ฐากูร บุนปาน | รัฐบาลที่ไม่ได้มีที่มาจากชาวบ้าน มักจะไม่ค่อยได้ยินเสียงประชาชน

การชุมนุม 19 กันยายน ผ่านพ้นไปชนิด “หักปากกาเซียน” ไปหลายด้าม

โดยเฉพาะ “เซียนมโน” ทั้งหลายที่คาดการณ์เอาไว้เสียน่ากลัวก่อนหน้าการชุมนุม ว่าจะต้องเกิด “ความรุนแรง” ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตามมา

ปรากฏว่าเจอ “มุขเด็ก-มุขเด็ด” เข้าให้

นอกจากจะเกิดปรากฏการณ์ “บัง-เก้อ” แล้ว ยังมีการบ้านเป็นหมุดตอกฝากเอาไว้ให้สังคมเอาไปขบคิดกันอีกหลายข้อ

และยังฝากไปถึงผู้ใหญ่ไก่เขี่ยอีกหลายคนด้วยว่า

อย่าดูถูกสมองและขนาดของหัวใจเด็ก

การชุมนุมหนต่อไปในอนาคตจะเป็นอย่างไร

14 ตุลาคม จะออกดอกผลแบบไหน

ต้องรอดูกันต่อไป

วันนี้มาเอาเรื่องที่เห็นชัดๆ ก่อน

สองสามวันที่แล้ว สภาพัฒน์เขาจัดประชุมใหญ่ประจำปี และจะต้องมีการรายงานภาวะเศรษฐกิจสังคมตามหน้าที่

ข้อมูลที่ออกมาแยกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

– เศรษฐกิจปีนี้จะติดลบร้อยละ 7.3-8

– ความสามารถในการแข่งขันของประเทศยังอยู่ที่อันดับที่ 29 จากที่วัดกัน 63 ประเทศ และอยู่อันดับ 3 ของอาเซียนต่อจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

– การชะลอตัวของเศรษฐกิจเพราะโควิด-19 ทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มจากร้อยละ 1 หรือประมาณ 400,000 คน เป็นร้อยละ 2 หรือประมาณ 750,000 คน

– จำนวนคนยากจนในปี 2560-2563 มีจำนวนเพิ่มขึ้น

– คนกลุ่มบนทางเศรษฐกิจของสังคมมีรายได้เฉลี่ยมากกว่าคนกลุ่มล่าง 20 เท่า แสดงถึงการกระจุกตัวทางรายได้

– ความเหลื่อมล้ำมิได้เกิดขึ้นเฉพาะมิติเศรษฐกิจ แต่ยังปรากฏในส่วนอื่นๆ เช่น ด้านการศึกษา บุตรหลานของผู้มีรายได้สูงสามารถเรียนต่อขั้นปริญญาตรีได้ร้อยละ 65.6 ขณะที่คนจนเข้ารับการศึกษาชั้นปริญญาตรีได้เพียงร้อยละ 3.8

– ผู้อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครเข้าถึงระบบการศึกษาได้สูงกว่าผู้อยู่อาศัยในเขตชนบทหรือนอกเขตกรุงเทพฯ 17.3 เท่า

และ

– ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบยังเป็นเรื่องต้องเร่งแก้ไข โดยดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นของไทยในปี 2562 อยู่ที่อันดับ 101 จาก 180 ประเทศ

อื่นๆ ขออนุญาตยกเอาไว้ก่อน

เน้นกันเนื้อๆ ที่เรื่องของความเหลื่อมล้ำเป็นหลัก

เมื่อเอาข้อมูลสภาพัฒน์ไปรวมกันข้อมูลที่มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นเก็บรวบรวมเอาไว้ว่า

5 ปีหลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด 5 ตระกูลอภิมหาเศรษฐีของประเทศไทยมีทรัพย์สินรวมกันเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว

ในขณะที่ช่วงเดียวกันนั้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำเตี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ที่ประมาณร้อยละ 3

ไม่แต่เท่านั้น ค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่ได้ปรับขึ้น

ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉลี่ยก็ตกต่ำลง

มันก็สะท้อนออกมาอย่างที่สภาพัฒน์เขาระบุนั่นแหละ ว่าความเหลื่อมล้ำมันถ่างกว้างออกไปทุกที

และอย่างที่เขาสะท้อนไว้อีกว่า มันไม่ได้เหลื่อมล้ำเฉพาะเรื่องเงินเรื่องทองอย่างเดียว

แต่ยังลามไปถึงเรื่องการศึกษา

ที่หมายถึงความเหลื่อมล้ำทาง “โอกาส” ในการยกระดับคุณภาพชีวิตอีกด้วย

พวกที่กินอิ่ม นอนอุ่น สิ้นเดือนมีเงินเข้าบัญชี หรือมีประโยชน์โภชน์ผลทั้งในและนอกระบบ อาจจะไม่รู้สึกไม่กระทบอะไร

แต่โครงสร้างประเภท “คฤหาสน์กลางสลัม” นี่มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในทุกที่ว่า เป็นโครงสร้างที่ตั้งอยู่ไม่ได้

รอแค่เวลาและ “ชนวนระเบิด” ที่จะมาจุดให้ติดเท่านั้นเอง

ฝ่ายซ้ายเก่าเขามีศัพท์ว่า การลุกฮือของมวลชนนั้นจะเกิดขึ้นด้วยเงื่อนไขสองประการ

คือความคับแค้นทางจิตใจ และความยากไร้ทางวัตถุ

คนจนที่เพิ่มขึ้นในสังคมคือประเด็นหลัง

ความเหลื่อมล้ำในทุกมิติที่ถ่างกว้างออกไปทุกทีคือตัวขับดันประเด็นแรก

6-7 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า รัฐบาลที่ไม่ได้มีที่มาจากชาวบ้าน มักจะไม่ค่อยได้ยินเสียงชาวบ้าน

อ้าว-ถ้าได้ยินจริง จะปล่อยให้การเมืองไหลลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งผู้มีอำนาจต้องกลายเป็นโจทก์กับเด็กมัธยมได้อย่างไร

ถ้าได้ยินจริง จะปล่อยให้เจ้าสัวรวยเอารวยเอา และคนจนเพิ่มขึ้น

และความเหลื่อมล้ำยิ่งนานยิ่งถ่างกว้างอย่างนี้ได้อย่างไร