หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ/’ช่วงเวลา’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ชะนีมือขาว - ปกติชะนีเคลื่อนที่โดยการโหนไปตามกิ่งไม้อย่างคล่องแคล่ว แต่พวกมันก็มีทักษะในการเดินไต่ไปตามกิ่งไม้ด้วย การเดินทางของพวกมัน คือไปยังแหล่งอาหาร

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ช่วงเวลา’

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อ เมื่อพบเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งคล้ายเป็นการ “ผจญภัย” ในสายตาของคนที่มองเข้ามา หรือในทรรศนะของคนจำนวนไม่น้อย ที่มองป่าคือสถานที่ “อันตราย”

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมรู้สึกเสมอว่า สิ่งนี้มันมากับงาน กับอาชีพที่เลือกทำ

ทุกๆ งาน ทุกๆ อาชีพย่อมมีสิ่งที่ “พ่วง” มาด้วยเสมอ

ตัวอย่างที่ดีและพูดให้เห็นภาพชัด การฝึกซ้อม ดูแลร่างกายอย่างดี นี่คือกฎเหล็กของอาชีพนักกีฬา

ผมยืนยันมาโดยตลอดว่า ป่าไม่ใช่สถานที่อันตราย

ป่าเป็นแหล่งอาศัย เป็นบ้านของสัตว์ป่า เขี้ยวเล็บที่เหล่าสัตว์ป่ามี พวกมันมีไว้สำหรับการทำงาน

ทักษะต่างๆ ของสัตว์ผู้ล่า คือสิ่งที่มากับอาชีพของพวกมัน

ไม่มีสัตว์ป่าตัวไหน “ดุร้าย” มีเพียงนักล่าที่ต้องทำงานให้สำเร็จ ส่วนสัตว์กินพืช สิ่งที่มากับอาชีพ คือทักษะการพรางตัว ฝีเท้าเร็ว จมูกรับกลิ่น หูรับเสียงได้ดี

กระนั้นก็เถอะ ผมพบกับสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น “อุบัติเหตุ” บ่อยๆ หลายครั้งขณะใช้เวลายาวนานเฝ้ารอสัตว์ป่าอยู่ในซุ้มบังไพร

ผมคิดถึงอุบัติเหตุเหล่านั้น

นั่นอาจเป็น “ช่วงเวลา” ที่ เกิดขึ้นเพื่อไว้จดจำ

 

“อุบัติเหตุ” ซึ่งฉิวเฉียดกับการบาดเจ็บอย่างรุนแรง หรือหนักหนายิ่งกว่า คือช่วงเวลาที่เสือโคร่งตัวหนึ่งกระโจนเข้าหา

ผมละเมิดกฎของเสือ เข้าไปใกล้เกินระยะอนุญาต

และนี่คือเรื่องน่าเสียใจ เป็นสิ่งที่ผมจำและยอมรับในสิ่งที่มันสั่งสอน

ผมรู้ว่า ทำผิดพลาด ตอนเสือกระโจนเข้าหาแล้ว ร่างมันคล่อมอยู่บนตัว ตีนซ้ายตบเข้าแถวๆ แก้ม ผมรู้สึกได้ถึงบาดแผล ตาข้างขวามืด เพราะเลือดไหลเข้านัยน์ตา

เป็นวันที่ผมเห็นเขี้ยวเสืออย่างใกล้ชิด

สิ่งที่ผมนึกในวินาทีนั้นคือ เสือเตรียมลงเขี้ยว โดยวิธีการเมื่อมันลงเขี้ยว เสือจะไม่ปล่อย กระทั่งเหยื่อสิ้นใจ และเป้าหมายคงอยู่แถวลำคอ

นึกได้อย่างนั้น ผมใช้กล้องที่มีเลนส์ 300 มิลลิเมตรติดอยู่ ดันเข้าปากเสือ

เลนส์หักสะบั้น ผมคิดว่า นั่นคือการซื้อเวลาให้เพื่อนๆ วิ่งเข้ามาตะโกนดังๆ เสือจึงผละไป

แท้จริงไม่ได้เป็นการซื้อเวลา ไม่ใช่เพราะผมมีสติ หรืออะไรเลย

เป็นเพียงเพราะเสือไม่ “เอาจริง” เจตนามันแค่จะสั่งสอน

ในสภาพเลือดชุ่มใบหน้าและตามแขน ผมใช้ใบสาบเสือขยี้ๆ ผสมน้ำโปะบนแผล เลือดหยุดไหล

วันนั้นผมได้รับบทเรียนโดยบทเบาที่สุดจากเสือ

วันรุ่งขึ้น แผลระบม ผ้าพันแผลครึ่งใบหน้า เย็บบริเวณแก้มขวาแค่ 4 เข็ม

ผมรู้ว่า นี่จะเป็นอีก “ช่วงเวลา” ที่จำได้ไม่ลืม

 

ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

งานผมไม่ราบรื่นนัก ที่นี่มีจำนวนประชากรสัตว์ป่ามาก แต่การหาตัวพวกมันให้พบ ไม่ง่ายเลย เหตุผลเพราะความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาศัยมีมาก สัตว์ป่ากระจายไปได้ทั่ว

สิ่งที่ยากกว่าการหาตัวสัตว์ป่าในป่าแห่งนี้ คือการเดินทางสภาพเส้นทางสมบุกสมบัน เกินกว่าสมรรถนะของรถจะทนทานไหว โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ค่าใช้จ่ายในการบำรุงซ่อมแซมสูง

กระทั่งในหนึ่งปี ค่าซ่อมรถมากกว่าราคาค่าตัวรถ

บนเนินชันๆ ลื่นๆ ผมพบกับอุบัติเหตุอีกครั้ง

รถเกือบถึงปลายเนินแล้ว เครื่องยนต์ดับ และเพราะกระบะบรรทุกสัมภาระหนัก รถไหล เบรกไม่ทำงาน เป็นเรื่องปกติเพราะรถผ่านแอ่งน้ำและหล่มโคลนมาทั้งวัน

ด้านขวามือคือเหว ผมหักพวงมาลัยทางซ้าย หวังให้ท้ายรถปะทะกับต้นไม้ ล้อหลังซ้ายปีนขึ้นก้อนหิน รถพลิก ด้านข้างกระแทกพื้น และอีกตลบ รถหยุดในสภาพสี่ล้อชี้ฟ้า

รู้สึกตัวอีกครั้ง เมื่อเจริญ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าจะแก ที่ขับตามมา กำลังดึงผมออกจากรถ

เราใช้เวลากู้รถกว่าสองชั่วโมง ให้สี่ล้อสัมผัสพื้นดินดังเดิม

เข้าไปทำงานต่ออีกหลายวัน

ก่อนขับรถในสภาพยับๆ อย่างนั้นกลับบ้าน

เป็นบทเรียนราคาแพง และเป็นช่วงเวลาให้จดจำถึงความ “อ่อนด้อย” ของตัวเอง

 

ในเมืองอูลาบาตอร์ เมืองหลวงประเทศมองโกเลีย

ผมถูกแก๊งขโมยฉกเป้กล้อง พลเมืองดีชี้ทิศทางที่ขโมยหนีไปทางไหน ผมไล่ตามพร้อมกับคนขับแท็กซี่ และหมอน็อต สัตวแพทย์ผู้ร่วมทาง

เราไปถึง พวกมันอยู่บนรถ เป้กล้องผมอยู่บนนั้น คนขับแท็กซี่เปิดประตูรถ กระชากลงมาคนหนึ่ง อีกสองคนเปิดประตูอีกฝั่งวิ่งหนี

หมอน็อตล็อกตัวชายคนหนึ่งไว้ได้ ผมเข้าช่วย ชุลมุนอยู่พักใหญ่ เราจับตัวชายคนหนึ่งส่งสถานีตำรวจ

ผมได้เป้คืน ข้างในไม่ได้เป็นเพียงกล้องและเลนส์

แต่มันคือชีวิตของผม

 

ขณะนั่งอยู่ในซุ้มบังไพร ผมทบทวนช่วงเวลาเหล่านี้เสมอ มีอีกหลายเหตุการณ์

เช่น ตกจากหน้าผา, ตกจากแพยางลงใต้น้ำ เกือบติดอยู่ใต้สายน้ำเชี่ยว

หรือแม้แต่การ “เข้าชาร์จ” จากสัตว์กินพืช

หลายครั้งคล้ายเป็นอุบัติเหตุอันค่อนข้างรุนแรง

แต่ก็ผ่านพ้นมาได้

ทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ใช่การผจญภัยอะไร เป็นเรื่องปกติที่มากับอาชีพ อีกทั้งไม่ได้ “วิเศษ” กว่าอาชีพอื่นๆ

ว่าตามจริง ไม่มีอาชีพใดจะหนักหนากว่าอาชีพใด

วิถีชีวิตในป่าสอนให้รู้ว่า เราต่างทำหน้าที่ที่สำคัญเหมือนๆ กัน

…หลายปีแล้ว ที่วิถีชีวิตผมไม่ได้เเปลี่ยนแปลงนัก อยู่ในวิถีเดิมๆ

อยู่ใน “บ้าน” สัตว์ป่า เรียนบทเรียนต่างๆ ที่พวกมันเปลี่ยนหน้ากันเข้ามาสอน

หลายเหตุการณ์ผ่านพ้น และค่อยจางหายไปตามกาลเวลา

สิ่งที่ชัดเจนขึ้นมา คือช่วงเวลาต่างๆ

หลายช่วงเวลา ไม่น่าจดจำนัก

แต่บาง “ช่วงเวลา” ก็เป็นบทเรียนพิเศษ ที่ไม่เคยลืม…