ของดีมีอยู่ / ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘กระโดดถีบตัว’ จากรัฐบาล?

 

“จริงๆ พรรคร่วม (รัฐบาล)-นักการเมืองเนี่ย เขามีความสามารถพิเศษ คือเขามีเรดาร์ในการที่จะตรวจจับกระแสทางการเมืองของสังคม แล้วกระแสนี่จะสำคัญมาก เพราะว่ามันจะมีผลต่อการเลือกตั้งในอนาคต

“ทีนี้ ในการที่เขายังเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เขาอยู่ในอำนาจ ดังนั้น การอยู่ในอำนาจก็มีเหตุจูงใจให้ไม่อยากออกจากอำนาจหรอก

“แต่ว่าตัวเองก็อยู่ในอำนาจระดับหนึ่งแล้ว ประกอบกับสถานการณ์แบบนี้ ผมเข้าใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่เคยเผชิญหน้ากับวิกฤตศรัทธาในระดับนี้มาก่อนในตัวผู้นำ

“ผมคิดว่าโดยสามัญสำนึกของนักการเมือง ต้องประเมินความได้-เสีย แน่นอนตอนนี้อยู่ในรัฐบาลก็มีตำแหน่ง แต่ว่ามันมีราคานะครับ การอยู่ร่วมหรือเป็นนั่งร้านให้กับผู้นำประเทศที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเวลานี้ ไม่เหมือนกับตอนหลังการเลือกตั้งใหม่ๆ ผมบอกเลยว่าไม่เหมือน

“ดังนั้น นี่จะเป็นสิ่งที่เขาจะต้องพิจารณา แล้วดูคำทำนายผมนะ ตอนที่พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวเนี่ย เขาจะไม่ถอนตัวธรรมดา เขาจะถอนตัวแบบพิสดารเลย จะมีการตีลังกาโชว์เลยตอนถอนตัว แถมอาจจะมีการกระโดดถีบนิดหน่อย เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าเขานั้นไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานในภาวะวิกฤตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลย

“แล้วคุณดูจังหวะนั้นนะ จังหวะเขาถีบตัวออก เพื่ออะไร เพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีอนาคตทางการเมือง แม้ว่าตอนนี้จะมีอำนาจอยู่ แต่ว่าเป็นคนที่ไม่มีอนาคตทางการเมือง ไม่มีอนาคต ฟันธงเลย

“ดังนั้น ตอนออกเนี่ย เรียกว่าไม่ได้เดินออกมาครับ ถีบออกมาเลยครับ กระโดดถีบแล้วตัวเองก็กระเด็นออกมา ก็จะต้องโชว์จุดนั้น เพื่อจะเรียกศรัทธา”

 

ข้อความข้างต้นคือคำสัมภาษณ์ของ “สมบัติ บุญงามอนงค์” หรือ “บก.ลายจุด” ในรายการ The Politics ข่าวบ้านการเมือง ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564 หรือราวๆ 7 เดือนก่อน

ขณะที่ผู้พูดกำลังขับเคลื่อนขบวนการ “คาร์ม็อบ” ร่วมกับ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” อย่างแข็งขัน

ในบริบทดังกล่าว ทัศนะของสมบัติอาจดูเป็นการฟันธงทางการเมืองที่ “คลาดเคลื่อน” และ “รวดเร็ว” ก่อนกาลไปสักนิด

แต่พอมาย้อนฟังคำสัมภาษณ์เดิมซ้ำอีกครั้ง ณ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2565

คำทำนายของ บก.ลายจุด กลับคล้ายจะมีเค้าลางของ “ความแม่นยำ” ยิ่งกว่าคำพยากรณ์ของ “ซินแส” บางรายเสียอีก

 

ในห้วงเวลาที่พรรคพลังประชารัฐกำลังประสบภาวะ “แพแตก” และแพ้ศึกเลือกตั้งซ่อมสามสนามรวด

ส่วนพรรคเศรษฐกิจไทยของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ก็เริ่มปรากฏตัวตนและดำรงอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรอย่าง “เป็นตัวของตัวเอง”

ขณะที่แผงอำนาจ “3 ป.” เหมือนจะร้าวฉานหนักและไม่ได้ผนึกแน่นเป็นปึกแผ่นดังเดิม

เช่นเดียวกับสถานภาพ “ผู้นำประเทศ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเสื่อมทรุดลงตามลำดับ (จนต้องไปฟาดงวงฟาดงาใส่ “โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” อย่างงงๆ)

แม้ปัญหาหน้าฉากของ “การบอยคอต” ไม่เข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีของรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะอยู่ที่กรณีต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคมมีความเห็นไม่ตรงกัน

แม้ภูมิใจไทยจะแถลงในเวลาต่อมา ว่าพรรคไม่ได้มีความขัดแย้งกับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล

ทว่า ในมุมมองของหลายคนแล้ว นี่คืออาการ “ผิดปกติ” บางอย่าง ที่อาจเป็นจุดเริ่มต้น-ตั้งเค้าของปฏิกิริยา “ตีลังกา-กระโดดถีบโชว์” ก่อนถอนตัวออกจากรัฐบาล ตามภาษาของ “บก.ลายจุด” นั่นเอง