ฐากูร บุนปาน | ในวิกฤต ไม่มีที่ยืนสำหรับพวกเก้ๆ กังๆ

เป็นสองเรื่องที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน

แต่เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน

เหรียญที่ชื่อว่า “ทัศนคติ”

เรื่องแรก คือกรณีที่ ส.ส.คนหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กว่า “ประชาชนโง่ เราจะตายกันหมด”

อันเนื่องมาจากความไม่พอใจที่ประโยค “ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด” แพร่หลายอยู่ในโลกเสมือน ระหว่างที่ไวรัสโควิด-19 กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง

ท่าทีนี้สะท้อนอะไร?

สะท้อนว่าคุณได้ผลักภาระทั้งหมด จากระบบจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ ไปจนกระทั่งถึงระบบการสื่อสารที่สับสน

มาให้ประชาชนเป็นผู้แบกรับไว้

ที่ผ่านมา ไม่มีใครเถียงเรื่องคุณภาพในการจัดการของระบบและบุคลากรด้านสาธารณสุข

แต่ที่เขาตั้งคำถามและข้อสงสัย คือความสามารถในการบริหารจัดการภาพรวมของรัฐบาล

ไม่เชื่อก็กลับไปอ่านที่ ผอ.สนามบินสุวรรณภูมิ และคนทำงานที่นั่นเขียนไว้อีกที

ว่าระบบประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันล้มเหลวขนาดไหน

หรือการหายไปของหน้ากากอนามัยจากสถานที่ที่ควรอยู่

แล้วไปปรากฏว่าอยู่ในมือของคนที่ไม่ควรอยู่ (และคนสงสัยว่ามีแบ๊กดี) ขายทำกำไรอย่างโจ่งแจ้ง

พอถูกแฉถูกจับได้

เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าคนถูกจับดูหน้าตาซื่อๆ

แล้วคดีก็ค่อยๆ แผ่วหายไป

หรืออยู่ๆ อธิบดีกรมหนึ่งก็จะลุกขึ้นมาฟ้องโฆษกอีกกรมหนึ่ง ซึ่งออกมาแถลงว่าตัวเลขส่งออกหน้ากากเป็นเท่าไหร่

(ล่าสุดคนประกาศฟ้องก็เพิ่งถูกปลดกลางอากาศไปแล้ว แต่ไม่รู้ปัญหาหน้ากากขาดแคลนจะได้รับการแก้ไขหรือไม่-อย่างไร)

ยังไม่นับความไม่เป็นกระบวนในการทำงานที่ออกมาเป็นระยะ

เช่น วันหนึ่งจะแจกเงิน พอถูกด่าไม่ทันข้ามวัน

ก็เปลี่ยนใจบอกไม่เอาแล้ว

หรือระหว่างที่โควิด-19 กำลังระบาด อยู่ๆ ก็มีข้อเสนอชนิดผิดกาลเทศะ จะให้เปิดฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน-อินเดีย

พอถูกด่าก็ชักกลับ

ฯลฯ

การจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ

นโยบายชักเข้าชักออก หาความแน่นอนไม่ได้

การสื่อความที่สับสน

ไม่รู้ว่าอะไรคือแก่นอะไรคือกระพี้ที่หาสาระไม่ได้

เป็นความโง่ของใครกันแน่

เข้ามาเป็นตัวแทนประชาชน โดยไม่ต้องเห็นหัวเห็นความสำคัญของประชาชน

ทัศนคติที่มีต่อประชาชนก็ออกมาแบบนี้

ถามว่านี่คือทัศนคติส่วนตัวหรือทัศนคติรวมหมู่

รอดูว่าพรรคและรัฐบาลจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับเรื่องนี้

แต่ไม่ใช่แค่พูดว่านี่เรื่องส่วนตัว แล้วก็ตัดหางปล่อยวัดไปง่ายๆ

ที่สะท้อนทัศนคติในการทำงานอีกเรื่องก็คือ

กรณีธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ก็ประกาศลดดอกเบี้ยมาตรฐานลงมาแบบฉุกเฉินเป็นการชั่วคราว

จากร้อยละ 1-1.25 เหลือร้อยละ 0

เท่านั้นยังไม่พอ ยังประกาศด้วยว่าจะอัดฉีดเงินใส่ตลาดอย่างน้อย 700,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

เพื่อพยุงซื้อพันธบัตร-หุ้นกู้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

เมื่อรวมกับเงินที่ปั๊มออกมาแล้วจำนวน 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

นี่คือ “มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน-quantitative easing (หรือ QE)” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 เป็นต้นมา

เป็นปฏิกิริยาที่ตอบสนองต่อความเป็นจริง และท่าทีของตลาดที่เริ่มหวั่นเกรงว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยระดับโลกกำลังรออยู่ข้างหน้า หลังวิกฤตโควิด-19 เริ่มจาง

โดยตัวกระตุ้นก็คือ ปริมาณหนี้สินภาคเอกชนที่จะกลายเป็น “หนี้เสีย” จำนวนมหาศาลกว่าครั้งไหนๆ

เพราะจากปี 2008 ถึงปัจจุบัน เอกชนทั่วโลกอาศัยช่วงที่โลกนี้อยู่ในภาวะ “ดอกเบี้ยต่ำ” ยาวนาน ออกพันธบัตร-หุ้นกู้มาระดมเงินจากตลาดอย่างมโหฬาร

จาก 48 ล้านล้านเหรียญเมื่อปีนั้น เป็น 75 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้

ในจำนวนนี้ที่มีแนวโน้มจะกลายเป็น junk bond หรือพันธบัตรขยะ-ไม่สามารถใช้หนี้หรือจ่ายดอกเบี้ยได้ตามกำหนดได้มีอยู่ประมาณ 19 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

เทียบกับขนาดจีดีพีของไทยทั้งประเทศที่อยู่ประมาณ 0.5 ล้านล้านเหรียญ

ความเสียหายที่ใหญ่กว่าขนาดประเทศไทย 38 เท่า

โดยในจำนวนนี้กลุ่มที่อยู่ในข่ายจะเป็นหนี้เสียได้มากที่สุดคือ

กลุ่มพลังงาน

ธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะสายการบิน

และกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์

พวก “เล่นเป็น” เขาเล่นกันอย่างนี้ละครับ

หรือทั้งเล่นใหญ่และเล่นเร็ว

ไม่มีครึ่งๆ กลางๆ กล้าๆ กลัวๆ

ในวิกฤต ไม่มีที่ยืนสำหรับพวกเก้ๆ กังๆ

ทัศนคติแบบนี้มีอยู่ไหมในคนบริหารนโยบายบ้านเรา

หรือมีแต่แบบแรก?