ฐากูร บุนปาน : ผ่าความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ ทั้งการเมือง-เศรษฐกิจ และโอกาส

อันเนื่องมาแต่กรณี “ดราม่า” ในโลกโซเชียลเมื่อไม่นานนี้

ว่าด้วยความไม่เท่าเทียมกันอย่างเห็นได้ชัด ในกรณีจัดงบประมาณทางการศึกษาให้กับสถาบันอุดมศึกษาแบบแตกต่างกันราวฟ้ากันเหว

ก็เลยพาลให้พลอยนึกไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกัน

แล้วก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองเอาดื้อๆ ว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของสังคมไทยในปัจจุบัน (หรือในช่วงหลายปีที่ผ่านมา)

ก็คือความเหลื่อมล้ำ

เหลื่อมอะไร ล้ำอะไร

1.เหลื่อมล้ำทางการเมือง

สิทธิและเสรีภาพของคนส่วนใหญ่ ถูกคนส่วนน้อยริบเอาไปอย่างหน้าตาเฉย

แล้วก็ร่างกติกาใหม่ที่หมายจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ (ที่ถ่างกว้างขึ้นไปทุกที) ดำรงอยู่ต่อไปอีกนานแสนนาน

ถามว่าจะเป็นจริงได้อย่างใจละหรือ

ลำพัง “อำนาจ” จะกดหัวคนให้ก้มต่ำอยู่ไปได้นานแค่ไหน

การกดให้คนส่วนใหญ่ต้องสยบยอมหรือทำตามในระยะสั้น

จะส่งผลต่อเนื่องอะไรตามมาในระยะยาว

ถ้าวันหนึ่งอุณหภูมิของการเผชิญหน้าที่สั่งสมมาเรื่อยๆ ถึงจุดเดือด

ฝ่ายผู้มีอำนาจพร้อมไหมที่จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในการรักษาอำนาจแบบ “สุดทาง”

ถ้าไม่กล้าใช้จะเกิดอะไรขึ้น

ถ้าใช้ อะไรจะเกิดขึ้น

2.เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

เอาสั้นๆ เฉพาะช่วง 4 ปีที่ผ่านมา-นี่จากตัวเลขของรัฐบาลเองด้วยนะครับ ไม่ได้ปั้นแต่งขึ้นมาเอง

ตั้งแต่ 2557-2560 จีดีพีไทยขยายตัวขึ้นมาคิดเป็นมูลค่ารวมแล้วประมาณ 2 ล้านล้านบาท

ในช่วงเดียวกัน มูลค่าของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มสูงขึ้น 4 ล้านล้านบาท

แปลว่าอะไร

ก็แปลว่าบริษัทใหญ่หรือคนมีสตางค์ในประเทศนี้ มีส่วนแบ่งในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

ขณะที่คนจน-คนชั้นกลางมีส่วนแบ่งน้อยลง

ก็แปลว่าเหลื่อมล้ำมากขึ้นนั่นแหละ

(ท่านใดที่สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี่ไปลองค้นบทความในเฟซบุ๊กของคุณบรรยง พงษ์พานิช ดู ท่านเขียนอธิบาย-ระบายเอาไว้หลายครั้งหลายตอนชนิดชัดเจน)

สังคมที่ฐานะของคนชั้นบนกับชั้นกลาง-ชั้นล่างถ่างกว้างออกไปทุกที จะมีหน้าตายังไง

คฤหาสน์กลางสลัมอยู่เป็นสุขสบายได้จริงหรือ

3.เหลื่อมล้ำทางโอกาส

ตัวอย่างที่ชัดเจนและกำลังเป็นดราม่าล่าสุดก็คือ

กรณีการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนการศึกษาของระดับอุดมศึกษา

ที่จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์-เกษตร และมหาวิทยาลัยชั้นนำอีก 3-4 แห่ง ได้รับเงินอุดหนุนรวมกันแล้วมากกว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศทั้ง 38 แห่งรวมกัน

(เช่นกัน ท่านใดที่สนใจเรื่องโครงสร้างการจัดงบประมาณที่ไม่เป็นธรรมนี้ ลองตามไปอ่านเฟซบุ๊กของอาจารย์อาทิตย์ ศรีจันทร์ หรือของอาจารย์โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ ท่านดู ท่านแรกมีรายละเอียดแจกแจงแบบเห็นภาพ ท่านหลังสรุปง่ายๆ ด้วยตรรกะสมกับเป็นอาจารย์ปรัชญา ว่าต้องจัดงบฯ ต่อหัวให้นักศึกษาในแต่ละสถาบันเท่ากัน)

ความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอะไร

คำตอบตามความเห็นส่วนตัวก็คือ

เพราะทัศนคติที่เห็นคนไม่เป็นคนเท่ากัน

ทัศนคติที่คนชั้นสูงเหยียดคนชั้นล่าง

คนในเมืองเหยียดคนชนบท

คน (ที่นึกว่าเป็น) ไทยก็เหยียดคนรอบบ้านอีกต่อ

เมื่อเห็นคนไม่เท่ากันแล้ว

– (พวก) เอ็งก็ไม่ควรมีอำนาจเท่ากับ (พวก) ข้า

– (พวก) เอ็งก็ไม่ควรมีสตางค์เท่ากับ (พวก) ข้า

– (พวก) เอ็งก็ไม่ได้รับโอกาสเท่ากับ (พวก) ข้า

อำนาจจึงถูกริบ

สตางค์จึงถูกฉก

โอกาสจะถึงถูกฉวย

ปัญหาความ”คับแค้นทางจิตใจ ยากไร้ทางวัตถุ “(ภาษาฝ่ายซ้ายตามสำนวนติดปากคุณเสถียร จันทิมาธร)

ก็มากขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกวัน

ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่อะไร

ไม่รู้-และไม่กล้าสรุป

รู้แต่โครงสร้างผุพังอย่างนี้ ตั้งอยู่ไม่ได้

ต้องปรับต้องแก้ต้องรื้อกันขนานใหญ่

และไม่ใช่ด้วยอำนาจหรือความปรารถนาดีของคนกลุ่มน้อย (ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ายิ่งสร้างปัญหาและความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น)

แต่ต้องด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องตรงกันของคนส่วนใหญ่

ประชาธิปไตยจึงสำคัญ

การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมจึงสำคัญ

ในฐานะประตูบานแรกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา

แต่ถ้าคิดว่ายังจะเอาความเหลื่อมล้ำทั้งหมดนี้ซุกใต้พรมได้ต่อไป ก็เชิญตามอัธยาศัยครับ

พังเร็วพังช้า พังมากพังน้อย

เราท่านทุกคนมีส่วนทั้งสิ้น