ฐากูร บุนปาน : อานันท์ ปันยารชุน

เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” เขาจัดสัมมนาในหัวข้อ “ธุรกิจเพื่อสังคมบริบทใหม่ สร้างไทยยั่งยืน”

ได้รับเกียรติจากผู้นำองค์กรธุรกิจหลายท่านมาเป็นผู้นำการเสวนาทั้งในภาคเช้าและบ่าย

กราบขอบพระคุณ คุณกฤษฎา มณเฑียรวิเชียรฉาย จากมิตรผล คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส จากเอสซีจี ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล จากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ จากทรู คุณฐาปนะ สิริวัฒนภักดี จากเครือไทยเบฟ คุณวิเชียร พงศธร จากเครือพรีเมียร์

และ คุณวาสนา ลาทูรัส เจ้าของแบรนด์นารายา

เอาไว้ที่นี้อีกครั้ง

และท่านที่ให้เกียรติมาเป็นองค์ปาฐกก็คือ ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี

ซึ่งทักทายเมื่อเจอหน้าก่อนขึ้นเวทีด้วยเสียงหัวเราะกระเซ้าว่า

ปกติไม่รับงานพูดเช้าที่ไหน

แต่หนนี้เกรงใจและทนคำขอของ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานมูลนิธิปิดทองหลังพระ ไม่ได้-เลยต้องมา

ปรากฏว่าตัวตั้งตัวตีชักชวน เดินทางต่างจังหวัดมากไปหน่อย โรคาพยาธิถามหา ต้องเข้าไปนอนซ่อมสุขภาพในโรงพยาบาลมาร่วมงานด้วยไม่ได้

แต่ผู้รับเชิญก็ยัง “จัดเต็ม” ตามแบบฉบับ

จากที่พูดทีเล่นทีจริงว่ามาพูดเปิดงานแค่ 5 นาที

กลายเป็นปาฐกถาตรึงคนฟังเอาไว้เกือบครึ่งชั่วโมง

รายละเอียดของการบรรยายวันนั้น “มติชน-ข่าวสด-ประชาชาติธุรกิจ” เขาถ่ายทอดแบบครบถ้วนไปแล้วหนึ่งเวอร์ชั่น

ขออนุญาตตัดตอนบางส่วนจากที่จดเป็นหัวข้อไว้ระหว่างนั่งฟังมาสรุปอีกหน

อดีตนายกรัฐมนตรีเปิดฉากด้วยการฉายภาพกว้างของโลกที่เหลื่อมล้ำ

ตัวอย่างตั้งแต่ร้อยละ 1 ของคนอเมริกันที่ครอบครองทรัพย์สินร้อยละ 90 ของประเทศ

ย้อนกลับมาประเทศไทยที่รายได้ของคนชั้นบนร้อยละ 20 มากกว่าคนชั้นล่างร้อยละ 20 อยู่ถึง 11 เท่า

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งในจีน อินเดีย และประเทศอื่นๆ ที่เริ่มมั่งมีขึ้นมาด้วย

คำถามก็คือสภาพความเหลื่อมล้ำเช่นนี้เป็นธรรมหรือไม่ และจะก่อปัญหาไหม

จะนำไปสู่ความเบื่อหน่ายและการดูถูกกันหรือไม่

เบื่อเมือง เบื่อการเมือง เบื่อระบบ ดูถูกคนด้วยกัน ดูถูกการเมืองหรือไม่

จากเดิมที่จิตสำนึกคนไทยคือการ “พึ่งพา”

มาถึงวันนี้ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้เกิดผู้ลุกขึ้นทวงสิทธิอันพึงมีพึงได้มากขึ้น

ขอมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบชีวิตตัวเองมากขึ้น

ผู้บริหารประเทศต้อง “จัดการ” ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

แต่ก่อนจะจัดการอะไร ต้องหา “ความจริง” เป็นพื้นฐานให้ได้ก่อน

อย่าให้ซ้ำรอยความล้มเหลวบางอย่างที่เห็นอยู่ต่อหน้า เช่น ระบบการศึกษา ที่เมื่อครูรู้น้อย เลยใช้วิธีบังคับมากกว่าการทำความเข้าใจร่วมกัน

อย่าด่วนสรุป

ต้องพยายามที่จะเข้าใจกันให้มากขึ้น

เคารพกันให้มากขึ้น

ข้างต้นนี้ไม่ใช่เฉพาะภาครัฐ แต่รวมไปถึงภาคธุรกิจด้วย

ที่จะคิดถึงแต่กำไรของตัวเองอย่างเดียวอีกไม่ได้

แต่ต้องพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของคน ของสิ่งแวดล้อม ของความยุติธรรม

และกระบวนการนี้มิใช่การเอาชนะคะคานกันของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องอาศัยการเจรจา การประนีประนอม การไม่ใช้ความรุนแรง

วันหนึ่งเมื่อเป็นประชาธิปไตยจริง

รัฐบาลต้องเล็กลง อำนาจส่วนกลางต้องเล็กลง

ประชาสังคมและท้องถิ่นต้องใหญ่ขึ้น

ต้องสร้างให้เกิดเป็นคลื่นความคิดใหม่ ให้แผ่กระจายออกไปได้จริง

ถึงมีโอกาสจะได้เห็นความสงบและความเจริญในอนาคต

ถือโอกาสแสดงความขอบพระคุณท่านองค์ปาฐก

ด้วยการมีส่วนร่วมเผยแพร่ “คลื่นความคิด” นี้ให้กระจายออกไปมากขึ้น

ถึงแค่เล็กน้อยตามกำลังก็ยังดี

เพราะจะด้วยปัจจัยที่ท่านว่ามาข้างบน หรือปัจจัยอื่นๆ ที่สุมรุมบีบรัดเข้ามาทุกวันยามนี้

ถ้ายังอยู่ในสุ่มในกรงในกรอบเก่า

แหวกออกไปไม่ได้ หาทางเลือกใหม่ไม่เจอ

ชีวิตน่าหวาดเสียวนะครับ