จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 15-21 กันยายน 2566

 

• เพื่อเด็ก

วันที่ 8 กันยายน เป็นวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ (International Literacy Day)

กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน (Education Cannot Wait หรือ ECW) ซึ่งเป็นกองทุนสนับสนุนการศึกษาในภาวะฉุกเฉินและวิกฤตที่ยืดเยื้อขององค์การสหประชาชาติ ได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้นำโลกยกระดับการสนับสนุนทางการเงินแก่การศึกษาให้มากขึ้น

รายงานผลการดำเนินงานประจำปี กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน ระบุว่า กองทุนและพันธมิตรทั่วโลกได้มอบการศึกษาแบบองค์รวมที่มีคุณภาพให้แก่เด็ก 8.8 ล้านคนนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนในปี 2559

โดยในปี 2565 เพียงปีเดียวสามารถช่วยเหลือเด็กได้ถึง 4.2 ล้านคน

“อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้บริจาคจำนวนมากต่างยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่ช่องว่างด้านเงินทุนกลับกว้างขึ้น และมีโครงการด้านการศึกษาในภาวะฉุกเฉินเพียง 30% ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนในปี 2565 เราต้องก้าวข้ามความท้าทายนี้ด้วยการปลดล็อกเงินทุนเพื่อการศึกษาให้มากกว่าเดิม” กอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) ผู้แทนพิเศษด้านการศึกษาขององค์การสหประชาชาติ และประธานคณะกรรมการกำกับดูแลระดับสูงของกองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน กล่าว

กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉินขาดแคลนเงินทุนประมาณ 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ปี 2566-2569 เพื่อช่วยเหลือเด็ก 20 ล้านคนในอีกสามปีข้างหน้า

“ด้วยความหวังและความกล้าหาญ เราสามารถรับมือกับความท้าทายของโลกที่ลุกเป็นไฟเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งที่รุนแรง และการถูกบังคับให้พลัดถิ่น เราสามารถทำได้ด้วยการรวบรวมความกล้าที่จะลงทุนในด้านการศึกษาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” แยสมิน เชริฟ (Yasmine Sherif) กรรมการบริหารกองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน กล่าว

จนถึงปัจจุบัน กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉินได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการด้านการศึกษาใน 44 ประเทศ

และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องปิดโรงเรียนทั่วโลก กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉินก็ได้ตอบสนองด้วยการปรับรูปแบบโครงการใหม่และเข้าถึงเด็กเพิ่มขึ้นอีก 32.2 ล้านคน

การลงทุนของกองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉินกำลังมีความก้าวหน้าอย่างมากในการเข้าถึงเด็กกลุ่มชายขอบทั่วโลก

โดยในบรรดาเด็ก 4.2 ล้านคนที่ได้รับความช่วยเหลือในปี 2565 นั้น ราว 21% เป็นผู้ลี้ภัย และ 14% เป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ

ทั้งนี้ ในปี 2565 กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉินได้ให้ความสำคัญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยให้เงินช่วยเหลือเพื่อรับมือกับผลกระทบจากภัยแล้งในแอฟริกาตะวันออก รวมถึงน้ำท่วมในปากีสถานและซูดาน

นอกจากนี้ ยังอนุมัติเงินทุนก้อนใหม่เพื่อรับมือกับผลกระทบจากสงครามในยูเครน รวมถึงความรุนแรงในภูมิภาคทะเลสาบชาดและเอธิโอเปีย

พีอาร์นิวส์ไวร์/ดาต้าเซ็ต

 

อีเมลทั้งฉบับนี้ และฉบับต่อไป

แม้จะออกไปในทางข่าวประชาสัมพันธ์

แต่ก็อยากเปิดพื้นที่ให้

ด้วยต่างมีเป้าหมายเพื่อสังคม

ถึงจะดูไกลตัว

แต่กระนั้น เรื่องการศึกษากับเด็ก ไม่ว่าระดับไหน

เราก็ควรจะเอาใจใส่

ยิ่งกระทรวงศึกษาฯ ในยุคนี้ที่ถูกตั้งคำถามมากมาย

เรายิ่งต้องช่วยกันเอาใจใส่

เด็กนักเรียนของเรา

มีชะตากรรมไม่ต่างจากเด็กนักเรียนทั่วโลก ไม่ใช่หรือ

• เพื่อคนไร้บ้าน

ชูมณี (Chumanee) วิสาหกิจเพื่อสังคม ภายใต้การดำเนินงานของ Otteri wash & dry ร้านสะดวกซัก ชั้นนำของไทย

นำรถซักผ้าเคลื่อนที่ Laundry Move ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานเปิดตัว “ห้องน้ำสำหรับคนไร้บ้าน สดชื่นสถาน”

จัดโดยมูลนิธิกระจกเงา กรุงเทพมหานคร องค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาวะขั้นพื้นฐานของคนไร้บ้านให้ได้ใช้ห้องน้ำ ห้องสุขา ที่สะอาดและปลอดภัย

อันนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคม ณ บริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า

นายกวิน นิทัศนจารุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “Otteri wash & dry มีปณิธานอันแน่วแน่ ที่อยากให้คนไทยเข้าถึงความสะอาดได้ในราคาที่ประหยัด โดยเริ่มต้นจากเรื่องในชีวิตประจำวันทั่วไป อย่างการมีสุขภาวะที่ดีของคนในสังคมรวมไปถึงคนไร้บ้าน ที่ยังขาดแคลนเสื้อผ้าที่สะอาด การมีห้องน้ำที่ดีในการใช้อาบน้ำ เพื่อที่คนไร้บ้านเหล่านี้จะได้เป็นที่ยอมรับในสังคม สามารถสมัครงาน หาเงินเลี้ยงชีพ กลับเข้าสู่ระบบการทำงาน ได้รับสวัสดิการพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างคนทั่วไป จึงเกิดแบรนด์ ‘ชูมณี’ ขึ้น เพื่อดำเนินธุรกิจพร้อมช่วยเหลือสังคมไปในเวลาเดียวกัน”

งานเปิดตัวห้องน้ำสำหรับคนไร้บ้าน สดชื่นสถาน ในครั้งนี้ ชูมณี ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ในการนำรถซักผ้าเคลื่อนที่ Laundry Move สำหรับทำกิจกรรมช่วยเหลือคนไร้บ้านในด้านสุขอนามัย ให้ได้ซักผ้า อาบน้ำ เข้าถึงคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่ดี ไม่ต่างจากทุกคน

โดยมีเครื่องซักผ้าจำนวน 4 เครื่อง เครื่องอบผ้าจำนวน 4 เครื่อง และห้องอาบน้ำภายในรถ 1 ห้อง มาให้บริการบริเวณงาน มูลค่ารวมกว่า 2 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมอบเครื่องกรองน้ำ มูลค่า 25,000 บาท พร้อมสนับสนุนเงินทุนมูลค่า 30,000 บาท เปิดบูธรถ food truck แจกอาหารให้คนไร้บ้าน

และยังช่วยเป็นสื่อกลางในการประสานงานกับองค์กรพันธมิตรในการร่วมสนับสนุนโครงการในครั้งนี้

ภายในงานมีการนำเสนอโมเดลนโยบายเรื่อง “สถานการณ์ปัญหาการเข้าถึงห้องอาบน้ำและสุขาของคนไร้บ้าน” เพื่อเสนอปัญหาแก่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยผลักดันแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงห้องน้ำห้องสุขาแก่คนไร้บ้านด้วย

ชูมณี และ Otteri wash & dry

 

“สดชื่นสถาน”

อ่านแล้วสดชื่น

หวังว่าคนไร้บ้าน คนด้อยโอกาส

รวมถึงคนไทยทั่วไป

จะมี “สดชื่นสถาน” ในรูปแบบอื่นๆ มากขึ้น •