เรากำลังนั่งทับ “ระเบิดเวลาลูกใหญ่” กันอยู่ | ฐากูร บุนปาน

เรากำลังนั่งทับ “ระเบิดเวลาลูกใหญ่” กันอยู่นะครับ

ใครเป็นแฟนติดตาม ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานเอาจริงเอาจัง ต่อเนื่องที่สุดคนหนึ่งของยุคนี้

ก็คงได้ยินข้อสังเกตที่ท่านบอกว่า 150 วันหลังจากนี้-ประมาณต้นเดือนตุลาคม

ซึ่งครบกำหนดการพักชำระหนี้ 6 เดือนระหว่างสถาบันการเงินกับลูกค้า

จะเกิดปัญหาภูเขาหนี้สินล้นพ้นตัว

เพราะมาตรการที่ออกมานั้นเป็นแค่การ “พัก” ไม่ใช่การ “ยก”

เงินต้นและดอกเบี้ยไม่ได้ไปไหน ยังทับถมทวีคูณไปตามเวลา

ถ้าครบกำหนด 6 เดือนไปแล้วลูกค้าหาเงินจ่ายไม่ได้

ผลที่ตามมาอาจจะเป็นไปได้ทั้ง

– กิจการปิดตัว ล้มละลาย มีการปลดพนักงานอย่างมหาศาล

– แบงก์มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ต้องตั้งสำรองเพิ่ม ถ้าต้องตั้งสำรองมากๆ ก็ต้องเพิ่มทุน คำถามคือจะหาทุนที่ไหนมาเพิ่ม

– ถ้าแบงก์เพิ่มทุนไม่ได้ หรือมีความเสี่ยงมากขึ้น จนคนทั่วไปเริ่มไม่มั่นใจ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีคนแห่ไปถอนเงินฝากมากๆ แบงก์จะล้มไหม

– ถ้าไปถึงขั้นนั้น จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย

(ข้างล่างคนก็ตกงานกันระนาว ข้างบนสถาบันการเงินก็ง่อนแง่น)

จะเกิดอภิมหาโกลาหลแค่ไหน

ถามว่า ทางรอด ทางออก หรือวิธีการปลดชนวนระเบิดเวลาลูกนี้มีไหม

มีครับ

สำคัญว่ารัฐบาล-แบงก์ชาติกล้าไหม

และมีความสามารถพอไหม

อย่างแรก แก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน

ถามว่าแบงก์ชาติกล้าไหมที่จะต่ออายุมาตรการนี้ออกไป

หรือหลับตาข้างหนึ่ง ยอมให้แบงก์-สถาบันการเงิน ไม่บันทึกหนี้ค้างชำระเกินระยะเวลาเหล่านี้เป็น “หนี้เสีย”

เพื่อจะได้ไม่เกิดผลต่อเนื่องอื่นตามมา อย่างที่ยกตัวอย่างข้างต้น

เพื่อซื้อเวลาให้บริษัทห้างร้านฟื้นตัวได้จริงๆ

แล้วค่อยมาเจรจาหาทางออกกันใหม่

ประเด็นก็คือ ถ้ายอมหลิ่วตาหรือหย่อนผ่อนผันกฎเกณฑ์ให้

แบงก์ชาติเองจะสร้าง “ความมั่นใจ” ให้ทั้งกับคนในประเทศและต่างประเทศอย่างไร

ว่าสถาบันการเงินไทยนั้นยัง “มั่นคง”

ว่าการผ่อนผันนี้จะเป็นผลดีกับทุกคนในระยะยาว

ทำยังไงให้เขาเชื่อ-ซึ่งไม่ง่าย

แต่ถ้าไม่ทำ ก็เท่ากับปล่อยให้ระเบิดเวลา “ตูม” ขึ้นมา

แต่นั่นแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

จะปลดชนวนระเบิดลูกนี้ได้จริงๆ ก็ต้องทำให้บริษัทห้างร้านทั้งหลายมีความสามารถในการชำระหนี้

จะให้ธุรกิจแข็งแรง เศรษฐกิจโดยรวมต้องแข็งแรง

คนส่วนใหญ่ต้องมี “รายได้” เพื่อจะได้เกิด “กำลังซื้อ”

มีกำลังซื้อถึงจะมีการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ

ถึงจะมีการค้าขาย

ถึงจะทำให้บริษัทห้างร้านไม่ว่าน้อยใหญ่ทั้งหลายอยู่รอด

รัฐหรือรัฐบาลต้องทำสองอย่าง

หนึ่ง คือทำให้คนส่วนใหญ่ “มีรายได้”

ทำไงให้เกษตรมีรายได้

ทำไงให้คนประกอบอาชีพอิสระ-รับจ้าง ที่เป็นชนชั้นล่างทางเศรษฐกิจมีรายได้

(พนักงานของบริษัทห้างร้านใหญ่ ธุรกิจใหญ่ ยังไม่ต้องห่วง ถ้าข้างล่างฟื้น ข้างบนจะฟื้นเร็วกว่า เพราะยังมีทุนประทังชีวิตสำรองไว้มากกว่า)

รัฐบาลจะ “เปิดประตู” ให้การส่งออก-การท่องเที่ยว ที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญกลับคืนมาให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด-อย่างไร

โดยขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความมั่นใจ “ระดับหนึ่ง” ว่า ถึงการระบาดของโรคจะกลับมา ก็ “เอาอยู่”

เพราะมีประสบการณ์แล้ว บุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ ไม่ขาดแคลนเหมือนที่ผ่านมาแล้ว

ถ้าหาจุด “สมดุล” ตรงนี้ได้

เศรษฐกิจก็พอไปได้ คนก็ไม่อดตาย

ระเบิดเวลาก็อาจจะไม่ระเบิด

หรือเผลอๆ จะไปโลดด้วยซ้ำ

เพราะมีจุดแข็งจุดขาย (เรื่องความปลอดภัย เรื่องอนามัยเป็นทุน)

บวกกับรีบกระเด้งตัวมายืนก่อนคนอื่น (ถึงจะไม่เร็วที่สุด ก็ต้องพยายามเป็นกลุ่มแรกๆ ให้ได้)

อย่างนั้น ถึงอาจจะระเบิด

ก็ยังอยู่ในระดับที่พอรับมือกับความเสียหายได้

แต่ทั้งหมดนี้ต้อง “ฉับไว” และ “ชัดเจน” นะครับ

เพราะเรามีเวลาประมาณ 150 วัน (หรือไม่ถึงแล้ว) เป็นเส้นตาย

มาตรการต้องเร็ว

ต้องสามารถทำความเข้าใจคนได้ทุกฝ่าย

ได้รับการตอบรับจากคนส่วนใหญ่

ทำเป็นไหม ทำได้ไหม

หรือตอนนี้ยังนึกอะไรไม่ออก คิดอะไรไม่ได้

เลยยินดีจะนั่งทับระเบิดที่ซุกเอาไว้ใต้พรมไปเรื่อย

ก็ต้องบอกให้ชัดอีกเหมือนกันนะครับ

เพราะนี่มันชีวิตและอนาคตของเราทุกคน


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่