JBL 4309 | Bookshelf Studio Monitor

หน้าตาที่เห็นบอกได้ถึงความคุ้นชินของคนเล่นเครื่องเสียงมาแต่ไหนแต่ไร กับตอนบนประมาณหนึ่งในสามของความสูงตู้ที่ติดตั้งด้วยชุดตัวขับเสียงแบบ Horn Load กับแผงตะแกรงปิดหน้าลำโพงตอนล่างที่เป็นสีน้ำเงินเข้ม ยิ่งดึงแผงหน้ากากที่ว่านี้ออกแล้วเห็น Mid/Bass Driver กับ Port หรือท่อออากาศที่บอกให้รู้ว่าทำงานในระบบ Bass Reflex ด้วยแล้ว นั้น, ล้วนยิ่งกว่าความคุ้นชินเป็นไหนๆ

และเมื่อสำทับสายตากับพื้นแผงหน้าของตู้ที่เป็นสีน้ำเงินอมฟ้า ยิ่งตอกย้ำตัวตนได้อย่างชัดเจนว่าจะเป็นอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากต้องใช่ลำโพง Studio Monitor ของ JBL อย่างแน่นอน

แต่กับความแน่นอนที่ว่าก็มีบางอย่างที่ออกจะผิดแผกแปลกตาไป นั่นก็คือขนาดของโครงสร้างตู้ ที่ดูเหมือนจะเล็กลงอย่างชนิดที่หาใช่ความคุ้นชินแต่อย่างใด

แต่เมื่อได้คำตอบจากผู้ผลิตว่านี้เป็นน้องเล็กสุดของลำโพงในตระกูลนี้ ก็ทำให้พอจะเข้าใจได้อยู่

JBL 4309 ถูกระบุว่าเป็นลำโพงย่อส่วนมาจากรุ่น 4349 โดยยังคงหน้าตาแบบดั้งเดิมเอาไว้ในลักษณะของ Retro-Modern ที่นำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาผนวกใส่ไว้ในโครงสร้างตู้แบบย้อนยุค และระบุชัดว่าเป็นลำโพงสตูดิโอ มอนิเตอร์ แบบวางหิ้งอย่างที่จ่าหัวเอาไว้นั่นแหละครับ

แม้จะมีขนาดเล็กแต่โครงสร้างตู้มีความมั่นคงและแข็งแรงมาก ผนังตู้ใช้แผ่นไม้ความหนา 18 มิลลิเมตร ภายในมีการคาดดามด้วยชิ้นไม้ขนาด 3/4 นิ้ว ทำหน้าที่เป็นโครงค้ำยันรูปตัว H ที่เสริมความเสถียรให้แก่ตู้ด้วยน้ำหนักที่ดูเกินตัวอย่างน่าแปลกใจ โดยภาพรวมที่แม้ดูว่าจะเป็นตู้ธรรมดาๆ แต่เมื่อพิจารณางานฝีมือโดยรวมแล้ว นับว่ามีความสวยงามและประณีตยิ่ง

กับการทำงานในระบบเบส-รีเฟล็กซ์ แบบ 2 ทาง, นั้น ชุดตัวขับเสียงแหลมที่สามารถทำงานไปได้ถึงระดับ UHF : Ultra-High Frequency นั้น ใช้ชุดตัวขับเสียงแบบ Compression Driver ขนาด 1 นิ้ว (เป็นไดรเวอร์รุ่น 2410H-2 ของเจบีแอลเอง ซึ่งย่อส่วนมาจากตัวขับเสียงในอนุกรม D2-Series ที่ใช้อยู่ในลำโพงกลุ่ม Professional ที่มีราคาแพงกว่ามาก และเป็นไดรเวอร์ที่ได้จดสิทธิบัตรเอาไว้เป็นที่เรียร้อยแล้ว) โดยชุดตัวขับเสียงแหลมนี้ขึ้นรูปไดอะแฟรมด้วย Teonex Polymer และยังคงรูปแบบหน้าตัดเอาไว้ในในลักษณะตัว V เพื่อขจัดอาการบิดเบือนและให้ความเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น โดยให้การทำงานในช่วงความถี่ 1,600Hz – 30,000Hz (@-6dB)

โดยชุดตัวขับเสียงแหลมนี้จะทำงานร่วมกับปากแตร (Horn) ที่เป็นแบบ HDI : High Definition Imaging ทำหน้าที่ถ่ายทอดรายละเอียดของเสียงในย่านความถี่สูงออกมาได้อย่างหมดจด ครบถ้วน และทอดขยายไปได้ไกลด้วยความถูกต้อง สมจริง รวมทั้งมีปุ่มปรับ UHF Trim เพื่อให้ได้ความสอดคล้องกับภาพรวมของเสียงภายในห้องได้ตามความต้องการ ซึ่งสามารถปรับได้ในระดับ +/-1dB (ที่ตำแหน่ง 0, +/-0.5, +/-1.0dB) โดยที่ผู้ผลิตมีคำแนะนำว่าลำโพงประเภทนี้มักจะต้องการระยะเวลาในการ Burn-In มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับการทำงานช่วงแรกๆ ของมิด/เบส ไดรเวอร์ ที่มีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ต้องใช้เวลาในการเปิดให้ทำงานนานพอสมควรกว่าน้ำเสียงจะมีความคงที่

ดังนั้น จึงมิควรปรับปุ่มนี้แต่เนิ่นๆ ควรให้ลำโพงทำงานไปสักระยะจนฟังได้ว่าภาพรวมของเสียงเข้าที่เข้าทางแล้ว จึงค่อยปรับแต่งรายละเอียดในส่วนนี้ ซึ่งจะเป็นการปรับตั้งแต่ย่านความถี่ 7,000 เฮิร์ตซ์ขึ้นไป

สําหรับชุดตัวขับเสียงกลาง/ต่ำ มีขนาด 6-1/2 นิ้ว ขึ้นรูปกรวยแบบโคนด้วยเยื่อกระดาษ (Pure Pulp Cone) ที่ว่ากันว่าให้เสียงร้องและเสียงดนตรีมีความเป็นธรรมชาติสูงกว่าการใช้กรวยที่ขึ้นรูปด้วยวัสดุสังเคราะห์แบบอื่นๆ โดยเฉพาะกับเสียงที่พลิ้วไหวของเครื่องสาย และเครื่องเป่าลม โดยมิด/เบส ไดรเวอร์ นี้วางอยู่ในโครงโลหะหล่อที่มีความเสถียรสูง โดยมีมอเตอร์ที่ทำงานร่วมกับวอยซ์-คอยล์ขนาด 1.5 นิ้ว แบบช่วงชักลึก (Long Throw) สามารถให้การทำงานลงไปได้ที่ย่านความถี่ต่ำลึกเป็นพิเศษ และเมื่อทำงานร่วมกับท่ออากาศด้านหน้าแบบคู่ (Dual Port) จึงนอกจากจะทำงานลงไปได้ต่ำลึกแล้ว ยังเป็นคลื่นความถี่ต่ำที่เปี่ยมไปด้วยพลังอีกด้วย

ในส่วนของวงจรตัดแบ่งความถี่เสียง (Crossover Network) ประกอบไปด้วยขดลวดแกนอากาศ (Air Coil) ใช้ตัวต้านทานชนิดขดลวด (Wire-wound Resistor) ส่วนตัวเก็บประจุเป็นแบบแผ่นฟิล์มพลาสติกเคลือบโลหะ (Metalized Film Capacitor) ซึ่งเป็นคาปาซิเตอร์แบบ Low ESR (Equivalent Series Resistance) ที่มีการสูญเสียพลังงานและปัญหาความร้อนภายในต่ำ ทั้งยังช่วยให้สามารถรับการกระเพื่อมของกระแสได้มากขึ้นด้วย และภาพรวมของการทำงานนั้นมันให้การแยกสัญญาณได้อย่างราบรื่น มีความเป็นธรรมชาติสูงมาก

โดยเจบีแอลบอกว่าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ได้ถูกปรับแต่งให้เหมาะสมกับการทำงานของชุดตัวขับเสียงทั้งหมด ไดรเวอร์แต่ละตัวจึงรังสรรค์คลื่นเสียงออกมาได้อย่างราบรื่น สอดประสานกันอย่างลื่นไหล และมีความต่อเนื่องกันตั้งแต่ย่านความถี่ต่ำสุดไปจนถึงย่านความถี่สูงตอนปลาย โดยออกแบบให้มีจุดตัดความถี่ที่ 1.6 กิโลเฮิร์ตซ์

สำหรับคุณสมบัติทางด้านเทคนิคนั้น ระบุว่าให้การทำงานตอบสนองความถี่ในช่วง 42Hz – 30kHz (-6dB) โดยมีค่าอิมพีแดนซ์เฉลี่ยที่ 4 โอห์ม วัดค่าความไว (Sensitivity) ได้ 87dB/2.83v/1m รองรับกำลังขับ 150Wrms โดยที่แผงหลังตู้นั้นมีขั้วต่อสายลำโพงแบบ Binding-Post เคลือบทองสองชุด สามารถต่อใช้งานได้ทั้งแบบ Bi-Wire และ Single-Wire ผ่าน Clamp หรือ Bridge (ชุดแกนเชื่อมขั้วลำโพง) แบบโลหะเคลือบทองมาตรฐานเดียวกับขั้วต่อ ซึ่งมีให้มาพร้อมสรรพ

JBL 4309 มีมิติโครงสร้างตู้ (กว้าง x สูง x ลึก) 26 x 42 x 23 เซนติเมตร น้ำหนัก 10.98 กิโลกรัม/ตู้ แนะนำให้วางบนขาตั้งสูงมาตรฐาน 24 นิ้ว

ลำโพงรุ่นนี้ได้รับเสียงชื่นชมมาก ว่ากันตั้งแต่โครงสร้างตู้ที่มิเพียงมีงานฝีมืออันประณีตพิถีพิถันเท่านั้น หากยังมีความเสถียรและให้ความมั่นคงสูง รองรับการทำงานกับคลื่นเสียงเบสที่ต่ำลึกได้อย่างมั่นคง และเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้มิติเสียงมีความชัดเจน บ่งบอกตำแหน่ของแต่ละชิ้นเครื่องดนตรีได้แม่นยำ และแม้ว่าหน้าตาของมันที่ออกมาในแนวย้อนยุค จะมิใช่ความชื่นชอบหรือเป็นที่นิยมของผู้คนทั้งหมด แต่กับคุณภาพเสียงแล้ว เชื่อเหลือเกินว่านักเล่นส่วนใหญ่ยากที่จะปฏิเสธประสิทธิภาพการทำงานของมันได้

ด้วยภาพรวมของเสียงที่ให้ออกมาได้อย่างน่าตื่นเต้น น่าฟัง และน่าค้นหาไม่รู้จบนั้น มันยังเป็นน้ำเสียงที่ตรงไปตรงมา ปราศจากความซับซ้อน ไร้การบิดเบือนหรือเติมแต่งสีสันอย่างสิ้นเชิง ไดนามิกของเสียงเป็นอีกความโดดเด่นของลำโพงนี้ ทั้งยังมีความชัดเจนและความละเอียดอันน่าประทับใจ

ที่ได้รับความชื่นชมมากอีกเรื่องก็คือ เสียงเบส เพราะให้ออกมาอย่างมีพลังมาก บางเสียงบอกว่ามากจนนึกไม่ถึงว่าจะมาจากตู้ที่สูงแค่ฟุตกว่าๆ ทั้งยังเป็นเบสที่สะอาด กระชับ ตัวขับเสียงทั้งสองทำงานสอดประสานกันอย่างลื่นไหล ไร้รอยต่อให้รู้สึกสะดุดแม้เพียงน้อยนิด เป็นอีกประสบการณ์ดนตรีที่แบรนด์นี้ไม่ทำให้ผิดหวังเลย

ฟังคนอื่นพูดแล้ว ก็ให้รู้สึกอยากไปฟังดูเองบ้าง ได้ความอย่างไรเที่ยวหน้ามาบอกต่อนะครับ •

 

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]