‘อาจารย์นิธิ’ | ปราปต์ บุนปาน

ขอร่วมไว้อาลัย “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ปัญญาชนสาธารณะคนสำคัญของสังคมไทย และอดีตคอลัมนิสต์ของมติชนสุดสัปดาห์ ผ่านการประมวลประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมมีกับงานเขียนของอาจารย์นิธิในแต่ละห้วงเวลา

ดังต่อไปนี้

 

“ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5”

แม้จะตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ตอนผมเรียนชั้นประถมศึกษา แต่ผมเพิ่งได้มาอ่าน “ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5” ในช่วงวัยรุ่นสมัยเรียนมัธยมปลาย

ขอสารภาพว่าครั้งแรกๆ ที่อ่าน ผมยังไม่รู้เรื่องกับสิ่งที่อาจารย์นิธิต้องการนำเสนอมากนัก

อย่างไรก็ดี ผมเลือกหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านด้วยความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับบรรยากาศในโรงเรียนมัธยมของตนเอง

ณ เวลาดังกล่าว ผมไม่ได้มีปัญหากับครู แบบเรียน หลักสูตรการศึกษา หรือเพื่อนๆ แต่ตัวเองกำลังเริ่มตั้งคำถามอยู่ลึกๆ เงียบๆ กับ “อภิมหาเรื่องเล่า” ว่าด้วยประวัติศาสตร์ ตำนาน อัตลักษณ์ จิตวิญญาณของโรงเรียนชายล้วนเก่าแก่แห่งนั้น

งานของอาจารย์นิธิ (ที่ผมอ่านแบบไม่เข้าใจกระจ่างแจ้ง) ช่วยทำให้ “เครื่องหมายคำถาม” ซึ่งเริ่มก่อตัวอย่างเลือนๆ รางๆ ในหัวผม มันค่อยๆ ขยายใหญ่และลงหลักปักฐานหนักแน่นขึ้น ทั้งยังช่วยยืนยันว่า คำถามในจิตใจอันว้าวุ่นของผมนั้นพอจะมีเหตุมีผลอยู่บ้าง

แม้จะมิได้กระตุ้นให้ผมมีพฤติกรรมหรือแนวคิดเป็น “ขบถ” ผู้ต่อต้าน “ระบบ” ที่ครอบงำตนเองอยู่ อย่างชัดเจน-เปิดหน้าชน

 

“ประวัติศาสตร์” แบบ “วงขดลวด”

ย้อนไปเมื่อหลายทศวรรษก่อน ถ้าถามผมในสมัยเรียนมัธยมจนถึงช่วงที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว ว่า “ประวัติศาสตร์” คืออะไร?

ผมก็จะตอบว่า “ประวัติศาสตร์” คือ เรื่องราวในอดีต ไม่ว่าจะเป็นตำนานมหาบุรุษ เรื่องที่ถูกหลงลืมของคนเล็กคนน้อย หรือปริศนาเร้นลับที่รอวันถูกเปิดเผย

เมื่อเรียนระดับอุดมศึกษาไปสักพัก ผมจึงค่อยๆ ตระหนักว่าหนึ่งในสาระสำคัญของ “ประวัติศาสตร์” คือ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่อุบัติขึ้น ณ รอยต่อต่างๆ ระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

“ความเปลี่ยนแปลง” ที่อาจปรากฏขึ้นทั้งในรูปของพัฒนาการ ความเชื่อมโยง หรือความขัดแย้ง

ยิ่งกว่านั้น แนวคิดเรื่อง “เวลา” ในประวัติศาสตร์ ก็ยังมีมากกว่าหนึ่งรูปแบบ

การเดินทางของ “เวลาในประวัติศาสตร์” อาจไม่ได้เป็น “เส้นตรงวิวัฒนาการ” จากล้าหลังสู่ก้าวหน้าเท่านั้น แต่สำหรับหลายๆ สังคม (โดยเฉพาะสังคมไทย) “เวลา” มักเดินทางเป็นวงกลม ซึ่งทุกอย่างจะวิ่งวนมาสู่จุดเดิมเสมอ

อย่างไรก็ตาม ตำราวิชาการเล่มหนึ่งของอาจารย์นิธิ คือ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตก” ที่ผมเคยอ่านตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 ได้แนะนำให้ผมทำความรู้จักกับแนวคิดของ “จิออมบาติสตา วิโก (Giambattista Vico)” ที่เสนอว่า “วิถีประวัติศาสตร์” นั้นหมุนเป็น “วงขดลวด”

กล่าวคือ แม้เวลาจะหมุนเป็นวง แต่มันก็ไม่ได้วนมาสู่จุดเดิมหรือหมุนทับรอยเดิมเสียทีเดียว

นี่เป็นคำอธิบายเรื่อง “เวลา” ที่ทรงพลังมาก และเป็นเครื่องมือปลอบประโลมจิตใจ/ชุบชูกำลังใจของผม เมื่อต้องผ่านเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 รัฐประหาร 2557 ตลอดจนการยุบพรรคการเมืองและการฉ้อฉลบิดเบือนเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน ที่อุบัติขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงสองทศวรรษหลัง

(ผมเข้าใจเอาเองว่ากระทั่งวรรคทอง/นิทานเปรียบเทียบอันคมคายเรื่อง “เข็มนาฬิกา” ของอาจารย์นิธิ ก็ดูจะวางฐานอยู่บนแนวคิดเรื่อง “เวลาหมุนเป็นวงขดลวด” เช่นนี้)

 

“รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย”

งานเขียนของอาจารย์นิธิที่ถือกำเนิดขึ้นในบริบททางการเมืองหลังรัฐประหารปี 2534 และถือเป็น “ทฤษฎีทางการเมืองแบบไทยๆ” ที่คลาสสิกพอๆ กับ “สองนคราประชาธิปไตย” ที่ถูกเขียนขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

เมื่อได้อ่านงานชิ้นนี้หนแรกๆ ในยุคสมัยที่สังคมไทยดูเหมือนจะ “ค่อนข้างลงตัว” กับ “รัฐธรรมนูญ 2540” ข้อเสนอของอาจารย์นิธิเตือนเราว่า ยังมี “อำนาจ” และ “อิทธิพล” อีกหลายแบบ ที่ดำรงอยู่นอกเหนือ “รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษร”

สอดรับกับบรรยากาศที่การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยยุคนั้น เริ่มให้ความสนใจกับ “รัฐศาสตร์กระแสรอง-การเมืองทวนกระแส-การเมืองนอกสถาบันการเมือง”

เมื่อการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในทศวรรษ 2550 อาจารย์นิธิก็อัพเดตข้อเสนอของตนผ่านบทความสั้นๆ ชื่อ “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย 2557”

มาถึงปัจจุบัน สถานการณ์ยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีก เพราะขณะที่ “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” ได้เปลี่ยนแปลงไปมหาศาลเกินการอัพเดตของอาจารย์นิธิ “รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรปี 2560” ที่สร้างปัญหา “เดดล็อก” ทางการเมืองและสังคมมากมาย ก็ได้รับการปกป้องอย่างแน่นหนา จนแก้ไขสาระสำคัญหรือยกร่างใหม่ได้ยากลำบาก

เราอาจนิยามว่านี่คือ “วิกฤตรัฐธรรมนูญ” เพราะด้านหนึ่ง เครื่องมือทางสังคมที่พวกเรามีอยู่ ก็รับมือกับความเปลี่ยนแปลงของ “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมทศวรรษ 2560” ไม่ไหว

ในความท้าทายแบบนี้ แทนที่ “รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษร” จะเข้ามาช่วยประคับประคองสถานการณ์ มันกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเสียเอง เพราะความที่ไม่ยืดหยุ่นมากพอ ทั้งยังเป็นเหมือน “ปราการด่านสุดท้าย” ที่ต่อต้านขัดฝืนสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างแข็งขัน

 

“อาญาสิทธิ์”

“อาญาสิทธิ์” คือคำหรือแนวคิดที่ปรากฏบ่อยๆ ในบทความหรือบทสัมภาษณ์ยุคหลังของอาจารย์นิธิ

“อาญาสิทธิ์” (authority) คืออำนาจที่ทำงานผ่านระบบกฎหมาย ขนบประเพณี และวัฒนธรรม นี่จึงไม่ได้เป็น “อำนาจทางการเมืองแบบเพียวๆ” แต่ผสมผสานกับ “อำนาจทางวัฒนธรรม” อย่างแยกไม่ออก

ข้อเสนอในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาของอาจารย์นิธิ ก็คือ “อาญาสิทธิ์” ดั้งเดิมต่างๆ ที่เคย “เวิร์ก” นั้นพากันเสื่อมสลายทรุดโทรมลงพร้อมๆ กันในสังคมไทยร่วมสมัย

นี่ไม่ใช่แค่การเสื่อมถอยของ “อำนาจนำทางวัฒนธรรม” ดังที่ชอบอธิบายกัน แต่ที่สูญหายไปด้วย คือ “ความชอบธรรมทางการเมือง” อันนำไปสู่แรงต่อต้าน การไม่ยอมรับ-ไม่ศรัทธาของผู้คนจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ การท้าทาย “อาญาสิทธิ์” หลายเรื่อง ในพื้นที่ทางสังคม-วัฒนธรรมหลายแห่ง จึงไม่ได้เป็นแค่การต่อต้านทางวัฒนธรรมแบบนุ่มนวลแนบเนียน หากยังเป็นการยกระดับการต่อสู้ทางการเมืองอย่างแข็งกร้าวของผู้คนฝ่ายหนึ่ง และการถอยร่นทางการเมืองของอีกฝ่าย

“อาญาสิทธิ์” จะไม่มีทาง “สัมบูรณ์” ได้เลย ท่ามกลางสถานการณ์สูญเสีย-ถอยร่นในลักษณะนี้ •