ฐากูร บุนปาน : กระทรวงศึกษาธิการไม่ใช่สิ่งจำเป็นในอนาคต ?

นั่งคุยกับคนทำจริง คนมีปัญญา เวลาคุยเสร็จจะรู้สึกได้ทันทีว่ารอยหยักในสมองจะเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย

รำพึงขึ้นมาเพราะเพิ่งไปนั่งกินข้าวคุยกับ คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการของเครือซิเมนต์ไทยมา

ยกเรื่องเศรษฐกิจเอาไว้ไม่ต้องพูด เพราะเดี๋ยวกระเทือนใจบางท่านบางคน (ฮา)

ไปเน้นในเรื่องที่ 2-3 ปีหลัง ปูนซิเมนต์ไทยเขากระโดดเข้าไปทำเต็มตัว

คือเรื่องการศึกษา

ไม่ใช่เรื่องการศึกษาแบบกว้างๆ จับต้องไม่ได้

เขาเน้นไปที่เรื่องอาชีวศึกษาโดยเฉพาะ

ประการแรก เพราะประเทศนี้หาความสมดุลไม่ได้

ในขณะที่ประเทศซึ่งเจริญแล้วทางเศรษฐกิจและมาตรฐานชีวิต โดยเฉพาะในยุโรป อัตราส่วนของผู้เรียนต่อในสายวิชาชีพ-สายช่างคือประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ที่เข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมปลาย-อุดมศึกษา

ตัวเลขผู้เข้าเรียนสายอาชีพในประเทศไทยคือประมาณ 1 ใน 3 ของนักเรียนทั้งหมด

เป็นเหตุให้เกิดปัญหาประการต่อมา คือคุณภาพ

ด้านหนึ่ง เป็นเพราะ “ตลาด-สังคม” ตีราคาวิชาชีพเอาไว้ต่ำกว่าสายสามัญ

ทั้งที่ความต้องการของตลาดไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ หรือเผลอๆ สายวิชาชีพจะมากกว่าด้วยซ้ำ

หรือถ้าจะประกอบอาชีพอิสระเลี้ยงตัว สายอาชีพก็ให้ทางเลือกได้มากกว่า

แต่ว่าทรัพยากร (โดยเฉพาะจากภาครัฐ) ส่วนใหญ่ทุ่มลงไปที่สายสามัญ

อัตราส่วนการอบรม “ครู” ที่จะเป็นเบ้าหลอมหรือเป็นผู้ช่วยชี้แนะให้นักเรียนนักศึกษา ระหว่างสายสามัญกับสายอาชีพนั้น

ต่างกันถึง 40 เท่า

ตรงนี้ถ้าตัวเลขเป๊ะๆ ผิดไปก็ขออภัย

แต่ที่แน่ๆ คือผิดกันมหาศาล

2-3 ปีที่ภาคเอกชนกระโดดเข้าไปรับภาระบางส่วนแทนรัฐนั้น

โรงเรียน-วิทยาลัยในสายอาชีพ 800 แห่งได้รับการสนับสนุน-ปรับปรุงไปแล้วประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด

แต่ยังไม่พอ

ยังมีงานต้องให้ทำกันอีกมาก

ประโยคต่อจากนี้ไป คุณรุ่งโรจน์ไม่ได้พูด แต่คนในวงสนทนาทะลุกลางปล้องขึ้นมา

ก่อนที่โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

องค์กรใหญ่โตเทอะทะ ก็งุ่มง่ามอืดอาดอยู่แล้ว

ในโลกยุคใหม่ องค์กรที่อุ้ยอ้ายเหมือนไดโนเสาร์อย่างกระทรวงศึกษาธิการ ยังจำเป็นต่อสังคมนี้อยู่อีกหรือไม่

ถ้ายังจำเป็น บทบาทที่ควรจะเป็นหรือทำให้เกิดประโยชน์คืออะไร-อย่างไร

เลิกจัดการศึกษาเองดีไหม ปล่อยให้สังคม-ตลาดเข้ามากำหนด

ทำตัวเป็นผู้สร้าง-วัดมาตรฐานการศึกษา

ทำหน้าที่ป้อนข้อมูลทั้งเชิงพื้นฐานและเชิงเปรียบเทียบให้ประชาชนดีหรือไม่

เหมือนอีกหลายๆ ส่วนราชการในประเทศนี้

อะไรที่คนอื่นทำแทนได้ ให้เขาทำ

หันมากำกับดูแลอย่างเดียวจะดีกว่าไหม

หรือไม่ชอบ

เพราะลดขนาดทั้งอำนาจและเงิน?

ตบท้ายด้วยงานขายของต้องมา

18-29 ตุลาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขาจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 22

สำนักพิมพ์มติชนจัดมาเต็มกระบวนศึกเช่นเคย

สำหรับท่านที่แสวงหาความรู้-ข้อมูลเกี่ยวกับงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ

ที่พลาดไม่ได้ก็คือ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” หนังสือที่รวบรวมรายละเอียดทั้งสองประการเอาไว้ครบถ้วน

ตามกันมาติดๆ คือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” ที่หุ้มปกปั๊มทองใหม่ ของ อาจารย์นันทพร อยู่มั่งมี

และ “งานพระเมรุ ศิลปสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่อง” จาก ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ

ส่วน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนตุลาคม ปกพิเศษเคร่งขรึม-งดงาม สอดรับกับเนื้อในอัดแน่น

มีหนังสืออย่าง “ชันสูตรประวัติศาสตร์ เมื่อคราวสวรรคต” ของ คุณหมอเอกชัย โควาวิสารัช ที่เอาวิทยาศาสตร์เข้าจับประวัติศาสตร์ชนิดกลมกลืน

ขณะที่หนังสืออื่นก็ชวนอ่าน

“ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” ฝีมือแปลจากต้นฉบับเต็มๆ ครั้งแรกของ อาจารย์วัลยา วิวัฒน์ศร

“หลังสิ้นบัลลังก์มังกร ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน” เส้าหย่ง-หวังไทเผิง เขียน กำพล ปิยะศิริกุล แปล

ขาดไม่ได้คือ “ศาสตร์แห่งโหร 2561” และอีกหลายเล่มตามรสนิยม

อ่านกันเยอะครับ อ่านให้สนุก

ถึงยุคดิจิตอลจะมา แต่ว่าความรู้ที่เป็นรากฐานก็สำคัญ

อ่านกันมากๆ แล้วอาจจะเห็นด้วยว่า

กระทรวงศึกษาธิการไม่ใช่ของจำเป็นสำหรับอนาคตก็ได้

หรือไง?