ฐากูร บุนปาน : ถ้าท่านผู้มีอำนาจอ่านแล้วไม่พอใจ อย่ามาโทษแถวนี้

อันที่จริงก็ว่าจะวางอุเบกขา (ขอใช้ศัพท์ศาสนาเสียหน่อย เห็นเขากำลังฮิตเรื่องบรรลุธรรมกันอยู่-อิอิ)

แต่ว่าพอโทรโข่งปากแตรออกมาโยนระเบิด (อารมณ์) ด้วยการตั้งคำถามว่า

แค่เลื่อนเลือกตั้งไป 90 วัน จะอะไรนักหนา

เท่านั้นละครับ

ต่อมปรี๊ดทำงานเลย

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้มีอำนาจคนไหนอ่านข้อเขียนชิ้นนี้แล้วไม่พอใจ

โน่นครับ อย่ามาโทษแถวนี้

ให้ไปลงที่โทรโข่งปากแตรนั่น

ข้อหาดาวยั่ว

ยั่วโมโหคนส่วนใหญ่

อันเนื่องจากโทรโข่งปากแตรเลยทำให้ต้องหยิบ “ไทยนิยม” ขึ้นมา

เพราะมีอยู่สองประเด็นด้วยกันที่ไม่เข้าใจ

ประการแรก ตกลงว่าไทยนิยมนี่มันคืออะไร

ต้องกราบขออภัยจริงๆ ที่ตั้งใจดู-ฟัง-อ่านที่ท่านนายกรัฐมนตรีอธิบายหลายรอบแล้ว

สมองซึ่งทำหน้าที่ได้แค่คั่นหูให้ห่างกัน

ก็ยังดันไม่เข้าใจ

เอาละ รู้อยู่นิดหน่อยว่าไทยนิยมไม่ใช่ประชานิยม

ดีกว่าด้วย (ท่านว่างั้น)

และไทยนิยม ประชารัฐ ยั่งยืน – เกี่ยวโยงเป็นเรื่องเดียวกัน

แล้วไงต่อ

ท่านอธิบายให้ชัดเจนแจ่มแจ้งกว่านี้ได้ไหม

ใช่หรือไม่ว่า ไทยนิยมคือดูแลเอาใจใส่ทุกคนอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะพ้นความจน จนกว่าจะมีความสุขพอสมควรตามอัตภาพ

สามารถเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนอื่นๆ ประเทศอื่นๆ ในโลกอย่างไม่อายเขา

อย่างนั้นไหม

ถ้าใช่

ทำไมต้องประดิดประดอยคำให้เก๋ไก๋ ให้มันยุ่งยากเข้าไว้

ให้ตีความไปได้ต่างๆ นานา

นโยบาย แนวทาง การทำงานของรัฐบาล (ไม่ว่าที่นี่หรือที่ไหน ไม่ว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหน) ไม่มีทางสำเร็จ

ถ้าไม่สามารถอธิบายให้คนเข้าใจง่ายๆ ได้

ไอนส์ไตน์บอกว่า (ความจริงพูดเองก็ได้ แต่อ้างตาแก่หัวฟูขลังกว่า-อิอิ)

ถ้าคุณอธิบายเรื่องอะไรง่ายๆ ไม่ได้

ก็แปลว่าคุณไม่รู้เรื่องนั้นจริง

ประการต่อมา ที่ประกาศครึกโครมตั้งกรรมการไทยนิยมแบบเต็มพื้นที่ (คุ้นๆ น่ะ คล้ายๆ ศัพท์ของหมอประเวศยังไงชอบกล-อิอิ อีกที)

โดยเกณฑ์กระทรวง ทบวง กรม แทบทั้งหมดมาเข้าร่วมขบวน

ดูเผินๆ ก็เหมือนขึงขัง เอาจริงเอาจังดี

แต่ถามง่ายๆ ว่า

แล้วระบบราชการมีไว้ทำไม

ระบบราชการทั้งหมดห่วยแตกไม่ได้เรื่องเลยใช่ไหม

ถึงต้องตั้งกรรมการขนาดใหญ่มาครอบคลุมเต็มพื้นที่

และถ้าระบบราชการห่วยปานนั้น

กรรมการที่ตั้งมาใหม่ที่ประกอบด้วยราชการแทบทั้งสิ้นจะดีกว่าเดิมสักกี่น้ำ

และถามจริงๆ ด้วยเถอะว่า ทั้งคนตั้งคนถูกตั้งเอง

1. เข้าใจไทยนิยมตรงกันไหม

2. เชื่อมั่นไทยนิยมจริงหรือไม่

ถ้าคำตอบสองข้อนี้คือ

ไม่

ก็พอจะเห็นอนาคตของไทยนิยมอยู่รำไร

และไหนๆ ก็ไหนๆ เขียนมาถึงตรงนี้แล้ว

ขอแถมอีกเรื่องหนึ่งเลยก็แล้วกัน

กรณีกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ กอ.รมน. ทำโน่นทำนี่ได้สารพัด

และเต็มพื้นที่ (อีกแล้ว ติดศัพท์คำนี้จริงๆ 555)

ในข้ออ้างของความมั่นคง

ซึ่งต้องถามว่าความมั่นคงของใคร

ถ้าของประเทศ ต้องให้เจ้าของประเทศตัวจริง ซึ่งก็คือชาวบ้านทั้งหลายมีสิทธิ์ออกเสียง แสดงความคิดเห็น และตัดสินใจด้วย

ถ้าเป็นแค่ความมั่นคงของรัฐ

โดยเฉพาะอย่างรัฐทหารอย่างในปัจจุบัน

ภารกิจของ กอ.รมน. ในพื้นที่ต่างๆ ก็จะแหลมเกินงานความมั่นคง

กลายเป็นการเมือง

เหมือนอย่างที่ปรากฏแล้วในหลายพื้นที่

แล้วไง

อ้าว-ทำการเมืองก็ต้องมีทั้งคนชอบคนไม่ชอบ คนเห็นด้วยไม่เห็นด้วย สิครับ

เจอคนชอบก็แล้วไป

เจอคนไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย

ก็เท่ากับดึงสถาบันกองทัพลงมาเล่นการเมือง

ยึดฝั่งยึดฝ่ายชัดเจน

มีฝ่ายตรงข้าม มีคู่แข่งขัน

และเผลอๆ ก็จะเป็นศัตรูกัน

สถาบันกองทัพกลายเป็นศัตรูกับประชาชนทั่วไป

มันจะเกิดอะไรขึ้นตามมา

แค่คิดก็น่ากลัวแล้ว

ถามว่ารัฐบาลนี้จะทบทวนไหม

ถ้าไม่ทบทวน เพราะไม่อยากกลืนน้ำลายที่ถ่มออกมาเอง

รัฐบาลจากการเลือกตั้งจะทบทวนไหม

ใกล้ๆ เลือกตั้งเมื่อไหร่

เวลามีการทวงการบ้าน

จะเพิ่มข้อนี้เข้าไปด้วยแน่ๆ ครับ