สดุดี วี.เอส.ไนพอล กับ “ความหมายซ่อนเร้น” ในบทกวีหนึ่งวรรคของ บี.เวิร์ดสเวิร์ธ

เรื่องสั้นๆ เรื่องหนึ่งนอนสงบเงียบอยู่ในรวมเรื่องสั้นรางวัลโนเบลชุดที่ 25 “แอนนาผู้ซีดเซียว ไฮน์ริช เบิล และคนอื่นๆ” และยักษ์ใหญ่ผู้หนึ่งนาม วี.เอส.ไนพอล ได้เขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวของกวีคนหนึ่งรวมอยู่ในนั้น

เรื่องสั้นเรื่องดังกล่าว มีชื่อเดียวกับกวีคนนั้น นามว่า “บี.เวิร์ดสเวิร์ธ”

บี.เวิร์ดสเวิร์ธ อาศัยอยู่ในบริเวณถนนอัลแบร์โตที่ไม่ไกลจากถนนมิเกล ที่ซึ่งเขาเคยขออนุญาตเจ้าของบ้านขอเข้าไปดูผึ้งในสนามหญ้า และได้รู้จักกับเด็กชายคนหนึ่ง จนได้กลายมาเป็นเพื่อนต่างวัยกันในกาลต่อมา

“เมื่อเจ้าเป็นกวี เจ้าอาจร้องไห้ให้แก่ทุกสิ่งได้”

บี.เวิร์ดสเวิร์ธ กล่าวกับหนุ่มน้อยคนดังกล่าว ก่อนที่จะเสนอขายบทกวีชิ้นยอดเกี่ยวกับแม่ให้เขา “ในราคาที่ต่อรองได้ เพียงสี่เซ็นต์” หนุ่มน้อยเดินเข้าไปถามแม่ที่อยู่ข้างในว่าแม่อยากซื้อบทกวีของชายผู้นี้หรือไม่ แม่ของเขาปฏิเสธพลันพร้อมบอกลูกชายว่าให้ไล่ชายผู้นี้ไป

บี.เวิร์ดสเวิร์ธ จึงกล่าวอย่างเศร้าสลดว่า “นี่คือโศกนาฏกรรมของกวี”

สิ่งซึ่งน่าสนใจในส่วนที่เกี่ยวกับกวีผู้นี้โดยตรง (นอกจากเราจะเอาเขาไปเปรียบกวีแนวโรแมนติก อย่าง “วิลเลี่ยม เวิร์ดสเวิร์ธ” บุคคลผู้มีชีวิตจริง) คือวิถีที่เขาเลือกเป็นและใช้ดำเนินชีวิตตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยยึดการเขียน “กวีนิพนธ์” หล่อเลี้ยงหัวใจและไม่เคยได้รับเงินค่าตอบแทนจากบทกวีที่เขาเขียนเลยสักชิ้น แต่เขาก็ยังทุ่มเททุกเวลาของชีวิตกลมกลืนไปกับวิถีที่เขาเลือก

เรื่องสั้นๆ เรื่องนี้ของไนพอลเล่าโดยผ่านสายตาบริสุทธิ์ของเด็กชายคนหนึ่งที่ในบทเปิดเรื่องเล่าว่า

“ทุกวันเวลาเดิม ขอทานทั้งสามจะมาร้องเรียกอยู่หน้าบ้านผู้เอื้อเฟื้อทั้งหลายบทถนนมิเกล”

แต่ทว่า “ทุกวันเวลาเดิม” วันนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อ “ขอทานที่แปลกประหลาดที่สุดมาถึงในบ่ายวันหนึ่ง” ชายคนดังกล่าวตามสายตาของเด็กชายที่ไม่เหมือน “ขอทาน” ที่พบเห็นอยู่ทุกวันเวลาเดิมคือ เขาไม่ได้มาขอข้าวสารหรือเงินสักเพนนีหนึ่ง “เขาเป็นชายร่างเล็ก แต่งกายสะอาดเรียบร้อย เขาสวมหมวก เสื้อขาว และกางเกงขายาวสีดำ”

แต่สิ่งที่เขาขอคือ “ขอมองฝูงผึ้ง” และที่มากกว่าฝูงผึ้งก็คือ “ปัจจุบันขณะ” ที่เขามีให้กับทุกๆ สรรพสิ่งในชีวิตที่ผู้คนส่วนใหญ่มองข้ามไป โดยเอาเวลาส่วนใหญ่ไปฝากไว้กับการทำมาหากิน เด็กๆ รีบไปเข้าเรียน จึงไม่มีเวลาเหลือพอที่จะมาใช้ละเลียดเยี่ยงสายตาของกวี เวลาแต่ละนาทีของกวีจึงมีค่ายิ่งกว่าการทำงานหาเงินทองมาบำเรอตน และคนไม่ทำงาน ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “อาชีพ” แลกค่าตอบแทนเป็นเงิน จึงไม่ต่างจาก “ขอทาน” ในความเข้าใจของคนทั่วไป

“…สิ่งที่ข้าทำ ข้าเพียงเพ่งพินิจ ข้ามองพวกมดได้เป็นวันๆ เจ้าเคยมองดูพวกมดหรือไม่? แมงป่อง กิ้งกือ และปลาไหลทะเล เจ้าเคยพินิจมันหรือไม่เล่า?” ความดังกล่าวที่กวีเอ่ยแก่หนุ่มน้อย เป็นสิ่งที่เขามองข้ามมาโดยตลอด “เวลา” ของเขาหมดไปกับการเรียนในแต่ละวันและไม่เหลือพอจะหยุดดูมันแม้สักครั้ง สิ่งที่กวีพูดจึงสะกิดใจเขาไม่น้อย

“…ข้ามองดูดอกไม้เล็กจิ๋วอย่างมอร์นิ่งกลอรี่แล้วร่ำไห้ได้นะ”

ผมเอ่ยถาม “ทำไมคุณถึงร้องไห้ล่ะ”

“ทำไมเล่า เจ้าหนุ่มน้อย ทำไมน่ะหรือ? แล้วเจ้าจะรู้เมื่อเจ้าโตขึ้น เจ้าเป็นกวีด้วยเช่นกัน เจ้าย่อมได้รู้ และเมื่อเจ้าเป็นกวี เจ้าอาจร้องไห้ให้แก่ทุกสิ่งได้”

กวีร้องไห้ให้แก่ทุกสิ่งได้คืออะไร? ตรงนี้จึงเป็น “ความ” มากกว่า “คำ” ที่เราควรต้องตีความ ทำไมไนพอลคิดว่า “เมื่อเจ้าเป็นกวี เจ้าอาจร้องไห้ให้แก่ทุกสิ่งได้”

ในหนังสือ “ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งวรรณคดี” เจตนา นาควัชระ กล่าวไว้ตอนหนึ่งได้อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับ “ประสบการณ์ร่วม” ว่า

“…การที่ผู้เขียนกับผู้อ่านจะสื่อสารกันได้นั้น การสื่อสารดังกล่าวก็ย่อมจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของ “ประสบการณ์ร่วม” การที่เราแต่ละคนจะเข้าใจประสบการณ์ของอีกคนหนึ่งให้ได้ทุกแง่มุมนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะประสบการณ์ของคนแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ฉันใดก็ฉันนั้น ประสบการณ์ที่นักประพันธ์ถ่ายทอดลงในวรรณกรรมแต่ละเรื่องนั้น อาจจะมีทั้งส่วนที่ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย และส่วนที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์สามัญ ผู้อ่านจึงจำเป็นจะต้องใช้จินตนาการติดตามเรื่องราวที่อาจจะอยู่นอกเหนือประสบการณ์ส่วนตน…โดยที่ผู้เขียนเป็นผู้ให้แรงกระตุ้นเท่านั้น”

จึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้เป็นกวีจะต้องมีความลึกซึ้งมากกว่าผู้อื่น ละเอียดอ่อนมากกว่าผู้อื่น ดื่มด่ำซึมซับในอารมณ์ละเมียดละไมมากกว่าผู้อื่น มองสิ่งละอันพันละน้อยเป็น “คำ” และ “ความ” มากกว่าผู้อื่น อาจไม่เป็นเหมือนคนทั่วไป อาจปลีกวิเวกตัวตนลำพัง สุขเล็กๆ ของกวี จึงยิ่งใหญ่มากกว่าความสุขจอมปลอมของคนที่วิ่งไขว่คว้าไม่จบสิ้น ผู้เป็นกวีจึงรู้สึกเร็วและอ่อนไหวง่าย และเลือกเป็นคนส่วนน้อยของสังคมมากกว่า

และเมื่อ “สายตาของกวี” นำทางหนุ่มน้อยคนนั้น ได้เรียนรู้จักกันในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่นาน ส่วนที่ซึมซับลงสู่จิตใจคือ “หัวใจดวงใหม่” และ “สายตาคู่ใหม่” ที่ค่อยๆ ทำให้เขามองโลกต่างไปจากเดิม ต่างจากโรงเรียนที่เขาไป ต่างจากบ้านที่เขาอยู่ ต่างจากแม่ที่เข้มงวดกับเขาอยู่ทุกวัน

เด็กชายได้กินมะม่วงที่หวานฉ่ำบนต้นมะม่วงจริงๆ (“ผมกินเข้าไปสักหกลูกได้ น้ำมะม่วงเหลืองอร่ามไหลย้อยลงจากแขนสู่ศอกของผม ไหลเปรอะที่ปากและคาง ส่วนเสื้อของผมก็เป็นคราบ”)

ได้มองดูดาวและได้รู้จักชื่อดาวแต่ละดวง (“ผมจำได้แม่นยำก็เพียงโอไรออนหรือกลุ่มดาวนายพราน แม้จะไม่รู้จริงๆ ว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่ผมก็ยังคงมองเห็นดาวโอไรออนได้จนกระทั่งทุกวันนี้”) ได้เรียนรู้เวลาที่หมุนช้าลง และได้สัมผัสว่าความสุขแท้จริงได้เกิดขึ้น ณ ที่ตรงนี้กับเขา บี.เวิร์ดสเวิร์ธ กวีผู้เขียนบทกวีเดือนละวรรคเพียงเท่านั้น

และเมื่อเพื่อนต่างวัยคนเดียวของเขาถามขึ้นมาว่า

“วรรคที่ผ่านมาของเดือนที่ผ่านมาคืออะไร?”

เขาเงยหน้ามองฟ้าและเอ่ย “อดีตกาลสุดล้ำลึก”

ถัดจากเดือนนั้น เขาก็ไม่สามารถเริ่ม “วรรคใหม่” ได้อีกเลยตลอดชีวิต

เขาแก่ลง พลังชีวิตถดถอย เขาพูดกับหนุ่มน้อยว่า

“เมื่อข้าอายุยี่สิบ ข้ารู้สึกได้ถึงพลังในตัวข้า…แต่นั่นน่ะมันนานแสนนานมาแล้ว”

หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี สถานที่ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยพาเพื่อนเพียงคนเดียวมานอนดูดาวและกินผลมะม่วงหวานฉ่ำก็ได้ถูกรื้อทำลายสิ้นและ “มีอาคารสองชั้นขนาดใหญ่สร้างขึ้นแทน ต้นมะม่วง ต้นบ๊วย ต้นมะพร้าวล้วนถูกโค่น แล้วทุกหนทุกแห่งก็มีแต่อิฐและคอนกรีต”

ราวกับว่า บี.เวิร์ดสเวิร์ธ ไม่เคยมีตัวตน

ซึ่งนั่นทำให้เราเห็นว่า บี.เวิร์ดสเวิร์ธ เพียงอยากฝาก “เรื่องราว” ไว้กับใครสักคนก่อนลาจากโลกนี้เรื่องราวที่ไม่สลักสำคัญอันใด เรื่องราวของกวีตัวเล็กที่สุดในสังคมราวกับขอทานคนหนึ่งก็ไม่ปาน เรื่องราวแห่งความสุข เศร้า ความรักในวัยหนุ่มสาวกับหญิงคนรัก กวีสาวคนหนึ่งกับลูกในท้องที่ตายจากไป เรื่องราวที่เขาบอกกับเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวของเขาว่าเป็น “เรื่องโกหก” แต่เป็น “อดีตกาลสุดล้ำลึก” สำหรับเขาในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ และตายจากไปเพียงลำพังในกระท่อมหลังเล็กของเขา

คงเพราะความไม่สลักสำคัญของเขานี่แหละที่ทำให้ยังอยู่ในความทรงจำช่วงวัยหนึ่งในชีวิตของใครอีกคน (ที่รับเอาไว้ทั้งความสุข เศร้า และการจากลา) ที่วันหนึ่งข้างหน้าอาจเติบโตขึ้นเป็นกวีอีกคนหนึ่ง และฝาก “อดีตกาลสุดล้ำลึก” ให้ใครอีกคนหนึ่งไว้สืบแทนต่อไป

กล่าวถึงตรงนี้แม้ วี.เอส.ไนพอล นักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบลผู้มีเชื้อสายอินเดีย-ตรินิแดด ท่านนี้ จะเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมาด้วยวัย 85 ปี แต่ผลงานรวมเรื่องสั้นที่คนไทยทุกคนน่าจะรู้จักและคุ้นเคยอย่าง Miguel Street หรือผลงานที่สร้างชื่อเสียงระดับโลกอย่าง Half a Life ก็ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่โลกวรรณกรรมต้องจดจำและจารึกไว้ไปอีกนาน

ปัจจุบันคงยังดำเนินต่อ แต่ “อดีตกาลสุดล้ำลึก” นั้น คงขึ้นอยู่กับว่าใครจะสร้างคุณค่าใดให้แก่โลกหรือใครสักคนได้จดจำ…