ฐากูร บุนปาน | สังคมไทยกำลังมาถึงหัวเลี้ยวครั้งใหม่

อย่าว่าแต่ผู้ที่คัดค้าน ไม่เห็นด้วย หรือเป็นกังวลต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน-นักศึกษาที่ออกมาประท้วงรัฐบาลเลย

ที่จะ “งงงวย” ต่อสัญลักษณ์หรือรหัสนัยของการเคลื่อนไหวคัดค้านการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร

ซึ่งพัฒนาการมาตั้งแต่ม็อบชูสามนิ้ว กินแซนด์วิช กินแฮมเบอร์เกอร์ ในช่วงต้นของการยึดอำนาจ

ก่อนจะพัฒนามาเป็นเยาวชนปลดแอก ม็อบไม่ทน ม็อบตุ้งติ้ง

จนกระทั่งล่าสุดคือม็อบแฮมทาโร่

แม้แต่ผู้เอาใจช่วย หรือผู้ให้กำลังใจทั้งที่อยู่ชิดและอยู่ห่าง

ก็ยังต้องทำความเข้าใจต่อ “สัญญะ” ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้

ด้านหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ “ช่วงวัย” ของผู้ออกมาเคลื่อนไหวนั้นแตกต่างไปจากเดิม

ข้อน่าสังเกตคือ “อายุ” ของผู้ออกมาเคลื่อนไหวนั้น ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ

จนกระทั่งมาอยู่ในระดับมัธยม

พร้อมกับข้อน่าสังเกตอีกประการว่าผู้ออกมาเคลื่อนไหวมีแนวโน้มเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

จะเห็นด้วย จะคัดค้าน จะท้วงติงด้วยความเป็นกังวล หรือจะมีปฏิกิริยาใดต่อความเคลื่อนไหวเช่นนี้

ก็ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องเป็นเบื้องต้น

ต้องเสาะแสวงหาข้อมูล ต้องตีความ ต้องรู้ไปถึงเบื้องหลังรหัสนัยที่ผู้ออกมาเคลื่อนไหวใช้กัน

ก่อนจะโอบบ่าหรือชี้นิ้วใส่หน้าใส่กัน

แต่ไม่ว่าเบื้องหลังนั้นจะเป็นอย่างไรก็ดี

เบื้องหน้าที่เห็นได้อย่างชัดเจน และเป็น “ข้อเรียกร้องร่วม” ของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่ออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะดาวกระจายไปทั่วประเทศ

ก็คือ

1. ให้ยุบสภา

2. หยุดคุกคามประชาชน

และ

3. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

คําถามคือ “โจทก์โดยตรง” ของข้อเรียกร้องเหล่านี้ อันได้แก่ รัฐบาล และหน่วยงานด้านความมั่นคง จะมีท่าทีตอบสนองอย่างไร

จะมีท่าทีแข็งขัน และใช้กลไกทั้งหมดที่มีในการสกัดกั้นไม่ให้มีความเคลื่อนไหว

ไม่ว่าจะเป็นการบุกไปถึงบ้านของผู้ที่คิดว่าเป็นแกนนำเคลื่อนไหว

หรือการติดตามตัวด้วยเจ้าหน้าที่ทั้งนอกและในเครื่องแบบ ให้ผู้เคลื่อนไหวเกิดความหวาดกลัว

หรือถ่วงลากไปด้วยความหวังว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้จะสร่างซาลงไปเอง

คำถามก็คือ ถ้าใช้วิธีการเหล่านี้แล้ว ความเคลื่อนไหวยังไม่ยุติ

รัฐพร้อมที่จะยกระดับการ “ใช้กำลัง” ขึ้นไปอีกหรือไม่

จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะ “ล้อมปราบ” ซ้ำรอยกับ 6 ตุลาคม 2519 หรือพฤษภาคม 2535 หรือไม่

ที่ยกพฤษภาคม 2553 ออกไป เพราะกรณีนั้นชัดเจนแต่ต้น ว่าฝ่ายผู้มีอำนาจขึงตึง

และพร้อมจะใช้กำลังทุกรูปแบบในการปราบปรามการเคลื่อนไหวมาแต่ต้น

เพราะหนนี้ “องค์ประกอบ” ของผู้เคลื่อนไหวนั้นผิดกัน

นักเรียน-นักศึกษาเหล่านี้ ไม่ได้ถูกตีค่าว่าเป็น “คนนอก” เหมือนกลุ่มเสื้อแดงในปี 2553

แต่ส่วนใหญ่คือลูกหลานของชนชั้นกลาง และมีจำนวนไม่น้อยที่พ่อแม่ผู้ปกครองออกไปร่วม “เป่านกหวีด” สนับสนุนให้เกิดการรัฐประหารในปี 2557

ผู้มีอำนาจพร้อมจะทลายฐานอำนาจตัวเองด้วยการใช้ความรุนแรงหรือไม่

ใครจะกล้าให้คำตอบ?

หรือจะเป็นไปในทางประนีประนอมหาทางออกร่วมกัน

ซึ่งหนึ่งหรือสองใน 3 ข้อเรียกร้องที่มีแนวโน้มเป็นไปได้มากที่สุด ก็คือ

การหยุดคุกคามประชาชนด้วยกลไกรัฐ (ถ้าไม่มีประเด็นอ่อนไหว หรือการทำผิดกฎหมายที่ชัดเจนโจ่งแจ้ง ไม่ใช่การเอาผิดด้วยข้อหาหยุมหยิมเพื่อให้ผู้เคลื่อนไหวเหนื่อยท้อไปเอง)

และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ประเด็นหลังนี้เป็น “กุญแจดอกสำคัญ” ที่จะไขประตูตีบตันทางการเมืองให้มีทางออกขึ้นมาได้

เมื่อคนอายุ 15-30 ลุกขึ้นมาทวงถามสิทธิ และใช้เสรีภาพของตัวเอง

ในการบอกว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคนอายุ 80 เพื่อสืบทอดอำนาจให้คนอายุ 70 อยู่ต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้ที่สิ้นสุด

ใครจะกล้าบอกว่านี่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่ไม่มีเหตุผล

ฟังเถอะครับ ดูให้ดีเถอะครับ ทำความเข้าใจกันให้ซึ้งเถอะครับ

สังคมไทยกำลังมาถึงหัวเลี้ยวครั้งใหม่

ที่ไม่ว่าคนอายุ 80 หรือ 70 ไล่มาถึง 30 หรือ 15 ก็ไม่รู้ว่าจะมีหน้าตาอย่างไรต่อไป

แต่ต่างคนต่างมีความฝัน มีภาพวาดของตัวอยู่ในใจ

ถ้าไม่หันหน้ามาคุยกัน

อันนั้นพอจะนึกภาพออกว่าบรรลัย เอ๊ยอะไรจะเกิด