครึ่งเดียว คือไม่มีสมรรถนะที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนมาตรการทางบวกไม่ได้ทำเลย เพราะเกินกำลังของรัฐสมัยนั้นจะทำได้ และเกินกำลังของรัฐสมัยนี้ในหลายเรื่องด้วยเหมือนกัน ผมจึงเรียกว่ารัฐอ่อนแอมาตลอดไงครับ

ในส่วนขุนน้ำขุนนาง เคยได้ส่วนเกินจากฝิ่นเถื่อนอย่างไร ก็ยังคงเก็บส่วนเกินจากฝิ่นเถื่อนได้ต่อไป เพียงแต่เปลี่ยนนิยามของความเถื่อนของฝิ่น จากที่ไม่เคยให้นำเข้าเลย มาเป็นส่วนที่นำเข้าโดยไม่ผ่านรัฐเท่านั้น ทั้งนี้ยังไม่นับค่าน้ำร้อนน้ำชาที่พ่อค้าฝิ่นต้องจ่าย ในการขายหรือซื้อฝิ่นกับรัฐ

แต่ปริมาณของ “ฝิ่นเถื่อน” ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะชาวเขาซึ่งปลูกฝิ่นป้อนตลาดจีนบนทิวเขาตอนใต้ของจีน ถูกขับไล่จากกองทหารจีนในปลายราชวงศ์แมนจู จึงพากันอพยพเข้ามาอยู่ในทิวเขาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นอาณาบริเวณที่ต่อกันกับทิวเขาในตอนใต้ของจีน ฉะนั้นจึงมีฝิ่นที่ปลูกทางตอนเหนือของประเทศ ที่พร้อมจะไหลไปสู่ตลาดใดก็ได้ที่มีความต้องการ

จะกันฝิ่นไว้ที่ท่าเรืออย่างเดียวไม่ได้เสียแล้ว รวมทั้งอังกฤษเองก็ถูกนานาชาติกดดันจนต้องเลิกค้าฝิ่นไป แหล่งที่มาของฝิ่นย้ายไปอยู่ทางเหนือของประเทศ ฝิ่นทั้งที่จะขายแก่รัฐหรือเถื่อนจึงไหลลงมาผ่านทั้งทางน้ำ, บก, หรือแม้แต่อากาศในภายหลัง

ข้าราชการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าฝิ่นเถื่อนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหน่วยที่มีหน้าที่จับกุมผู้ค้าเถื่อนทั้งหลาย การค้าฝิ่นกลายเป็นฐานรายได้สำคัญในทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ แย่งกัน และเกือบจะปะทะกันหลายครั้ง ระหว่างตำรวจที่ไปจับฝิ่นเถื่อน แต่พบว่าทหารเป็นผู้ขน หรือทหารช่วยเหลือราชการจับฝิ่นที่ตำรวจขน เพื่อตัดกำลังศัตรูทางการเมือง

แน่นอน ว่าผู้ค้าอิสระก็มีไม่น้อย แต่จะค้าฝิ่นเถื่อนอย่างอิสระจริงๆ นั้นแทบไม่มี (นอกจากกระป๋องสองกระป๋อง เช่นเพื่อนชั้นมัธยมของผมคนหนึ่ง เป็นชาวลำปาง จะขนมาหนึ่งกระป๋องบุหรี่ทุกเปิดเทอม เพื่อเอามาเสียค่าเทอมและค่ากินอยู่หลับนอนในฐานะนักเรียนประจำ) จำเป็นต้องสังกัดกับข้าราชการ หรือร่วมหุ้น หรือเสียส่วนแบ่งเพื่อเปิดทาง

ผมควรพูดถึงชาวเขาผู้ปลูกฝิ่นบนดอยไว้ด้วย ฝิ่นเป็นพืชที่ให้คำตอบอย่างดีที่สุดแก่ชีวิตของชาวเขา ซึ่งมีแรงงานจำกัดและอาศัยอยู่บนพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะกับการเกษตรนัก ฝิ่นจึงเป็นพืชเงินสด (cash crop) อย่างเดียวที่ทำให้เขาอยู่รอดในภูมิประเทศที่ทุรกันดารอย่างนั้นได้

อยู่รอดเท่านั้นนะครับ ไม่ได้รวยอะไรขึ้นมาเหมือนพ่อค้าฝิ่น เพราะการค้าที่ต้องเสีย “ส่วนเกิน” มากขนาดนี้ จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องกดราคารับซื้อจากผู้ผลิตให้ต่ำที่สุด ซ้ำผู้ซื้อรายใหญ่กับผู้ผลิตก็ไม่ได้ติดต่อกันโดยตรง ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางนับตั้งแต่รายย่อยในหมู่บ้านไปจนถึงกองคาราวานของผู้มีอิทธิพล (เช่น จีนฮ่อ หรือพ่อเลี้ยง) แต่ละทอดของการซื้อขายก็ต้องกินกำไรกันไปเรื่อยๆ เงินที่ตกถึงมือผู้ผลิตจริงๆ จึงมีนิดเดียว

แต่เวลาเราจะขจัดการปลูกฝิ่น เรากลับไม่ค่อยพูดถึงชะตากรรมของชาวเขา ซึ่งที่จริงแล้วเป็นคนที่ยากแค้นแสนสาหัสกลุ่มหนึ่งในสังคม ถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนอีกหลายกลุ่มซึ่งล้วนผูกพันเชื่อมโยงไม่โดยตรงก็โดยอ้อมกับรัฐทั้งสิ้น

เรื่องของสุราก็คล้ายกัน เมื่อรัฐคุมไม่อยู่ก็หาเงินกับมันดีกว่า ในสมัย ร.2 มีหลักฐานว่าเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ รัฐเก็บภาษีสุราได้ถึงปีละ 72,200 บาท แต่พอถึงต้นรัชกาลที่ 3 ก็ได้ภาษีเพิ่มขึ้นถึง 104,900 บาท คงไม่ต้องพูดนะครับว่ารัฐไทยทำเงินกับเหล้าเบียร์มาจนถึงทุกวันนี้มหาศาลแค่ไหน

พร้อมกันไปนั้น พ่อค้าเหล้าเบียร์ก็ไม่ได้จนลง แต่รวยหนักอัครฐานกันทั่วหน้าทุกราย

ในประเทศไทย การสะสมทุนนับตั้งแต่เริ่มแรกสัมพันธ์กับรัฐอย่างแนบแน่น โดยรัฐสร้างเงื่อนไขที่เป็นการผูกขาดขึ้น บางครั้งก็เป็นการผูกขาดโดยรัฐ แต่รัฐไม่ทำเอง เป็นแต่เสือนอนกิน ขายสัมปทานให้พ่อค้าเป็นผู้ทำ สัมปทานสมัยนั้นก็ไม่ต่างจากสมัยนี้นะครับ คือไม่ได้แข่งกันที่เงื่อนไขกลางอย่างเดียว แต่แข่งกันที่เงินใต้โต๊ะ หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวที่พ่อค้าต้องสร้างขึ้นกับผู้ถืออำนาจรัฐ

บางครั้งรัฐไม่ได้เป็นผู้ผูกขาด แต่ตั้งตัวเป็นผู้คุมตลาด เช่น คุมปริมาณบ้าง คุมคุณภาพบ้าง คุมไม่ให้ตลาดขยายใหญ่เกินไปบ้าง กลายเป็นเงื่อนไขที่ผู้เล่นในตลาดมีอำนาจผูกขาดระดับหนึ่งขึ้นมา

และดังที่ผมกล่าวมาแต่แรก ในบางกรณีก็ไม่ใช่เพราะรัฐอยากหาเงินอย่างเดียว แต่เป็นเพราะอ่อนแอเกินกว่าจะไปคุมพ่อค้าด้วยวิธีอื่นได้ เกรงจะเกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง ฉะนั้น ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว หารายได้ให้รัฐเสียเลยดีกว่า

ทุนไทยจึงเติบโตมากับรัฐที่อ่อนแอและฉ้อฉล ไม่เคยมีความคิดที่จะหาระบอบปกครองซึ่งจะทำให้ตัวสามารถเข้าไปควบคุมรัฐได้ ที่จ่ายค่า “เก๋าเจี๊ยะ” อยู่ ก็เป็นการควบคุมรัฐที่ให้ผลกำไรเพียงพอแล้ว ไม่รู้จะไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายต่อสู้กับความไม่เที่ยงธรรมและฉ้อฉลของรัฐทำไม

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุนไทยไม่เคยเป็นหัวหอกของระบอบประชาธิปไตย

ถามว่าในอนาคต ทุนไทยจะกลายเป็นผู้ผลักดันประชาธิปไตยในบ้านเราหรือไม่ คำตอบในนาทีนี้คือน่าจะยัง โดยเฉพาะในหมู่ทุนระดับใหญ่

คุณสฤณี อาชวานันทกุล ยกตัวเลขของตลาดหลักทรัพย์มาแสดงในหนังสือ “ความเหลื่อมล้ำฉบับพกพา” ว่า

ใน พ.ศ.2553 บริษัทจดทะเบียนใหญ่สุดในตลาดหลักทรัพย์ 20 บริษัทมีมูลค่าตลาดรวมกันถึง 70% ของมูลค่าตลาดรวม แต่ 16 บริษัทในจำนวนนี้ทำธุรกิจที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับอำนาจรัฐ เช่น รัฐวิสาหกิจ, โทรคมนาคม, สถาบันการเงิน หรือมีรายได้หลักจากการสัมปทาน มีเพียง 4 บริษัทเท่านั้นที่ทำธุรกิจที่เปิดให้มีการแข่งขันโดยเสรี

ทุนใหญ่คืออำมาตย์ด้วยประการฉะนี้