โอกาสของ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ที่ ‘หลักสี่-จตุจักร’ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

โอกาสของ ‘ความเปลี่ยนแปลง’

ที่ ‘หลักสี่-จตุจักร’

 

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้นมีพลวัต-ความเปลี่ยนแปลงเสมอมา

แต่ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มี “รูปแบบ” ชัดเจนจับต้องได้อยู่มากพอสมควร หากพิจารณาจากผลเลือกตั้งตลอด 4 ทศวรรษหลัง

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2522 พรรคการเมืองที่ครองเก้าอี้ ส.ส.ส่วนใหญ่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ คือ พรรคประชากรไทย

มาถึงการเลือกตั้งปี 2526 พรรคประชากรไทยยังคงครองความนิยมใน กทม.ได้อีกหน ทว่าพรรคประชาธิปัตย์และกิจสังคมสามารถแชร์ส่วนแบ่งได้มากขึ้น

มาถึงปี 2529 ผลการลงคะแนนของโหวตเตอร์เมืองกรุงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ดูได้จากจำนวน ส.ส.ที่เท่ากันของพรรคประชากรไทยและประชาธิปัตย์ (ขณะที่พรรคกิจสังคม-ชาติไทย-มวลชน แทรกตัวมาได้รวม 4 เก้าอี้)

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2531 “จุดเปลี่ยน” ของสนาม กทม.ก็อุบัติขึ้น เพราะนอกจากพรรคประชากรไทยจะมี ส.ส.ในพื้นที่นี้ 20 คน ส่วนประชาธิปัตย์เหลือ ส.ส.แค่ 5 คนแล้ว ยังมีพรรคการเมืองหน้าใหม่อย่างพลังธรรมที่ได้ ส.ส.กรุงเทพฯ ไป 10 คน

ณ จุดนี้ ยุทธภูมิในสนามเลือกตั้งกรุงเทพฯ จึงค่อยๆ ผันแปร จากการถูกครอบครองอย่างเด็ดขาดโดยพรรคการเมืองใดพรรคการหนึ่ง ไปสู่การต่อสู้ระหว่างสองพรรคการเมือง และการแตกตัวออกเป็น “สามก๊ก” ในที่สุด

 

มาถึงการเลือกตั้งปี 2535/1 พรรคการเมืองหน้าใหม่เมื่อสี่ปีก่อนอย่างพลังธรรมก็ยึดครองสนาม กทม.ได้เกือบสมบูรณ์ โดยเหลือ ส.ส.ให้พรรคการเมืองหน้าเดิม คือ ประชากรไทยและประชาธิปัตย์เพียงแค่ 3 เก้าอี้

ในการเลือกตั้ง 2535/2 พื้นที่กรุงเทพฯ ยังเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างสามพรรคการเมืองเช่นเคย แต่พรรคพลังธรรมได้ที่นั่งลดลง โดยมีประชาธิปัตย์และประชากรไทยได้จำนวน ส.ส. ตามมาเป็นอันดับที่สองและสามตามลำดับ

เข้าสู่การเลือกตั้งปี 2538 การเมืองสนามใหญ่ใน กทม. ยังมีสภาพเป็น “สามขั้ว” โดยที่พลังธรรมยังครองที่นั่งมากที่สุด แต่ประชากรไทยพลิกกลับมาเป็นลำดับสอง เบียดประชาธิปัตย์ตกไปเป็นอันดับสาม

จนกระทั่งถึงการเลือกตั้ง 2539 พรรคประชาธิปัตย์จึงกลับมาคว้าแชมป์ในสนามกรุงเทพฯ ได้อีกครั้ง โดยมีประชากรไทยตามมาเป็นอันดับสอง และเหลือที่นั่งนิดๆ หน่อยๆ ให้พรรคความหวังใหม่ พลังธรรม ชาติพัฒนา และมวลชน

แล้วภูมิทัศน์ทางการเมืองแบบใหม่ก็มาบังเกิดขึ้นในปี 2544 เมื่อสนามเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของกรุงเทพมหานคร กลายเป็นพื้นที่ดวลกันระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ คือ ไทยรักไทยกับประชาธิปัตย์ โดยไทยรักไทยเป็นฝ่ายได้เก้าอี้ ส.ส.มากกว่า

ภูมิทัศน์เช่นนั้นจะปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น และชัยชนะจะตกไปอยู่กับฝ่ายไทยรักไทยมากขึ้น ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2548

มาถึงการเลือกตั้งปี 2550 ที่เกิดหลังการรัฐประหาร 2549 และกระแส “แอนตี้ทักษิณ” ได้ฝังรากลึกลงในจิตใจของหมู่ชนชั้นนำ-คนชั้นกลางชาวเมืองไปแล้วเรียบร้อย

แม้สนาม กทม.ยังเป็นการดวลกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพลังประชาชน (ไทยรักไทยเดิม) แต่ลูกตุ้มคะแนนนิยมกลับเหวี่ยงไปทางขั้วประชาธิปัตย์

สภาพการณ์เดียวกันยังเกิดขึ้นในปี 2554 เพียงแต่พรรคพลังประชาชนจะกลายร่างมาเป็นพรรคเพื่อไทย (ตราบถึงปัจจุบัน)

 

การเมืองแบบ “ลูกตุ้ม” ที่เหวี่ยงไปมาระหว่างสองคู่ขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติในสนามเลือกตั้งใหญ่ กทม. ได้กลายสภาพกลับมามีลักษณะ “สามก๊ก” อีกหนในปี 2562

ซึ่งมีประจักษ์หลักฐานเป็นจำนวน ส.ส. 12 ที่นั่งของพรรคพลังประชารัฐ ส่วนเพื่อไทยกับพรรคการเมืองเกิดใหม่อย่างอนาคตใหม่ ได้ ส.ส.ไปพรรคละ 9 ที่นั่ง

โดยยังไม่ต้องตีโจทย์การเมืองไทยหลังปี 2562 (ที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ) สนามกรุงเทพฯ (ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งทั่วไป เลือกตั้งซ่อม หรือเลือกตั้งท้องถิ่น) จึงเป็นสนามแห่งการแย่งชิงความนิยมของประชาชน ที่มี “ความเป็นไปได้” อันหลากหลาย และเปิดกว้างให้แก่ “ตัวเลือกใหม่ๆ” พอสมควร

ยิ่งเมื่อผนวกรวมเข้ากับโจทย์การเมืองไทยระหว่างปี 2562-2565

ไม่ว่าจะเป็นการเสื่อมความนิยมลงของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และพรรคพลังประชารัฐ ในหมู่ผู้คนเมืองหลวง (ทั้งเพราะปัจจัยเรื่องบารมีทางการเมืองและความสามารถในการบริหารจัดการประเทศ)

ปรากฏการณ์ที่ “ฝ่ายประชาธิปไตย” มิได้มีเพียงกลุ่มก้อนเดียว และไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งอีกต่อไป

เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ที่กลุ่ม “ฝ่ายขวา/อนุรักษนิยม” เริ่มแตกตัวออกเป็นหลายพรรคการเมืองใหม่

พื้นที่กรุงเทพมหานครจึงยิ่งเป็นสนามแห่งการประชันขันแข่งที่มีความท้าทายในทางการเมือง และมีโอกาสเกิดความเปลี่ยนแปลงผันแปรได้สูง

การต่อสู้ในสนามเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร คือตัวอย่างเด่นชัดล่าสุดของความคิดรวบยอดข้างต้น