ตัด ‘ประยุทธ์’ เด็ด ‘ก้าวไกล’? | ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ตัด ‘ประยุทธ์’ เด็ด ‘ก้าวไกล’?

 

การเมืองไทยที่นับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า คล้ายกำลังจะคลี่คลายตัวไปสู่การแข่งขันหรือการพยายามแบ่งมิตรแยกศัตรูในรูปแบบใหม่ๆ ที่แตกต่างจากสภาพการณ์ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา

เป็นแนวโน้มของการเลือกตัดขั้วปลายริมสุดทั้งสองด้านทิ้ง แล้วคงเหลือไว้เพียงพื้นที่ปลอดภัยตรงส่วนกลาง

ด้านหนึ่ง คือ การหยั่งเชิงด้วยข้อเสนอในการตัดขาดหรือผลักไส “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ออกจากสนามการเมือง

พร้อมเงื่อนไขทำนองว่า พรรคฝ่ายค้านในปัจจุบันส่วนใหญ่อาจพร้อมจะทำงานร่วมกับพรรคพลังประชารัฐที่นำโดย “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” และปราศจาก พล.อ.ประยุทธ์ได้

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็ได้เห็นข้อเสนอที่จะตัดขาด-ผลักไส “พรรคก้าวไกล” ออกจากสมการทางการเมือง

ผ่านการโยนหินถามทางของพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนหนึ่ง ซึ่งดูจะไม่มีปัญหาต่อการพลิกขั้วไปจับมือกับพรรคการเมืองใหญ่อย่าง “เพื่อไทย”

แต่ทุกพรรคต่างปฏิเสธอย่างเด็ดขาดพร้อมเพรียงกันว่า ไม่พร้อมจะร่วมมือกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งหมายถึง “พรรคก้าวไกล”

ท่ามกลางการคลี่คลายตัวทางการเมืองเช่นนี้ พรรคเพื่อไทยหรือ พล.อ.ประวิตร จึงไม่ใช่ “ปัญหาใหญ่” ของสังคมการเมืองไทย

ทว่า นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งอยู่ปลายสุดของขั้วหนึ่ง กับพรรคการเมืองรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์-แนวคิดของตนเองชัดเจน ตรงปลายสุดของอีกขั้วหนึ่งต่างหาก ที่ถูกประเมินว่าเป็นเสมือน “เนื้อร้าย” ซึ่งจำเป็นต้องขจัดทิ้ง

บางฝ่ายคงคาดการณ์ว่า การตัด พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคก้าวไกล ออกจากโจทย์การเมืองร่วมสมัย ย่อมนำไปสู่สภาพการณ์ทางการเมืองแบบใหม่ หรือความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ผิดแผกจากสภาวะความขัดแย้งอันก่อตัวขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน

เป็นการเมืองในเฉดกลางๆ ที่อาจจะเป็นการประนีประนอม-ปรับประสานต่อรองกันครั้งใหม่ และเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง-นักการเมืองที่เหลือสามารถจับมือร่วมงานกันได้

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า นี่คือความเป็นไปได้ที่จะพาสังคมการเมืองไทยย้อนกลับไปก่อนการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ในปี 2561 และก่อนการขึ้นครองอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารในปี 2557

ด้วยฉันทามติที่พอจะเกิดขึ้นได้ในหมู่ “นักการเมือง-พรรคการเมืองแท้ๆ” ที่เข้าใจแก่นแท้และตระหนักถึงข้อจำกัดของการเมืองไทยเป็นอย่างดี

สมมุติฐานข้างต้นจะเป็นเรื่องถูกต้องและไม่พบปัญหาใดๆ เลย ถ้าประชาชนและสังคมไทยยังเป็นเหมือนเดิม อย่างน้อยที่สุดก็เหมือนกับเมื่อช่วงกลางทศวรรษ 2550

คำถามก็คือ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนและสังคมไทยไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยหรือ?

หรือจริงๆ แล้ว ความขัดแย้งทางการเมืองที่ฝังรากลึกและขยายตัวยิ่งขึ้นตามลำดับ จะกลายเป็นแรงผลักดันกระตุ้นเร้าให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องการอะไรที่มีความชัดเจนสุดขั้วยิ่งขึ้น

เหมือนที่ทุกคนสามารถคาดเดาได้ว่า ถึงแม้พรรคก้าวไกลอาจได้ ส.ส. ในสนามเลือกตั้งปี 2566 ไม่มากเท่าพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2562 แต่พวกเขาก็น่าจะยังได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนที่มากพอตัว และยังไม่ได้ลดสเกลลงจนกลายเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก

เช่นเดียวกับที่ยังมีประชาชนอีกไม่น้อยจริงๆ ที่พร้อมจะกากบาทเลือกพรรคการเมือง ซึ่งชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ (โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งแค่ครึ่งเทอม) ไม่ว่าผู้สันทัดกรณีหลายฝ่ายหรือโพลเกือบทุกสำนักจะประเมินว่า นายกฯ มีคะแนนนิยมที่ตกต่ำลงขนาดไหนก็ตาม (แต่ก็ยังสูงกว่าตัวเลือกคนอื่นๆ ในฟากอนุรักษนิยม-ฝ่ายขวา)

สถานภาพ-ตำแหน่งแห่งที่ของทั้งพรรคก้าวไกลและ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นผลลัพธ์ซึ่งค่อยๆ สั่งสมขึ้นมาจากความเปลี่ยนแปลงในสังคมการเมืองไทย และไม่น่าจะถูกตัดหรือเด็ดทิ้งไปได้โดยง่ายดาย

เหมือนที่คนบางส่วนคาดหวังและจินตนาการ •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน