มีทุกอย่าง ยกเว้น ‘ศรัทธา’ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

มีทุกอย่าง ยกเว้น ‘ศรัทธา’

 

กล่าวได้เต็มปากว่า การพลิกท่าทีกลับมาหนุนวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยใช้สูตร “หาร 500” คือ กลยุทธ์ “หนีตายครั้งท้ายๆ” ของรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ และแผงอำนาจ 3 ป.

เพราะใครต่อใครต่างรับรู้ว่า หากประเมินคะแนนนิยมทางการเมือง ณ ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม. ครั้งล่าสุด หรืออาจรวมถึงผลนิด้าโพลเมื่อเดือนที่แล้วด้วยก็ได้

ขั้วอำนาจฝ่ายรัฐบาลก็ดูจะมีโอกาส “รอดยาก” ในระบบการเลือกตั้งที่มี ส.ส.เขต 400 คน และมี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ที่คิดคำนวณจากสูตร “หาร 100” แบบตรงไปตรงมา คล้ายรัฐธรรมนูญ 2540

ซึ่งเป็นระบบที่เพื่อไทยจะ “แลนด์สไลด์” หรือไม่ ก็ยังไม่รู้ แต่มีแนวโน้มสูงว่าชัยชนะจะตกเป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้านตอนนี้

ดังนั้น ฝ่ายที่มีวี่แววจะเสียเปรียบ จึงต้องกลับหลังหันไปผลักดันสูตร “หาร 500”

เพื่อให้สถานการณ์หวนไปคล้ายๆ การเลือกตั้งปี 2562

ผ่านกระบวนการ (แบบไร้หลักการ) ที่หลายคนมองว่าเป็น “การจับแพะชนแกะ” ไม่ใช่ระบบสัดส่วนผสม (MMP) เสียทีเดียว แถมไม่น่าจะต้องตรงกับเจตนารมณ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ด้วย

 

ด้านหนึ่ง เราสามารถมองโลกในแง่ร้ายหรือมองโลกอย่างสิ้นหวังได้ว่า ขั้วอำนาจฝ่ายรัฐบาล-พรรคพลังประชารัฐ-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เหมือนมี “กระเป๋าโดเรมอน” หรือ “เคล็ดวิชาก้นหีบ” จนสามารถหยิบฉวย “อาวุธลับ-ของวิเศษ” นู่นนี่มาใช้สอยเพื่อเอาตัวรอดได้ไม่รู้จบ

เริ่มจาก “ของตาย-ยาสามัญประจำบ้าน” อย่าง ส.ว. ไปจนถึง “มือเล็กมือน้อย” ในสภา ที่ได้รับการดูแลพิเศษเป็นระยะๆ

“อาวุธลับ-ของวิเศษ” เหล่านี้ นำไปสู่การดัดแปลง-ปรับเปลี่ยนกฎกติกาให้เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตนเองมากที่สุด เป็นการซื้อใจพรรคการเมืองขนาดเล็ก-ขนาดกลางได้ด้วย แถมยังสร้างปัญหาให้ฝ่ายตรงข้ามได้อีก

ก่อนจะมีกลไกรัฐส่วนอื่นๆ มาให้การรองรับมติดังกล่าวในอนาคต (ถ้าเกิดข้อโต้แย้งถกเถียง)

นี่จึงเป็นเหมือน “ต้นทุนทางการเมือง” ที่ใช้ได้ไม่มีหมดสิ้น

แต่อีกด้านหนึ่ง ก็เกิดคำถามว่า “ต้นทุนทางการเมือง” ของฝ่ายรัฐบาลนั้นมีอยู่เหลือเฟือจริงๆ หรือ?

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมผู้มีอำนาจจึงต้องควัก “กระเป๋าโดเรมอน” หรือควานหา “เคล็ดวิชาก้นหีบ” อยู่เรื่อยๆ?

การต้องแสวงหา “ตัวช่วยพิเศษ” หมายความว่า ในวิถีปกติธรรมดาทางการเมืองนั้น มันมีอะไรที่ระเหยหายไปจากมือของรัฐบาลอยู่ตลอดเวลาใช่หรือไม่?

ถ้าใช่ สิ่งที่ค่อยๆ สูญหายไปอย่างสม่ำเสมอคืออะไร?

หากให้คำตอบอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งนั้นก็คือคะแนนนิยม ดังได้บรรยายไปแล้วเบื้องต้น

หากให้คำตอบอย่างเป็นนามธรรม “ของมีค่า” ที่พร่องไปจากหีบสมบัติของรัฐบาลวันแล้ววันเล่า ก็คือ “ศรัทธาจากประชาชน”

 

แม้ว่าการเล่นกลทางกฎหมาย การใช้ประโยชน์จากกลไกบิดเบี้ยวในกรอบกติกาที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา และการใช้เสียงข้างมาก (รวมเสียงปัดเศษและเสียงที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) ลากไป อาจจะสามารถต่ออายุรัฐบาลออกไปได้ และทำให้ขั้วอำนาจปัจจุบันยังพอมีความหวังในการลงสนามเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

แต่การเอาตัวรอดแบบนั้น ถือเป็นคนละเรื่องกับการ “เรียกคืนศรัทธา” มาจากประชาชน

ในบริบทที่มี “ผู้นำทางการเมือง” บางราย สามารถสื่อสารกับสาธารณชนได้อย่างมีประสิทธิภาพว่าตนเอง “ทำงานเยอะ”

ในห้วงเวลาที่มี “คนหน้าใหม่-คนรุ่นใหม่” เริ่มแสดงตนว่าพวกเขาและเธอพร้อมจะอาสาเข้ามาบริหารประเทศ

ขณะที่ “ผู้ถือครองอำนาจหน้าเก่า” มัวหมกมุ่นสนใจอยู่กับโจทย์การเมืองที่ว่า ต้องทำอย่างไร พวกตนจึงจะสามารถ “ยื้ออำนาจ” เอาไว้ได้ยาวนานที่สุด

ยิ่งสถานการณ์ดำเนินไปในทำนองนี้ ศรัทธาที่มีต่อ “คนหวงอำนาจ” ก็จะยิ่งมลายสูญสลาย และแทบมองไม่เห็นหนทางในการ “สร้างศรัทธา” ขึ้นมาใหม่ •