ฐากูร บุนปาน : ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย

ในบางเวลาและบางเรื่อง เกินทั้งอารมณ์ความรู้สึกและด้วยสติปัญญาที่มีอยู่จะบรรยายออกมาแทนใจได้

ต้องอาศัยประสบการณ์-ความรู้ของท่านผู้ผ่านสถานการณ์โดยตรง-ท่านผู้รู้ทั้งหลาย

ส่วนแรกจากหนังสือ “สารคดีที่น่ารู้” ของ ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล (สำนักพิมพ์คลังวิทยา พ.ศ.2518) ตอน “วันสวรรคตของรัชกาลที่ 5” ก็คงนึกออก

ขอประทานอนุญาตนำข้อความบางส่วนมาเผยแพร่อีกครั้ง ดังนี้

“…ข้าพเจ้าก็ไปคอยเฝ้าพระบรมศพที่ถนนราชดำเนินแถวโรงเรียนนายร้อยทหารบก พวกราษฎรเอาเสื่อไปปูนั่งกันเป็นแถวตลอดสองข้างทาง

จะหาหน้าใครที่มีแม้แต่ยิ้มก็ไม่มีสักผู้เดียว ทุกคนแต่งดำน้ำตาไหลอย่างตกอกตกใจด้วยไม่เคยรู้รส

อากาศมืดคลุ้ม มีหมอกขาวลงจัดเกือบถึงหัวคนเดินทั่วไป ผู้ใหญ่เขาบอกว่านี่แหละคือหมอกธุมเกตุ ที่ในตำราเขากล่าวถึงว่ามักจะมีในเวลาที่มีเหตุใหญ่ๆ เกิดขึ้น

ไม่ช้าก็ได้ยินเสียงปี่ในกระบวน เสียงเย็นใสจับใจมาแต่ไกลๆ แล้วได้ยินเสียงกลองรับเป็นจังหวะใกล้เข้าๆ ในความมืดสงัด

ที่มืดเพราะต้องตัดสายไฟฟ้าบางตอนให้พระบรมโกศผ่านได้

และที่เงียบก็เพราะไม่มีใครพูดจากันว่ากระไร

ข้าพเจ้าเคยได้ยินเสียงปี่กลองมาแล้ว เคยได้เห็นแห่พระศพเจ้านายมาแล้วหลายองค์

แต่คราวนี้ตกใจสะดุ้งทั้งตัวเมื่อเห็นพระมหาเศวตฉัตรกั้นมาบนพระบรมโกศสีขาวกับสีทองเป็นสง่า ทำให้รู้ทันทีว่าพระบรมศพ

แล้วก็ร้องไห้ออกมาโดยไม่ทันรู้ตัว

เหลียวไปดูทางอื่นก็เห็นแต่แสงไฟจากเทียนที่จุดถวายสักการะอยู่ข้างถนนแววๆ ไปตลอด

ในแสงเทียนนั้นมีแต่หน้าเศร้าๆ หรือปิดหน้าอยู่

เราหมอบกราบลงกับพื้นปฐพี พอเงยหน้าก็เห็นทหารที่ยืนถือปืนเอาปลายลงดินก้มหน้าลงบนปืน

น้ำตาของเขากำลังหยดลงแปะๆ อยู่บนหลังมือของเขาเอง

ทหารผู้อยู่ในยูนิฟอร์มอันแสดงว่ากล้าหาญ ยังร้องไห้เพราะเสียดายประมุขอันเลิศของเขา

เสด็จพ่อ (หมายถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ-ผู้เขียน) ตรัสเล่าว่า ได้โทรเลขไปตามหัวเมืองให้ระวังเหตุการณ์ตอนเปลี่ยนแปลงแผ่นดิน

ได้ตอบมาในทุกทางว่าภายใน 7 วันแต่วันสวรรคตนั้น

ไม่มีเหตุการณ์โจรผู้ร้ายเกิดขึ้นเลยสักแห่งเดียวในพระราชอาณาจักร”

ที่กำลังรออยู่อีกหนึ่งเล่ม เพื่อหาความรู้ในเรื่องธรรมเนียมในราชสำนักและธรรมเนียมพระบรมศพเพิ่มเติม

ก็คือหนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับปรับปรุง) ของสำนักพิมพ์มติชน รวบรวมค้นคว้าโดย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี

อาจารย์นนทพรท่านบอกในคำนำว่า

“…การที่ธรรมเนียมราชสำนักเป็นเรื่องราวเฉพาะกลุ่ม ทำให้ราษฎรขาดความเข้าใจ และสิ่งที่ตามมาคือ ความเชื่ออย่างผิดๆ โดยเฉพาะธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านายย่อมเป็นสิ่งที่ราษฎรยากจะทราบถึงข้อเท็จจริงในแต่ละขั้นตอน

อย่างมากก็เพียงรับทราบเมื่อมีการก่อสร้างพระเมรุมาศหรือพระเมรุ

เช่น ราษฎรจำนวนไม่น้อยยังเชื่อถึงเรื่องการ “เสียบ” เมื่อมีการอัญเชิญพระบรมศพและพระศพลงสู่พระโกศแล้ว และเรื่องนี้ยังคงเล่าสืบเนื่องกันมาจนแม้กระทั่งผู้เขียนในวัยเยาว์ก็ยังเคยได้ยินเรื่องทำนองนี้อยู่เสมอ

ดังนั้น ข้อมูลที่ผู้เขียนได้ค้นคว้าและรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย คงจะพอทำให้ผู้อ่านทราบถึงขั้นตอนและรายละเอียด

ทั้งที่เป็นโบราณราชประเพณีที่มิได้ปฏิบัติแล้วและที่คงมีอยู่ในปัจจุบัน”

ขออนุญาตส่งท้ายด้วยโคลงจากลิลิตพระลอ ที่นิตยสารศิลปวัฒนธรรมจะนำมาขึ้นปกฉบับเดือนพฤศจิกายนนี้

เสียงไห้ทุกราษฎร์ไห้ ทุกเรือน

อกแผ่นดินดูเหมือน จักขว้ำ

บ่เห็นตะวันเดือน ดาวมืด มัวนา

แลแห่งใดเห็นน้ำ ย่อมน้ำตาคน

ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้