บทความพิเศษ : ปาก ของ วัฒน์ วรรลยางกูร กับ “เสรีภาพในการพูด”

ไนเจล วอร์เบอร์ตัน ให้ความหมายอย่างกว้างของคำว่า เสรีภาพในการพูด (free speech) เพื่อให้ครอบคลุมไม่เฉพาะคำพูดจากปาก (spoken word ซึ่งเป็นความหมายอย่างเคร่งครัดของคำว่า “การพูด”)

แต่จะหมายความรวมถึงการแสดงออก (expression) ในหลากหลายลักษณะ รวมถึงถ้อยคำที่เขียน (written word) ละครเวที บทภาพยนตร์ วิดีโอ ภาพถ่าย การ์ตูน ภาพวาดและอื่นๆ

ดังนั้น เพื่อที่จะเข้าใจตัวอย่างใดๆ ของการพูดโดยเสรีหรือการแสดงออกโดยเสรี เราจำต้องทำความเข้าใจว่าการแสดงความคิดเห็นนั้นเกิดขึ้นเมื่อใด เสนอต่อใคร ด้วยความตั้งใจหรืออย่างน้อยที่สุดก็ด้วยความคาดหมายว่าจะให้เกิดผลอะไร

ในบทความชิ้นนี้จะนำเสนอ “ปาก” ของ วัฒน์ วรรลยางกูร กับเสรีภาพในการพูด เรื่องสั้นใหม่ล่าสุดในวาระครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา ของนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ผู้หนีหมายจับศาลทหารฐานความผิดไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ 5/2557 ตีพิมพ์อยู่ในเล่ม “ถ้อยเถื่อนแห่งอารยธรรม” ชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 8

โดยมี มาโนช พรหมสิงห์ เป็นบรรณาธิการ

เรื่องสั้น “ปาก” ของ วัฒน์ วรรลยางกูร นำเสนอโดยให้ตัวละครหลัก “ฉัน” เป็นผู้เล่าเรื่องของตนเอง (I-narrator) มุมมองในการเล่าเป็นของตัวละครหรือผู้เขียนที่จะเล่าทุกสิ่งอย่างที่ประสบพบเจอหรือรู้สึกนึกคิดหรือนำเสนอปมความขัดแย้งภายในจิตใจของตนเอง

แต่เรื่องสั้นดังกล่าวมี “ฉัน” ในปัจจุบันของเรื่อง (Older-narrator-I) กับ “ฉัน” เมื่อสองปีที่แล้วก่อนหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรหรือสิบปีที่แล้ว เมื่อมีการทำรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 และสี่สิบปีที่แล้วกับเหตุการณ์วันที่ 14 และ 6 เดือนตุลา ซึ่งทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าตัวละคร “ฉัน” หรือผู้เขียน มีทัศนะแตกต่างกันอย่างไรเมื่อวันเวลาผ่านไป

นอกจากนี้ วัฒน์ วรรลยางกูร ยังใช้สัญลักษณ์ (symbol) ในเรื่องสั้นที่ชวนตีความผ่านการแฝงนัยเชิงสถานการณ์ (irony of situation) ทางการเมืองอีกด้วย

วัฒน์ วรรลยางกูร เล่าว่า “ฉัน” ในปัจจุบันเป็น “โรคตาประหลาด” ที่คนส่วนหนึ่งแสดงอาการรังเกียจและหวาดกลัวการติดต่อจึงหลีกลี้ออกนอกราชอาณาจักร ผ่านไปกว่าสองปีแล้วจึงมีเด็กหนุ่มติดต่อมาเพื่อจะให้ “ฉัน” พูดลึกๆ ถึงเหตุการณ์วันที่ 6

อาการตาประหลาดนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ (smybol) ในเรื่องสั้นที่ วัฒน์ วรรลยางกูร ใช้เพื่อให้ผู้อ่านตีความตามสถานการณ์เชิงวิพากษ์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีพนักงานต้องทำงานตามกฎตั้งแต่ 08.00-16.00 น. การเห็นโยนีหรือรอยยิ้มปรากฏบนหน้าผาก หรือองคชาตตรงทัดดอกไม้ เห็น “เขา” ของวีรชนผู้เลือกที่จะจดจำวันที่ 14 และไม่อยากจดจำวันที่ 6

“ฉันบอกเล่าเหตุการณ์ในอดีตกว่าสี่สิบปีที่ฉันเห็นมาด้วยตาประหลาด เพราะกูมีตาประหลาด ไม่ได้มีแต่ดวงตามืดบอด” (น.11)

จากข้อความข้างต้น ผู้อ่านจะสัมผัสถึงน้ำเสียงเย้ยหยันและขมขื่นของ “ฉัน” เมื่อ “ตาประหลาดสามารถเห็นปัจจุบัน มองเห็นอดีต มองเห็นอนาคต และไอ้การมองเห็นมากไปนี้เองทำให้ฉันไม่อาจอยู่ในราชอาณาจักรนั้นได้” (น.5)

อาจตีความได้ว่า เสรีภาพในการพูดของ “ฉัน” ถูกตัดทอน โดยไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ ไม่ว่าจะโดยทางกฎหมายหรืออาจโดยสิ่งที่เรียกว่าเผด็จการเสียงข้างมาก ซึ่งหมายถึงมุมมองของคนส่วนน้อยถูกทำให้เป็นเรื่องที่ไร้ความสำคัญ หรือแม้กระทั่งต้องเงียบเสียงลงจากความไม่พอใจของสังคม

โดยเฉพาะ “เหตุการณ์วันที่ 6 ที่พวกเขาเข้าใจนั้น แม้ว่าจะมีการรำลึกอยู่ทุกปี มีการพูดถึงกรณีเหตุการณ์ใช้เชือกแขวนคอ แล้วมีเก้าอี้เหล็กฟาดกับมีรองเท้ายัดปากศพ เขาพูดรำลึกกันอยู่แค่นี้ ไม่เห็นมีใครพูดอะไรที่มันลงลึกไปกว่านี้ได้…” (น.5)

หรือ “สำหรับคนที่ผ่านเหตุการณ์วันที่ 14 และสามปีต่อมาคือวันที่ 6 ฉันยืนยันว่าวันที่ 14 คือวันเตะหมูเข้าปากหมาป่า วันที่ 6 คือวันที่หมาป่าขย้ำลูกแกะ” (น.9) เป็นต้น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 34 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้น เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”

ในประเทศไทย เสรีภาพในการแสดงออกได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญหลายๆ ฉบับ ตั้งแต่ พ.ศ.2475 ถึงปัจจุบัน แต่ทุกครั้งที่มีการบัญญัติรับรองเสรีภาพในการแสดงออก ก็จะบัญญัติข้อจำกัดของการใช้เสรีภาพไว้ในเงื่อนไขต่างๆ ด้วย เช่น เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

แต่ในทางปฏิบัติ กฎหมายหรือกติการะหว่างประเทศเป็นเพียงหลักปฏิบัติเท่านั้น เพราะสุดท้ายหากรัฐบาลเลือกที่จะจำกัดด้วยเหตุผลตามเงื่อนไขต่างๆ และสิ่งที่สังคมนานาชาติทำได้แค่เพียงแสดงความเป็นห่วงหรือประณามเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ เสรีภาพในการพูดและการแสดงออก จะได้รับความคุ้มครองให้เป็นสิทธิพลเมืองของประชาชนหรือไม่ จึงอยู่ที่ความเข้มแข็งของประชาชนที่จะแสดงออกเพื่อยืนยันต่อรัฐว่าเสรีภาพในการพูดและแสดงออกนั้นเป็นสิทธิโดยชอบธรรม

ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องสั้น “ปาก” ของ วัฒน์ วรรลยางกูร ต่อการพูดถึงสถานการณ์ทั้งในและนอกราชอาณาจักร “เพราะเมื่อเห็นก็ย่อมคิด ย่อมรู้สึก ย่อมอยากจะพูด รู้ทั้งรู้เช่นนี้ ฉันเองก็ไม่สามารถทำให้ตัวเองตาบอดได้” (น.6) มันจึงกลายเป็นอาการ “น้ำท่วมปาก” ที่สุดท้าย วัฒน์ วรรลยางกูร เลือกที่จะจบเรื่องสั้นแบบ “พูดไปทำไมมี”

กรณีดังกล่าวจึงสะท้อนสาระสำคัญของเสรีภาพในการพูดประเภทที่ควรค่าแก่การแสวงหาคือเสรีภาพที่จะพูดในเวลาใดก็ได้ที่คนเราสะดวกใจ และก็ไม่ควรเป็นเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเห็นในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เสรีภาพนี้จึงมีขีดจำกัดอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม การปกครองที่ปราศจากเสรีภาพในการพูดอย่างกว้างขวางนั้นปราศจากความชอบธรรมโดยสิ้นเชิงและไม่ควรเรียกว่าเป็นการปกครอง “แบบประชาธิปไตย”

จากมุมมองดังกล่าว ประชาธิปไตยต้องมีอะไรมากกว่าพันธกิจในการเลือกตั้ง การคุ้มครองเสรีภาพในการพูดอย่างกว้างขวางเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต้องมีในประเทศประชาธิปไตยก่อน จึงสมควรได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย

ทั้งนี้ หากปราศจากเสรีภาพในการพูดแล้ว ก็คงพูดไม่ได้ว่าเป็นการปกครองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง ซึ่ง โรนัลด์ ดวอร์คิน (Ronail Dworkin) กล่าวยืนยันจุดยืนแนวคิดนี้ว่า

“เสรีภาพในการพูดเป็นเงื่อนไขหนึ่งของรัฐบาลที่มีความชอบธรรม กฎหมายและนโยบายต่างๆ จะไร้ซึ่งความชอบธรรม หากไม่ได้มาจากการรับรองผ่านกระบวนการประชาธิปไตย และกระบวนการก็จะไม่เป็นประชาธิปไตยหากรัฐบาลสกัดกั้นไม่ให้บุคคลแสดงความเชื่อของตนว่ากฎหมายและนโยบายต่างๆ ควรเป็นอย่างไร”

เรื่องสั้น “ปาก” ของ วัฒน์ วรรลยางกูร ทิ้งท้ายข้อความสำคัญในตอนจบถึงคำถามและคำตอบต่ออาการตาประหลาดของ “ฉัน” ในปัจจุบันและมุมมองต่อเหตุการณ์ทางการเมืองของ “ฉัน” ในอดีตได้อย่างน่าใคร่ครวญว่า

“สรุปแล้วหมาป่าผู้ได้รับชัยชนะในวันที่ 14 และวันที่ 6 นี้คือใคร”

“อะฮึอะฮะบุบุแบ๊ะแบ๊ะเอ้ออ้าโออุ๊อุ๊ย”

“ปากพี่หายไปแล้ว”

ในที่สุด “ปาก” ของ วัฒน์ วรรลยางกูร ก็หายไป แม้เขากำลังพูดตอบคำถามนอกราชอาณาจักร ซึ่งเขามีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก แสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทุกประเภทไม่ว่าจะด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะหรือโดยอาศัยสื่อที่ตนเลือก โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน แต่กลับเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตนเอง (self censor ship) เพื่อป้องกันไม่ให้สร้างความขุ่นเคืองใจแก่ใคร

อาจเท่ากับเป็นการยอมจำนนต่อสิ่งที่บางครั้งเรียกว่า “เฮกเตอร์ วีโต้” (heckler”s veto) หมายถึงแนวคิดที่ว่า หากมีใครสักคนที่อาจเป็นผู้ฟังของเรามีแนวโน้มจะเกิดความรู้สึกขุ่นเคืองใจในเรื่องที่เราพูด (หรือเขียน) เราก็ไม่ควรพูดในเรื่องนั้นๆ หรืออย่างน้อยที่สุดเราก็ควรตระหนักดีว่าไม่ควรพูด

หรือ วัฒน์ วรรลยางกูร จะคิดเห็นอย่างที่ เคนาน มาลิก (Kenan Malik) กล่าวไว้ว่า “เสรีภาพในการพูดซึ่งมีให้สำหรับทุกคน เว้นแต่พวกหัวดื้อยึดมั่นถือมั่นนั้น ไม่อาจถือว่าเป็นเสรีภาพในการพูดได้เลย…”

สรุปได้ว่า เสรีภาพในการพูดไม่ใช่เรื่องของบทสนทนาส่วนตัวหรือการรำพึงรำพันเพียงคนเดียว เสรีภาพในการพูดมักเกี่ยวข้องกับการสื่อสารสาธารณะประเภทใดประเภทหนึ่ง เช่นการพิมพ์หนังสือ บทกวี เรื่องสั้น บทความ เป็นต้น เสรีภาพในการพูดนั้นมีความสำคัญเป็นพิเศษกับนักเขียนทั้งประเภทบันเทิงคดีและอื่นๆ เพราะแก่นแท้ในกิจกรรมของคนเหล่านี้คือการสื่อสารความคิดเห็นสู่สาธารณะ

สำหรับนักเขียนแนวบันเทิงคดี เช่น วัฒน์ วรรลยางกูร การตั้งข้อจำกัดต่อความคิดที่สามารถสื่อสารออกไปได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางอุดมการณ์ การเมือง ศาสนาหรือเหตุผลอื่นใด อาจเป็นการตัดขั้วหัวใจในความคิดสร้างสรรค์ได้

สุดท้ายแล้ว การที่ วัฒน์ วรรลยางกูร เลือกตอนจบแบบหักมุม (twist ending) โดยให้ “ปาก” หายไป อาจเป็นทัศนะที่แฝงนัย (ironic vision) ของตัวละครเพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ตัวละคร “ฉัน” หรือผู้เขียนรู้กับสิ่งที่ผู้อ่านรู้

ประการแรกคือ แม้ “ปาก” จะหายไปหรือไร้คำพูด แต่ยังมีสิทธิและเสียงในสังคมระบอบประชาธิปไตย เพราะไม่มีใครห้ามไม่ให้แสดงออกหรือปิดกั้นโอกาสในการรับรู้ รับฟัง อ่านและมองดูการแสดงออกอย่างเสรีของตนและบุคคลอื่น

ประการต่อมา เพื่อเป็นการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับคนในสังคมนั้นๆ และไม่ให้เป็นการแสดงออกโดยประทุษวาจา เพราะอาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท

ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลให้เขาอาจต้องหลีกลี้อยู่นอกราชอาณาจักรต่อไปและคงประสบกับความลำบากในการใช้ชีวิตอันเนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็นบางประเภทนั่นเอง

บรรณานุกรม

คณะเขียน. (2559). ชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 8 ถ้อยเถื่อนแห่งอารยธรรม. กรุงเทพฯ : เขียน.

ไนเจล วอร์เบอร์ตัน. (2560). เสรีภาพในการพูด : ความรู้ฉบับพกพา. กรุงเทพฯ : โอเพ่นเวิลด์ส.

อิราวดี ตลังคะ. (2545). ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์