ฐากูร บุนปาน : พวกปิดเมืองขวางการเลือกตั้งเขายังไม่อาย

ใครที่ยังไม่เชื่อว่าเสียงปี่กลองของเวทีเลือกตั้งดังขึ้นแล้ว

ขอความกรุณาเปลี่ยนใจด้วยเถอะครับ

ท่านขยับออกตัวแรงเสียขนาดนี้จะให้แปลว่าอย่างไร

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาหมาดๆ คณะรัฐมนตรีเพิ่งจะมีมติแต่งตั้งคุณสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล-อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

และคุณอิทธิพล คุณปลื้ม น้องชายคุณสนธยา เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ใครที่ยังไม่เชื่อว่านี่คือรายการ “ปักธง” พื้นที่ชลบุรีและภาคตะวันออก อาจจะต้องไปพบแพทย์ (ฮา)

เหมือนกับที่ก่อนสงกรานต์ มีรายการ “คุณขอมา” ส่งคุณสกลธี ภัททิยกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนฯ พรรคประชาธิปัตย์ และหนึ่งในแกนนำ กปปส. เข้าไปเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

หลังจากที่คุณสกลธีและคุณณัฎฐพล ทีปสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนฯ พรรคประชาธิปัตย์อีกราย เพิ่งเข้าทำเนียบรัฐบาลไปพบกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

ใครที่ยังไม่เชื่อว่านี่คือรายการเตรียมตัวเลือกตั้งสำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ก็ควรจะต้องไปพบแพทย์เช่นกัน (ฮา-ฮา)

แต่ถามว่านี่เป็นเรื่องผิดคิดร้ายอะไรหรือไม่

คำตอบเบื้องต้นง่ายๆ ก็คือ-ไม่

อย่างน้อยที่สุด การตัดสินใจว่าจะต้องเลือกเส้นทางประชาธิปไตย เลือกเส้นทางของการเลือกตั้ง เลือกที่จะให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

ก็ดีกว่าการเลือกเดินบนเส้นทางของเผ็ดการ ของการยึดอำนาจ ของการใช้กระบอกปืนหรืออำนาจเข้าบังคับแน่นอน

ส่วนข้อครหาที่ว่า มีอำนาจและงบประมาณแล้วจะใช้สองอย่างนี้เอาเปรียบคู่แข่ง

อันนั้นก็คิดได้ แต่ผลที่ออกมาไม่แน่ว่าจะเป็นตามอย่างที่ตั้งใจเสมอไป

มีตัวอย่างให้เห็นมาหลายครั้งแล้วในอดีตว่าคนที่เป็นรัฐบาลอยู่ กุมทั้งเงินและอำนาจ บางรัฐบาลถึงขนาดขีดแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่

ที่สุดแล้วก็ยังแพ้ได้

ของแบบนี้มันไม่แน่หรอกครับท่านสารวัตร

ก็เมื่อยกอำนาจให้ประชาชนตัดสินแล้ว ผลจะออกมาอย่างไรก็อยู่ที่การตัดสินใจของประชาชน

สำคัญว่าเข้าไปอยู่ในหัวใจเขาได้จริงหรือยัง

และอย่างที่เคยย้ำหลายครั้งแล้วละครับว่า

นี่คือการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้อิทธิพลของโซเชียลมีเดีย

ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าและภูมิศาสตร์ทางการเมืองไปไม่มากก็น้อย

ป้ายหาเสียงยังจำเป็นหรือไม่ การปราศรัยใหญ่ยังเป็นเครื่องมือดึงดูดใจผู้มีสิทธิ์ออกเสียงหรือเปล่า

จะจำกัดหรือควบคุมการหาคะแนนของคู่แข่งได้หรือไม่

ในเมื่อช่องทางการสื่อสารบนโลกดิจิตอลนั้นเปิดกว้าง และ “เข้าถึง” ผู้รับสารได้โดยตรง (ถ้าคนดำเนินการมีประสิทธิภาพพอ)

จะป่าวประกาศนัดหมายอะไร ก็มีแฟนคลับเข้าไปเฮตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น

เผลอๆ ก็หลักแสน

ที่จะต้องพิสูจน์ทราบกันนั้นอยู่ที่ว่า การเป็น “เน็ต ไอดอล” บนโลกโชเซียลทางการเมืองนั้น

จะผันแปรออกมาเป็นคะแนนเสียงได้มากน้อยเท่าไหร่

การส่งสัญญาณกันให้เห็นชัดเจนว่า ฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่ในปัจจุบันพร้อมที่จะเดินสู่การเลือกตั้งแล้ว

น่ายินดีแน่นอน

เพราะเป็นเครื่องผูกมัดตัวเองว่า ถ้ายื้อหรือทำให้การเลือกตั้งยืดเยื้อออกไป

ฝ่ายที่จะต้องรับแรงกดดัน (ด้วยข้อหาว่าอยากจะยึดอำนาจต่อไปโดยไม่ฟังเสียงชาวบ้านบ้าง หรือกลัวแพ้บ้าง) ก็คือด้านของผู้มีอำนาจนั้นเอง

จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องต่อต้านหรือประณามกัน (ก็ในเมื่อยังไม่รู้เลยว่า วิธีการแบบนี้จะช่วยให้ชนะเลือกตั้งได้จริงหรือไม่)

และที่จริงแล้ว น่าจะต้องสนับสนุนให้ “เปิดหน้า” กันให้ออกมามากกว่านี้ด้วยซ้ำไป

จะได้รู้ว่าไผเป็นไผ ใครมีจุดยืนอย่างไร

ไม่ต้องอายหรอกครับ

อย่างน้อยก็ได้ชื่อว่าเปิดตัวมาเพื่อทำให้เกิดการเลือกตั้ง

ก็พวกที่เขาปิดเมืองขัดขวางการเลือกตั้งเขายังไม่อาย

แค่นี้น่ะไม่เท่าไหร่หรอกครับ

หึหึ