ฐากูร บุนปาน : อย่าเพิ่ง “ดราม่า” ด่ากราด

สองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าตัวเองคงมีพฤติกรรมเหมือนคนไทยส่วนใหญ่

หรือเอาเข้าจริงก็คือเหมือนกับคนจำนวนไม่น้อยในโลก

(เขาประมาณการกันว่า ไม่น่าจะต่ำกว่า 1,000 ล้านคน)

นั่นคือแบ่งความสนใจไปติดตามสองเหตุการณ์ใหญ่

หนึ่งคือฟุตบอลโลก

อีกหนึ่งคือปฏิบัติการช่วยชีวิต 13 นักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี

ไม่ได้เกินเลยไปนะครับที่บอกว่าทั้งโลกจับตามองอยู่

ฟุตบอลโลกนั่นยกให้เถิด

เป็นมหกรรมกีฬาที่มีคนติดตามชมมากที่สุดในโลกทุกสี่ปีอยู่แล้ว

แต่หนนี้ ปฏิบัติการช่วยชีวิตน้องหนูๆ ทีมหมูป่า ถูกแพร่ขยายกระจายข่าวไปทั่วโลก

ไม่ได้แพร่แบบธรรมดา แต่ว่ารายงานกันชนิดเกาะติดยาว

จะเป็นซีเอ็นเอ็น เอพี รอยเตอร์ เอเอฟพี อัลจาซีรา หรือว่าสำนักข่าวไหนๆ นี่เหมือนกันหมด

แต่ที่ดูเหมือนจะมากที่สุด ครอบคลุมเกือบทุกแง่มุมที่สุดคือบีบีซี

(อาจจะเพราะเขามีนักดำน้ำในถ้ำระดับโลก ที่เป็นหัวหอกและเป็นทีมแรกที่เข้าไปพบเด็กๆ และคลิปเหตุการณ์นั้นเป็นหนึ่งในคลิปที่ถูกกระจาย-รับชมมากที่สุดในโลกชิ้นหนึ่ง)

ฟุตบอลโลกนั่นก็ช่างเถิด ในฐานะผู้ชมก็ชมไปอย่างเดียว

วิพากษ์วิจารณ์เอาพอมันปาก

แต่กรณีหลังนั้นนั่งดูไปเรื่อยๆ แล้วก็เกิดข้อสังเกตบางประการ

ในฐานะอดีตนักข่าวคนหนึ่ง

ประการแรก คือประเด็นที่แตะๆ ไว้ตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ว่าด้วยตัวเหตุการณ์เองก็ดี ด้วยความสะดวกและแพร่หลายของวิทยาการด้านการสื่อสารก็ดี

เรื่องที่เกิด ณ จุดหนึ่งโลก ถ้ามีพลังหรือกระทบใจมากพอ จะแพร่ขยายเป็นไฟลามทุ่งไปได้รวดเร็วยิ่ง

ในกรณีนี้ สวนทางกับข่าวที่ออกไปก็คือความช่วยเหลือความร่วมมือที่หลั่งไหลเข้ามา

ทั้งจากเทศและไทยด้วยกัน

ไทยนั้นยกไว้ เอาประเด็นเทศอย่างเดียว

ในกรณีนี้การไหลออกและไหลเข้าอาจจะเป็นคุณ อาจจะเป็นเรื่องถูกใจ คนไทยอาจจะอิ่มใจดีใจ

แต่โลกนี้สังคมนี้ไม่ได้มีเหตุการณ์เด็กติดถ้ำอย่างเดียว

อย่าลืมว่าถ้าข่าวประเภทนี้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางได้

ข่าวอื่นก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน

ผิดกันที่ระดับความมากน้อย

และที่จะผิดกันมากก็คือปฏิกิริยาที่สะท้อนกลับมา

ถ้าเป็นเรื่องดี เราก็ดีใจ

แต่ถ้าเป็นเรื่องไม่ถูกใจ

ไม่มีอะไรทำได้มากกว่าทำใจ

ถ้ายังอยากเป็นสมาชิกของสังคมโลกอยู่

ข้ามมาประเด็นที่สอง คราวนี้ในฐานะผู้มีอาชีพทำข่าว

การหลั่งไหลเข้ามาของสื่อต่างประเทศจำนวนมาก และวิธีการทำงานแบบเกาะติด รายงานข่าวสารและสถานการณ์รอบด้าน

เชื่อว่าในด้านหนึ่งก็เป็นประโยชน์กับการทำงานของพี่น้องเพื่อนฝูงในอาชีพเดียวกัน ทั้งที่อยู่ในสนามข่าวและที่อยู่ส่วนกลาง

ได้จดจำ ได้เลียนแบบ เอามาพัฒนาการทำงานของเราเองให้ระดับขยับเข้าไปใกล้มาตรฐานสากลยิ่งขึ้น

แต่อีกด้านก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ และเป็นดาบสองคม

ให้คนดู คนฟัง คนอ่าน ได้เห็นได้เปรียบเทียบ และได้วิพากษ์วิจารณ์

ว่าการทำงานของเราๆ กันเอง ยังอ่อนด้อยตรงไหน ดราม่าเกินไปหน่อยข้อเท็จจริงน้อยไปนิดอย่างไร

ทั้งตัวอย่างที่เห็นและคำวิจารณ์จะนำมาใช้ปรับปรุงแก้ไขในลำดับต่อไป

ขอเพียงแค่ท่านผู้ชมผู้อ่านทั้งหลาย อย่าเพิ่ง “ดราม่า” ด่ากราดไปหมดก่อนเท่านั้น

ว่ากันเป็นเรื่องๆ เป็นคนคน เป็นสำนักๆ ไป

ผู้ปฏิบัติงานทั้งหลายจะได้ปรับตัวถูก

เวลาด่าเหมารวมนี่บางทีรับไม่ทันและไม่รู้จริงๆ ว่าใครไปทำอะไร ผิดพลาดตรงไหน

เว้นแต่ที่เป็นเรื่องใหญ่จนอื้อฉาว

นะครับ-นะครับ

ถ้าคิดว่ายังต้องอยู่ร่วมโลกร่วมสังคมกันต่อไป ตัดไม่ตายขายไม่ขาด

จะเฆี่ยนจะตีก็ด้วยความกรุณาปรานี เปิดโอกาสให้ปรับปรุงแก้ไข พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ

เหมือนช่วยเด็กออกจากถ้ำนี่ละครับ